จำไว้ให้ขึ้นใจก่อนออกทะเล! 6 เทคนิค เอาตัวรอด จากภัยเรือล่ม

ในบางครั้งเรื่องของภัยอันตรายต่างๆ อาจจะเกิดขึ้นได้โดยที่คาดไม่คิด ถึงแม้จะคิดว่าเตรียมการทุกอย่างไว้ดีแล้ว ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือต้องมีสติ และรู้ข้อมูลพื้นฐานการเอาตัวรอดไว้ด้วย วันนี้แคมปัส-สตาร์ ดอทคอม ขอนำเกร็ดความรู้ 6 เทคนิค เอาตัวรอด จากภัยเรือล่ม จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669 มาเผยแพร่ให้ทุกคนได้อ่านค่ะ

เรื่องที่ต้องรู้ 6 เทคนิค เอาตัวรอด จากภัยเรือล่ม

จากกรณีเรือล่ม ที่ ภูเก็ต ( อ่านข่าว คลิกที่นี่) ซึ่งตอนนี้พบจำนวนผู้เสียชีวิต และมีผู้สูญหายที่ยังหาไม่พบ ถือเป็นเรื่องราวการสูญเสียที่ไม่อยากให้ใครเกิด เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนควรตระหนักให้ดีก่อนออกท่องเที่ยวทางทะเลว่าต้องมีความพร้อม มีการเตรียมตัวอย่างไร ไปอ่านเกร็ดความรู้ต่อไปนี้กันไว้ค่ะทุกคน

1. เลือกขึ้นเรือโดยสารที่มีความพร้อม และสภาพปลอดภัย

ไม่มีผู้โดยสารจำนวนมาก หรือบรรทุกน้ำหนักเกิน บนเรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำ อาทิ เสื้อชูชีพ ห่วงยาง ไว้บริการผู้โดยสาร หากว่ายน้ำไม่เป็น ควรแจ้งนายท้ายเรือและผู้ควบคุมเรือ จะได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

2. การแต่งกาย ถอดง่าย-ไม่อุ้มน้ำ

แต่งกายให้เหมาะสมกับการโดยสารเรือ สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อุ้มน้ำและถอดง่าย ไม่สวมรองเท้าหุ้มส้นหรือชนิดผูกเชือก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปลอดภัย

3. ขณะเดินทางให้ยืนบนฝั่งหรือท่าเทียบเรือ – ไม่หยอกล้อกัน

ในช่วงที่กำลังเดินทาง สาเหตุที่ให้ยืนรอเรือบนฝังหรือท่าเทียบเรือ ไม่ยืนรอบนโป๊ะที่มีคนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโป๊ะพลิกคว่ำ รวมถึงไม่หยอกล้อเล่นกันระหว่างรอเรือ เพราะอาจพลัดตกน้ำได้

4. การขึ้น – ลงเรือ ก็สำคัญ

ควรรอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อย จึงเดินขึ้น – ลงเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่ลุกขึ้นยืนพร้อมกัน เพราะเรือจะรับน้ำหนักข้างเดียวมากเกินไป ส่งผลให้เรือล่มได้ หากเรือมีคนจำนวนมาก ควรใช้บริการเรือลำอื่น

5. อย่านั่งหรือยืน ในตำแหน่งไม่เหมาะสม

การโดยสารเรือควรกระจายการนั่งให้เกิดความสมดุล ไม่ยืนบริเวณท้ายเรือ ไม่นั่งบริเวณกราบเรือหรือหลังคาเรือ ไม่นั่งรวมกลุ่มบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของเรือ รวมถึงสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่โดยสารเรือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินเรือล่มหรือพลัดตกเรือ จะได้พยุงตัวลอยน้ำ รอการช่วยเหลือ กรณีเรือเอียงหรือโคลงให้ยึดจับพนักที่นั่งให้มั่น พร้อมขืนอาการเอียงของเรือไม่ให้น้ำหนักไปรวมอยู่ทางกราบเรือด้านที่เอียง เพราะจะทำให้เรือล่มได้

6. หากเรือล่ม รีบว่ายน้ำออกห่างจากเรือ

ที่ให้รีบว่ายน้ำออกห่างจากเรือเมื่อเรือล่ม และไม่เกาะกราบเรือที่กำลังแล่น เพื่อป้องกันกระแสน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือและได้รับอันตรายจากใบพัดเรือนั่นเองค่ถอดสิ่งของที่ถ่วงน้ำหนักออก และหาที่ยึดเกาะซึ่งลอยน้ำได้ เพื่อพยุงตัวรอการช่วยเหลือ และลอยไปตามกระแสน้ำ ไม่ว่ายน้ำเข้าฝั่งด้วยตนเอง เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิตได้ กรณีโดยสารเรือและพบผู้โดยสารพลัดตกน้ำให้ตะโกนบอกนายท้ายเรือ พร้อมบอกตำแหน่งที่คนพลัดตกน้ำ จะได้ควบคุมเรือไปทางอื่น ป้องกันอันตรายจากใบพัดเรือ โยนอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำใช้ยึดเกาะพยุงตัวรอการช่วยเหลือ

เหนือสิ่งอื่นใด ต้องพยาพยามควบคุมสติ เพราะหากยิ่งตกใจ หวาดกลัว ก็จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น

ขอบคุณที่มา : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง