สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โรงเรียนนายร้อย ในหลวงรัชกาลที่ 10

พระอัจฉริยภาพวิชาทหาร ชีวิตในต่างแดน ในหลวงรัชกาลที่ 10

Home / สาระความรู้ / พระอัจฉริยภาพวิชาทหาร ชีวิตในต่างแดน ในหลวงรัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทหาร และทรงศึกษาเล่าเรียนวิชาทหารทั้งในอังกฤษ และออสเตรเลียลำดับการทรงศึกษาวิชาทหาร ในพระราชประวัติการศึกษา วิชาการทหารของพระองค์ท่านนั้นมีบันทึกไว้ว่า

พระอัจฉริยภาพวิชาทหาร ชีวิตในต่างแดน ในหลวงรัชกาลที่ 10

… ในปี 2509 พระองค์เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ต แคว้นชัสเชกส์ แล้วต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทรงย้ายไปเข้าศึกษาในโรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นชอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ

ในเดือนกันยายน 2513 เสด็จจากประเทศอังกฤษ ไปทรงศึกษาในโรงเรียนคิงส์ ที่ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหารด้วย ต่อมาในเดือนมกราคม 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน กรุงแคนแบร์รา ประเทศออสเตรเลีย จนจบหลักสูตรการศึกษาซึ่งมีกำหนด 4 ปี ประกอบด้วย การฝึกหัดอบรมทางวิชาการทหาร และการศึกษาทางวิชาการระดับอุดมศึกษา ตามหลักสูตรมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์

ธันวาคม 2518 ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน แล้วได้เสด็จฯ กลับประเทศไทย เพื่อทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำการในกรมข่าวทหารบก

ทรงประทับอยู่ออสเตรเลีย 6 ปี

มกราคม 2519 ได้เสด็จฯ จากประเทศไทย ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเพิ่มเติมและทรงดูงานในประเทศออสเตรเลียอีก จนกระทั่งปลายปี จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย รวมเวลาที่ประทับอยู่ในออสเตรเลียถึง 6 ปีเศษ ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานยศทหาร และพระราชอิสริยยศเป็นลำดับ

พฤศจิกายน 2508 ได้รับพระราชทานยศร้อยตรีเหล่าทหารราบ เรือตรีพรรคนาวิน และเรืออากาศตรีเหล่านักบิน นอกจากนี้ยังทรงเป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ และนายทหารพิเศษประจำโรงเรียนนายเรืออากาศ

พฤษภาคม 2518 ทรงได้รับการฝึกภาคปฏิบัติตามหลักสูตรการโดดร่มภาคพื้นดิน ณ ค่ายนเรศวร และได้รับพระราชทานปีกนักโดดร่มชั้นที่ 1 กิตติมศักดิ์ และได้รับพระราชทานเลื่อนพระยศเป็นร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท

9 มกราคม 2519 ในพิธีสวนสนามของวิทยาลัยการทหารดันทรูน ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับกระบี่และปริญญาบัตร พร้อมกับผู้สำเร็จการศึกษาได้รับการถวายพระยศร้อยเอกเซอร์ จอห์น เคอร์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่ 2 ในฐานะประธานในพิธี ได้ถวายพระยศร้อยเอกแห่งกองทัพบกไทย แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย และต่อมาในขณะที่กำลังปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพิ่มเติมอยู่ในประเทศ ออสเตรเลีย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดำรงตำแหน่งนายทหารพิเศษประจำกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 1 ศูนย์สงครามพิเศษด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ. 2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ทรงรับการฝึกหลักสูตร หนักที่สุดในชีวิต

โดยในขั้นแรก ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารคิงสกูล ตำบลพารามัตตา นครซิดนีย์ก่อน ณ ที่นี้ทรงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าบ้านเมคอาเธอร์เฮาส์ ทรงปฏิบัติพระองค์ตามระเบียบข้อบังคับของโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนอย่างนักเรียนทั่วไป และทรงปฏิบัติพระองค์อย่างดีเด่น โดยเฉพาะในการฝึกหัด ทรงผ่านการทดสอบและการฝึกทหารอย่างหนัก ซึ่งกินเวลาถึง 5 สัปดาห์ ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยการทหารชั้นสูงขึ้น และในภาคแรกแห่งปีการศึกษา 2515 ก็ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาในวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน กรุงแคนแบร์รา หลักสูตรในการฝึกหัดที่ต้องทรงทดสอบในชั้นต้นของวิทยาลัยการทหาร ซึ่งเรียกว่าโรงเรียนนายร้อยดันทรูนนั้น มีปรากฏดังนี้

หลังจากทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารดันทรูนแล้ว ทรงต้องผ่านการทดสอบและการฝึกหัดชั้นต้นใน 5 สัปดาห์แรก ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่หนักที่สุดในชีวิตของนักเรียนนายร้อย หรือที่บรรดานักเรียนนายร้อยดันทรูนนิยมเรียกว่า “สัปดาห์นรก”

ทางโรงเรียนนายร้อยดันทรูน ได้กำหนดหลักสูตรพิเศษสำหรับนักเรียนใหม่ เฉพาะ 5 สัปดาห์แรก คือ

  • ต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลา 05.00 น. ออกวิ่งและออกกำลังกายโดยกำหนด
  • ให้มีกิจกรรมตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีเวลาเป็น ของตนเอง
  • มีกฎเกณฑ์มากมาย หากเผลอจะถูกทำโทษ อาทิ ยึดพื้น วิ่ง ทำงานต่าง ๆ
  • แม้กระทั่งการรับประทานอาหารก็มีกฎเกณฑ์ เวลา
  • และข้อปลีกย่อยจุกจิกกวดขันหนักไปในทางระเบียบวินัย การทดสอบทางร่างกาย ให้เล่นกีฬาทุกประเภท และพื้นฐานของการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มี

เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนดูแลกวดขันโดยใกล้ชิด คอยบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาไม่ให้คลาดสายตา ห้ามเยี่ยมและไม่มีการออกนอกโรงเรียน แม้บริเวณโรงเรียนก็มีเขตกำหนด หากออกไปนอกเขตก็ต้องถูกลงโทษ การเคลื่อนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง .. หากพ้นชายคาแล้วจะต้องวิ่ง เดินไม่ได้

ทางโรงเรียนมีวิธีการทดสอบด้านสุขภาพจิต เช่น ความกล้าหาญ ความรักหมู่คณะ ความรู้สึกกับเพื่อนทั้งชายและหญิง การอยู่ร่วมกับคนอื่น ความเห็นแก่ตัว ความพยายาม ฯลฯ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสามารถช่วยตัวเองได้ทุกวิถีทาง เพราะถือหลักว่าหากช่วยตัวเองไม่ได้แล้ว จะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร เพราะนายทหารจะต้องช่วยผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและรับผิดชอบอยู่เสมอ ฉะนั้นหากปฏิบัติไม่ได้ต้องออกจากโรงเรียน

ทรงผ่านการทดสอบ “อันดับดี”

20 มีนาคม 2515 มีการวิ่ง Cross Country นักเรียนนายร้อยทุกคนต้องวิ่งเป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร ขึ้นเขา ลงห้วย เหวลึก และทุกคนต้องทำเวลาต่ำกว่า 40 นาที พระองค์ทรงวิ่งได้ดี ทำเวลาได้ 38 นาที ทรงมาในอันดับดี มีนักเรียนนายร้อยหลายคนวิ่งไม่ได้ตามเวลา บ้างตกเขาหัวแตกอาบเลือด และข้อเท้าแพลง

หลังจากครบ 5 สัปดาห์แล้ว หลักสูตรของนักเรียนนายร้อยทุกชั้นในเทอมที่หนึ่งมีหนักไปทางวิชาการทหาร

ต้องตื่นนอนเวลา 05.30 น. มีการตรวจห้อง เตียง เครื่องแต่งกาย ผ้าปูที่นอนต้องตึง รองเท้าต้องขัดมัน กระดุมต้องกลัดทุกเม็ด เครื่องหมายหัวเข็มขัดต้องมัน หนวดเคราต้องโกนให้เรียบร้อย แม้หมึกเปื้อนที่มือก็ไม่ได้ การจัดของภายในห้องตลอดถึงการวางเสื้อผ้าของใช้ต่าง ๆ ต้องวางอยู่ตามที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งการตรวจสภาพห้องนั้นจะรวมถึงการใช้มือลูบหาฝุ่นตามโต๊ะ หรือมุมห้องนอนด้วย

หากมีข้อบกพร่องก็จะมีการจดชื่อและกำหนดรายการทำโทษ โดยการทำโทษปกติจะตื่นนอนก่อน 30 นาที ซึ่งผู้ถูกทำโทษต้องแต่งชุดสนามมีปืนและเครื่องหลัง พร้อมด้วยจอบ เสียม รวมหนัก 16-20 กิโลกรัม ออกยืนทนหนาวนอกบริเวณสนาม จะมีการสั่งแถวอยู่ตลอดเวลาไม่ให้หยุดหรือให้กลิ้งไปตามพื้นดินที่แฉะ บางครั้งก็เปลี่ยนเป็นให้ล้างส้วม กวาดพื้น ถางหญ้า ฯลฯ

  • เวลา 07.00 น. รับประทานอาหารเช้า ขณะรับประทานอาหารจะต้องคอยระมัดระวัง เพราะจะมีนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่คอยชักแกล้ง หรือแกล้งจุกจิกอยู่เสมอ และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วต้องเก็บถ้วยชามของนักเรียนรุ่นพี่ทั้งหมด
  • เวลา 08.00 น. เข้าแถวรวม ตรวจแถวความเรียบร้อย เวลา 08.30 น. เข้าเรียน (แบ่งชั่วโมงพลศึกษา วิชาทหาร ฝึกแถว อาวุธ ฯลฯ) 12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน เวลา 13.00-16.00 น. เข้าเรียนต่อ กระทั่งถึงเวลา 16.00-17.00 น. เป็นชั่วโมงกีฬา และรับประทานอาหารในเวลา 18.00 น.
  • เวลา 19.00 น. ประชุม หลังจากนั้นอนุญาตให้นักเรียนชั้นสูงเข้าศึกษาค้นคว้าในห้องสมุด สำหรับนักเรียนใหม่มีการฉายภาพยนตร์ อบรมระเบียบวินัย

การนอน สำหรับนักเรียนชั้นสูงไม่กำหนดเวลา แต่นักเรียนใหม่ต้องเข้านอนเวลา 22.00 น. แต่ละวันทางโรงเรียนจะกำหนดเวลาว่างทบทวนให้วันละ 2 ชั่วโมง

ส่วน การฝึกภาคสนาม ในเทอมที่ 1 มี 3 ครั้ง ต้องไปนอนพักแรมครั้งละ 7 วัน ในป่าบริเวณเขาที่ติดทะเลห่างจากโรงเรียน 75-90 ไมล์ การนอนพักแรมในป่าต้องกางเต็นท์นอน หุงอาหารรับประทานเอง มีการฝึกตามสถานการณ์ที่สมมติและมุ่งไปในทางการฝึกในฤดูฝน คือสถานที่ฝนตกทั้งวัน

ทรงซักรีดฉลองพระองค์เอง

การขออนุญาตออกนอกบริเวณโรงเรียน หลังจากหลักสูตรพิเศษ 5 สัปดาห์แล้ว อนุญาตให้นักเรียนออกได้ในตอนเย็นวันศุกร์ตั้งแต่เวลา 15.30-24.00 น. ในวันเสาร์มีการฝึกในตอนเช้า ตอนบ่ายมีการแข่งขันกีฬา ทั้งนี้ทุกคนจะต้องลงแข่งขันโดยมีการเล่นรักบี้และฟุตบอล แล้วจึงจะอนุญาตให้ออกนอกโรงเรียนได้ ตั้งแต่เวลา 17.30-02.00 น.

นักเรียนที่ติดเวรยามจะออกไม่ได้ การค้างแรมนอกโรงเรียนอนุญาตเพียงเดือนละ 1 ครั้ง แต่ต้องเขียนรายงาน ห้ามออกไปไกลเกินรัศมี 60 ไมล์

โดยพระองค์ทรงได้รับอนุญาตให้ออกนอกบริเวณโรงเรียนเป็นครั้งแรก วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 โดยปกติจะเสด็จไปประทับที่บ้านพักของ พ.ต.สำเริง ไชยยงค์ บ้านเลขที่ 47 กิลโมร์ เครสเธนต์ กาแรน กรุงแคนแบร์รา ทรงซักรีดฉลองพระองค์เอง ทรงพระสำราญกับการฟังแผ่นเสียงหรือเทปเพลงไทย ทรงการบ้าน ทรงร้องเพลง ต่อโมเดลรถถัง เรือรบและเครื่องบินทหารแบบต่าง ๆ ทรงกีฬา ทรงขับรถยนต์โฟล์คสวาเกนแบบ 1600 ทอดพระเนตรภาพยนตร์บ้างเป็นครั้งคราว และเสด็จกลับเข้าวิทยาลัยก่อนเวลา 22.00 น.เสมอ

ทรงระมัดระวังในเรื่องพระกระยาหารและพระอนามัย เพราะมีการทดสอบทางร่างกายเป็นประจำ เช่น การวิ่งตามภูมิประเทศ 4 ไมล์ หรือ 8 ไมล์ โดยกำหนดเวลา การข้ามสิ่งกีดขวางแบบต่าง ๆ จำนวน 9-12 สถานี และการว่ายน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ วิทยาลัยที่พระองค์ทรงศึกษา กำหนดการศึกษา 4 ปี แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบกออสเตรเลีย ซึ่งนักเรียนสำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท

ทรงสนพระทัย วิชาประวัติศาสตร์-เศรษฐศาสตร์

ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาภาควิชาสามัญ หลักสูตรชั้นปริญญาตรี ซึ่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์รับผิดชอบในการวางหลักสูตรการศึกษา นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีสาขาวิชาที่ตน เลือกศึกษาด้วย และทางวิทยาลัยการทหารฯได้แทรกหลักสูตรทั้งสองภาคนี้เข้าไว้ในระยะเวลา 4 ปี

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และทรงสนพระทัยในวิชาประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

จากวันนั้นจนบัดนี้ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักการทหารอย่างแท้จริง

ข้อมูลมาจาก หนังสือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร และ www.prachachat.net