ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาจากคำให้การชาวกรุงเก่า อธิบายวิธีการไว้ดังนี้ … “เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสวรรคต ได้จัดการพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีดังนี้ คือ สรงน้ำชำระพระบรมศพสะอาดแล้ว ถวายพระสุคนธ์สรงพระบรมศพ แล้วเอาผ้าคลุมบรรทมมีลายริมเงินคลุมพระบรมศพไว้ จนถึงเวลาสรงพระบรมศพ ครั้นสรงเสร็จแล้วถวายภูษาอาภรณ์ทรงพระบรมศพ และทรงสังวาลและพระชฎา ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นในพระมหาปราสาท”
ขั้นตอนการสรงน้ำพระบรมศพ การถวายหน้ากากทองคำ หักพระสาง
การสรงน้ำก็คือ การอาบน้ำให้กับผู้ล่วงลับ และขั้นตอนต่อมาก็เหมือนกับที่คนเป็นๆ กระทำกันคือ ใส่เครื่องหอม และแต่งตัวนั่นเอง สำหรับพิธีของราชสำนักจะเตรียมการเมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลง ด้วยการจัดแต่งสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ในด้านสถานที่คงเป็นไปตามความสะดวก และพระเกียรติยศ
การเตรียมสรงน้ำพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 8
สถานที่สรงน้ำพระบรมศพในปัจจุบัน ใช้พระที่นั่งพิมานรัตยา
พระที่นั่งพิมานรัตยานี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ร.1) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจากมุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดยาวไปทางทิศใต้ พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นพระมณเฑียรบรรทมของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในโอกาสที่เสด็จมาประทับ ณ หมู่พระมหาปราสาทนี้ (คัดมาจากหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี. สำนักพิมพ์ มติชน. 2551)
การถวายหน้ากากทองคำ และ หักพระสาง (หวี)
ในพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ระบุว่า ในการพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูงนั้น เมื่อมีการสวรรคต หรือ สิ้นพระชนม์ลง ก็จะมีการพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพ ถวายเครื่องขาวทรงพระบรมศพ และถวายเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์อย่างเต็มที่ (เครื่องทรงพระบรมศพเต็มยศพระมหากษัตริย์ หรือ พระอัครมเหสี) จากนั้นเจ้าพนักงาน ถวายพระสาง (หวี) แก่องค์ประธานเพื่อทรงหวีพระเกศาพระบรมศพขึ้นหนึ่งครั้ง ลงหนึ่งครั้ง และขึ้นอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นทรงหักพระสางวางที่พานซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่
ปริศนาธรรมจากการหักพระสาง..
การหักพระสางนี้เป็นปริศนาธรรมอย่างหนึ่ง … คือ เพื่อแสดงว่าไม่ต้องการความสวยงามใด ๆ อีกแล้ว หมดประโยชน์ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ต้องแต่งกายใด ๆ อีกแล้ว … เมื่อครั้งพิธีสรงน้ำพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นอัครมเหสีทรงเป็นผู้หักพระสางนี้เอง
อ่าน “เหตุการณ์ในวันสวรรคต 23 ตุลาฯ ปิยมหาราชานุสรณ์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5”
ถวายขี้ผึ้งแผ่จนเต็มพระพักตร์ และอุดพระทวารทั้งเก้า
โดยการถวายปรอท แลน้ำผึ้งเข้าไปในพระวรกายทางพระโอสฐ์ของพระศพ แล้วจึงจะถวายแผ่นพระพักต์ทองคำ ดังในฉากหนึ่งของภาพยนต์เรื่อง สุริโยทัย // ดูภาพต้นฉบับได้ที่ Facebook “คลังประวัติศาสตร์ไทย”
จากนั้นเจ้าพนักงานจะถวายขี้ผึ้งแผ่จนเต็มพระพักตร์ และอุดพระทวารทั้งเก้า (สำหรับในอดีต ที่ยังไม่มีการถวายยาฉีดฟอร์มาลิน) จากนั้นเจ้าพนักงานจะอัญเชิญ “พระสุพรรณจำหลักปริมณฑลฉลองพระพักตร์” หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ แผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระบรมศพ เพื่อไม่ให้เห็นพระพักตร์ หากพระบรมศพมีสภาพที่มิบังควรเห็น
พระชฎา แผ่นทองคำจำหลักปิดพระพักตร์ และซองพระศรี ที่ใช้ประกอบการสรงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
ซึ่งพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็รับการถวายแผ่นพระพักตร์นี้ ปิดที่พระพักตร์ตามโบราณราชประเพณีทุกอย่าง เพียงแต่พระศพไม่ได้ทรงพระชฎาห้ายอด ลงที่พระเศียร เพราะพระชฎาห้ายอดนี้ สำหรับพระบรมศพที่ลงประทับนั่งพระโกศ (ประทับในหีบพระศพ) จึงทำได้เพียงอัญเชิญพระชฎาไว้ข้าง ๆ พระเศียร
พระที่นั่งพิมานรัตยา
เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ทาสีขาว ยกพื้นสูง มีเสาลอยรับหลังคาโดยรอบ พระที่นั่งองค์นี้เชื่อมต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยห้องโถงที่เรียกว่า “มุขกระสัน” ลักษณะเป็นห้องโถงยาวทอดยาวไปทางทิศใต้ เป็นพระที่นั่งยกสูง มีระเบียง 3 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ตะวันตกและด้านทิศใต้ รอบระเบียงเป็นเสาราย มีหลังคาเป็นชั้นลด 3 ชั้น ทรงไทยมุงด้วย กระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ประดับ หน้าบันจำหลักรูปพระพรหมทรงหงส์ ซุ้มพระทวารเป็นซุ้มเรือนแก้วลายดอกพุดตาน และซุ้มพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบันแถลง ปิดทองประดับกระจก
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ใน พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มี พระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และ เรือนบริวาร หรือ เรือนจันทร์ ต่อเนื่องทางด้านหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียว ในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม
ที่มา www.silpa-mag.com/ , วิกิพีเดีย , คลังประวัติศาสตร์ไทย , ความรู้เกี่ยวกับ “โกศ” ที่ใช้บรรจุพรบรมศพเจ้านายของไทย”
พระที่นั่งพิมานรัตยา สถานที่สรงน้ำพระบรมศพ (ภาพจาก สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม 2 สำนักราชเลขาธิการ,2531)
บทความแนะนำ
- ตำแหน่งเตาเผาไฟฟ้า เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ อยู่ภายในฐานพระจิตกาธาน
- 4 สิ่งที่หายไป จากงานพระบรมศพยุคใหม่ ที่คุณจะไม่มีโอกาสได้เห็น
- การจัดการสภาพศพ แบบต่างๆ | ฉีดยา โลงเย็น
- เปิดตำนาน ลักพระศพ ธรรมเนียมที่กระทำในยามวิกาล ก่อนงานพระราชพิธี
- ย้อนประวัติศาสตร์ การเก็บรักษาพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ในพระราชวงศ์จักรี
- การสรงน้ำพระบรมศพ การถวายหน้ากากทองคำ หักพระสาง(หวี) | พระที่นั่งพิมานรัตยา
- ถวายรูด กรรมวิธีในการเลี้ยงพระศพในสมัยโบราณ ให้พระศพอยู่ได้นานขึ้น
- “เหตุการณ์ในวันสวรรคต 23 ตุลาฯ ปิยมหาราชานุสรณ์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5”