วิธีเอาตัวรอดและป้องกันตน ก่อนและขณะเกิดพายุฝน เกิดฟ้าผ่า

ถึงแม้ว่าในตอนนี้แดดกำลังแรงอยู่ แต่เผลอแปบเดียวท้องฟ้าก็เริ่มมืดแล้ว เราไม่สามารถวางใจได้เลย เพราะไม่รู้ว่าพายุฝนจะตกลงมาตอนไหน และจะมีผลกระทบต่อเรามากน้อยเพียงใด ดังนั้นก่อนที่พายุฝนจะตกลงมานั้น เราควรที่จะต้องเตรียมวิธีการรับมือให้ดีเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง – วิธีเอาตัวรอดและป้องกันตน จากพายุฝน ฟ้าผ่า

วิธีเอาตัวรอดและป้องกันตน เมื่อต้องเจอ พายุฝน

และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ก็มีวิธีการเอาตัวรอดจากพายุฝนมาฝากกันด้วย จะมีวิธีไหนกันบ้าง ตามมาดูกันได้เลย…

ก่อนพายุฝนจะมา เราต้องพร้อม!

1. วางแผนให้ดีก่อนออกไปข้างนอก

ก่อนที่เราจะออกไปข้างนอก เราควรที่จะต้องมีการวางแผนให้ดีเสียก่อนโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เราควรที่จะฟังพยากรณ์อากาศเป็นประจำทุกวัน ซึ่งหากวันไหนที่มีพายุฝนรุนแรงก็ควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่อันตราย หรือไม่ออกจากบ้านในเวลาที่กำลังจะเกิดพายุฝน

นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตได้จากสถาพอากาศในขณะนั้นได้อีกด้วย เช่น สังเกตว่าฟ้ามืดไหม หรือมีลมแรงผิดปกติหรือไม่ เพราะนี้เป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าพายุฝนกำลังเคลื่อนเข้ามาแล้ว ฯลฯ

2. ลองฟังเสียงฟ้า…

เมื่อเราลองสังเกตจากสภาพอากาศแล้ว ให้ลองฟังเสียง คำนวณเสียงที่ได้ยิน และหากเห็นแสงฟ้าผ่า เสียงฟ้าร้องตามมาอีก 30 วินาทีให้หลัง ก็รีบหลบเข้ามาในที่ปลอดภัยในทันที เช่น หลบในอาคารหรือชายคาบ้านทันที (เราไม่ควรไปหลบใต้ต้นไม้โดยเด็ดขาด) เป็นต้น

3. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

เราไม่รู้ว่าในขณะที่ฝนกำลังตกอยู่นั้นจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรขึ้นมาบ้าง เราควรที่จะเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม เช่น ในกรณีที่เกิดไฟดับ เราก็ต้องเตรียมไฟฉายหรือเทียนเอาไว้ให้พร้อม หรือแบตมือถือ เราก็เตรียมเอาไว้ให้พร้อมด้วย เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา และควรตั้งเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเอาไว้ด้วย เป็นต้น

วิธีการป้องกันตนเองขณะอยู่บ้าน

1. นำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้าน

สำหรับใครที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่ที่บ้าน ก็ควรพาเหล่าสัตว์เลี้ยงของเราเข้าบ้านในทันที เพราะสัตว์เลี้ยงทุกชนิดไม่สามารถที่จะต้องป้องกันตนเองจากฟ้าผ่าได้ และที่สำคัญปลอกคอของสัตว์เลี้ยงก็ยังเป็นสื่อล่อฟ้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

2. ปิดประตู-หน้าต่างให้ดี

เมื่อเรานำเหล่าสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านแล้ว เราก็ต้องปิดประตู-หน้าต่างบ้านให้เรียบร้อยด้วย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากพายุฝน และนอกจากนี้เราก็ไม่ควรที่จะอยู่ใกล้ ๆ กับหน้าต่างด้วย

3. ไม่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า (โลหะ)

ในขณะที่กำลังเกิดพายุฝนอยู่นั้น เราควรที่จะงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออุปกรณ์ที่ทำมาจากโลหะ เพราะกระแสไฟฟ้าอาจจะวิ่งเข้าสู่ร่างกายของเราได้ เมื่อเกิดฟ้าผ่าลงมา เช่น โทรทัศน์ ฯลฯ ที่สำคัญในขณะที่เราอยู่ในบ้านไม่ควรที่จะยืนพิงผนังบ้าน เพราะโครงสร้างของบ้านส่วนใหญ่มีสื่อที่สามารถนำไฟฟ้าได้ ซึ่งมันจะเป็นอันตรายถ้าเราไปสัมผัสผนังในขณะที่มีพายุฝน

4. ออกจากบ้าน เมื่อฝนหยุดแล้ว

ในขณะที่กำลังมีพายุฝนนั้น เราควรอยู่ในบ้านตลอด ไม่ควรออกไปไหน เพราะมันเสี่ยงต่อการโดนฟ้าผ่าได้ แต่ถ้าเราจำเป็นที่จะต้องออกจากบ้านจริง ๆ ก็รอให้ฝนหยุดตกสนิทเสียก่อนประมาณ 30 นาที แล้วค่อยออกไปข้างนอก

วิธีป้องกันตนเอง เมื่ออยู่นอกบ้าน

1. หลบเข้าตึกหรือชายคาทันที

เมื่อเราอยู่ข้างนอกบ้านในขณะที่มีพายุฝน ให้เราหลบเข้าไปในอาคาร ตึก หรือชายคาทันที ไม่ควรที่จะชะล่าใจเพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดฟ้าผ่าลงมาตอนไหน และจะต้องเลี่ยงการหลบใต้ต้นไม้ บริเวณป้ายโฆษณา อาคารขนาดเล็ก ๆ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ หรือสถานที่ที่มีเพียงแค่กันสาดเท่านั้น เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ไม่สามารถที่จะป้องกันฟ้าผ่าได้นั่นเอง ฯลฯ (เราอยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้าปลอดภัยกว่าอาคารที่ไม่มีสายล่อฟ้า)

2. ไม่ควรอยู่ใกล้สถานที่ที่มีน้ำ

อยากที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า เมื่อฝนตกเราไม่ควรเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น สระว่ายน้ำ บ่อน้ำ ลำคลอง หรือทะเล ฯลฯ และหากใครที่กำลังเล่นน้ำอยู่ก็ควรที่จะต้องรีบขึ้นมาในทันทีด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าการเกิดฝนตกในแต่ละครั้งจะทำให้เกิดน้ำท่วม หรืออันตรายอะไรบ้าง ควรที่จะขึ้นมาหลบในที่ปลอดภัย

3. อย่าอยู่ในที่โล่งแจ้ง

ให้เรารีบออกจากพื้นโล่งแจ้งหรือลานกว้างในทันที เช่น ลานจอดรถด้านนอกอาคาร สนามกอล์ฟ เพราะแรงของลมพายุฝนอาจจะพัดสิ่งของหรือต้นไม้มากระแทกเราได้ และอีกอย่างที่เราควรระวังก็คือ ไม่ควรใช้โทรศัพท์ในขณะมีพายุฝนด้วย เพราะมือถือเป็นสื่อล่อฟ้าอีกหนึ่งชนิดที่เราควรระวังเอาไว้ด้วย

4. หลบในสถานที่ที่มีคนเยอะ

เมื่อเราจะต้องหลบพายุฝนร่วมกับผู้อื่น ควรรักษาระยะห่างแต่ละคนไว้ประมาณ 15.2-30.5 เมตร เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้กระแสไฟวิ่งเข้าสู่ร่างกาย เมื่อคนรอบข้างมีคนโดนฟ้าผ่า

5. หากมีฟ้าผ่าบริเวณใกล้เคียง

เมื่อเราจะต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ฟ้าผ่าในระยะประชันชิด ให้นั่งยอง ๆ เท้าชิดกัน ก้มหน้าซุกระหว่างเข่า เอามือปิดหูหรือจับเข่าเอาไว้ ถึงแม้ว่าท่านี้จะช่วงป้องกันอุบัติเหตุไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในร่างกายได้ (อย่านอนราบ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไฟฟ้าไหลมาตามพื้น)

6. ฟ้าผ่า เมื่อเราอยู่ในรถ

ให้เราจอดรถ อย่าสัมผัสกับส่วนที่เป็นโลหะ ให้เรานั่งกอดอกหรือวางบนตักแทน ปิดหน้าต่างทุกบาน ที่สำคัญอย่าจอดรถใต้ต้นไม้ และอย่าใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์แฮนด์ฟรีทุกชนิด เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการโดนฟ้าผ่า

ทำอย่างไร? เมื่อมีคนโดนฟ้าผ่า

1. สังเกตบริวเวณที่เกิดเหตุ

อันดับแรกให้เราสังเกตว่าในบริเวณที่เกิดเหตุนั้น ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้เราเคลื่อนย้ายผู้ที่ถูกฟ้าผ่าออกไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันฟ้าผ่าซ้ำลงมาอีกครั้ง

2. สัมผัสตัวผู้ที่ถูกฟ้าผ่าได้ทันที

เราสามารถที่จะสัมผัสตัวผู้ที่ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ผู้ที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ซึ่งเราไม่ต้องกังวลจะถูกไฟดูดเลย (ต่างจากกรณีที่โดนไฟฟ้าช็อต อันนั้นเราไม่สามารถโดนตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตได้)

3. ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

สำหรับการปฐมพยาบาลให้กับผู้ที่ถูกฟ้าผ่านั้น จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต ถ้าหากผู้บาดเจ็บไม่มีสติ หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการได้จากว่าผู้บาดเจ็บเริ่มมีริมฝีปากเขียว สีหน้าซีด ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก หมดสติไม่รู้สึกตัว เราจะต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน

โดยวิธีการผายปอดด้วยการให้ลมทางปาก หรือที่เรียกว่า “เป่าปาก” ร่วมกับนวดหัวใจ โดยวางมือตรงกึ่งกลางลิ้นปี่เล็กน้อย ถ้าทำการปฐมพยาบาลคนเดียวให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าทำการปฐมพยาบาลสองคน ให้นวดหัวใจ 5 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ก่อนนำผู้บาดเจ็บส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

ข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.thกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง