หลายคนคงเคยได้ยยินคำว่า ” การทำวิจัย “ ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นการศึกษาเฉาะสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่จริงๆ แล้วการทำวิจัยสามารถทำได้ในทุกๆ สาขาวิชา วันนี้แคมปัส-สตาร์จะพาไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ การทำวิจัย คืออะไร ทำอย่างไร และทำไปทำไม พร้อมยกตัวอย่างงานวิจัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจให้มากขึ้นด้วยค่ะ
การทำวิจัย คืออะไร ?
การทำวิจัยคือกระบวนการศึกษาหรือแสวงหาคำตอบโดยมีระบบระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน น่าเชื่อถือและเที่ยงตรง ซึ่งปัญหานำวิจัยที่นำมาศึกษาหาคำตอบ จะต้องมีประโยชน์ต่องานทางด้านวิชาการ การทำวิจัยมีหลายประเภท เช่น วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ รายงานการวิจัยของหน่วยงาน เป็นต้น ทุกประเภทมีพื้นฐานการทำวิจัยที่เหมือนกัน อาจจะต่างกันตรงที่ขอบเขตการวิจัย หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
การวิจัยคือ การทดลอง ?
การทดลอง เป็นประเภทหนึ่งของการทำวิจัย ซึ่งเป็นกระบวนทางวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง ใช้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่กำหนดไว้ เพื่อศึกษาว่าเงื่อนไขหรือสถานการณ์นั้นๆ เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงตัวแปรดังกล่าวหรือไม่ โดยใช้วิธีการสังเกตและเปรียบเทียบความแตกต่างที่กิดขึ้น
จุดเริ่มต้นของการทำวิจัย
ผู้ทำวิจัยควรจะเริ่มต้นจาก การคิดหาปัญหาที่ต้องการหาคำตอบ เรียกว่า “ปัญหานำวิจัย” ซึ่งควรจะเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยสนใจและถนัด เพราะอาจจะต้องอยู่กับงานวิจัยนั้นๆ หลายเดือนหรือหลายปี แต่ถ้าไม่สามารถตั้งปัญหานำวิจัยได้ อาจจะใช้วิธีค้นคว้าจากเอกสารหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สนใจ ซึ่งจะทำให้รู้ถึงช่องว่างที่สามารถจะทำวิจัยได้ หรืออาจได้ไอเดียใหม่ๆ มาเป็นหัวข้องานวิจัยได้
การทำวิจัย… ทำอย่างไร?
เมื่อทราบถึงปัญหานำวิจัยที่ต้องการค้นคว้าแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นทำงานวิจัยได้ โดยจะต้องทำตามขั้นตอนแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะมีการอ้างอิงข้อมูลโดยทฤษฎีต่างๆ หรือสิ่งที่ผู้อื่นค้นคว้ามาแล้ว ประกอบในทุกๆ ขั้นตอน เพื่อความน่าเชื่อถือ การวิจัยแบ่งออกเป็น 5 ส่วนต่างๆ ดังนี้
บทที่ 1 บทนำ ประกอบด้วย
- ที่มาและความสำคัญของปัญหา (บอกถึงความสำคัญของปัญหาและควรมีการอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ)
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย (ควรเขียนเป็นข้อๆ)
- สมมติฐานการวิจัย (ถ้ามี)
- ขอบเขตของการวิจัย (การกำหนดขอบเขตของเรื่องที่ต้องการวิจัย เช่น ประชากรที่ศึกษา ตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาที่ทำการวิจัย เป็นต้น)
- นิยามศัพท์ นิยามคำศัพท์สำคัญที่เกี่ยวกับงานวิจัย (ไม่ใช่ความหมายจากพจนานุกรม)
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย
บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผู้วิจัยจะต้องค้นคว้าผลงานที่ผ่านมา เพื่อนำความรู้ที่มีผู้ค้นพบแล้วมาสนับสนุนงานวิจัยและผลการศึกษา บทนี้ประกอบด้วย
- ทฤษฎีต่างๆ ที่รองรับหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัย (เพื่อนำความรู้ที่มีผู้ค้นพบแล้วมาสนับสนุนงานวิจัยและผลการศึกษาในครั้งนี้)
- ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ ()
บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย
- รูปแบบที่ใช้ในการวิจัย (รายละเอียดรูปแบบงานวิจัย)
- ขั้นตอนการวิจัย เสนอรายละเอียดของขั้นตอนการวิจัยโดยอธิบายขั้นตอนเป็นข้อ ๆ
- ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง (ประชากรเป็นใคร กลุ่มตัวอย่างเป็นใคร และต้องระบุขนาดของกลุ่มตัวอย่าง และวิธีการที่ใช้ในการเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วย)
- เครื่องมือการวิจัย (เช่น แบบสอบถาม )
- การเก็บรวบรวมข้อมูล ระบุวิธีการที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลว่าใช้วิธีการใด และอย่างไร
- การวิเคราะห์ข้อมูล ระบุวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล นำเสนอเฉพาะข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยตามวัตถุประสงค์ โดยนำเสนอข้อมูลเป็นตารางหรือเชิงพรรณา และมีการตีความหมายข้อมูลในตารางด้วย
บทที่ 5 สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ประกอบด้วย
- สรุปการวิจัย เป็นการสรุปกิจกรรมการวิจัย
- สรุปผลการวิจัยจากบทที่ 4
- อภิปรายผล เป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดของบทที่ 5 เพราะเป็นการอธิบายผลการวิจัย โดยใช้ทฤษฏีหรืองานวิจัยต่างๆ มาสนับสนุนและเพิ่มความน่าเชื่อถือของงานวิจัย
- ข้อเสนอแนะ (แบ่งเป็น ข้อเสนอแนะเพื่อใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยในอนาคต)
- อ้างอิง (บรรณานุกรม (Bibliography) และ ภาคผนวก (Appendice)
การทำวิจัย ทำไปทำไม?
เพราะการค้นคว้าวิจัยทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า ยารักษาโรค วัคซีน อาหาร ฯลฯ อีกทั้งในปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยี ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำวิจัยให้ง่ายขึ้น ทำให้บุคคลทางด้านวิชาการในสาขาต่างๆ ศึกษาและค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นการทำวิจัยจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก im2market.com, elearning.ns.mahidol.ac.th, pexels.com
บทความแนะนำ
- เจ๋งมาก ผลงานวิจัยของ เฌอปราง BNK48 ได้ตีพิมพ์ในวารสารของอังกฤษ
- สวนดุสิต ผลักดันงานวิจัยออกสู่ตลาด “งานวิจัยบนหิ้ง . . . สู่การนำไปใช้จริง”
- 66 คำศัพท์ การจราจร ภาษาอังกฤษ พร้อมความหมาย
- คำศัพท์ภาษาอังกฤษ จักรวาลและอวกาศ (Universe and Space)
- คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่เกี่ยวกับเรือ – เรือแต่ละประเภท การประกาศเหตุการณ์ต่างๆ