5 โรคร้ายในสัตว์เลี้ยงช่วงหน้าฝน – 4 วิธี การดูแลสุนัขในช่วงฤดูฝน

ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวอากาศร้อนบ้างฝนบ้าง อาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการเจ็บป่วยได้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจึงจำเป็นต้องคอยสังเกตและใส่ใจสัตว์เลี้ยงเป็นพิเศษ นอกจากเรื่อง เห็บ หมัด ที่ทำให้ปวดหัวอยู่บ่อย ๆ แล้ว รู้ไหมคะ ว่ายังมีโรคภัยที่มากับหน้าฝนอีกด้วย วันนี้ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน (Talingchan Pet) มีเรื่องราว โรคร้ายในสัตว์เลี้ยง ช่วงหน้าฝน โรคร้ายที่มากับความเปียกชื้นในฤดูฝนที่ควรระวังมาฝากกัน

5 โรคร้ายในสัตว์เลี้ยง ช่วงหน้าฝน

1. โรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง

สภาพอาการที่อับชื้น เป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้สุนัขเกิดโรคผิวหนังได้ง่าย โดยทั่วไปโรคผิวหนังที่พบในบ้านเรา ส่วนมากจะมาจากหลายสาเหตุรวมกัน เช่น เป็นเชื้อรา ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือขี้เรื้อนรูขุมขน ดังนั้นเจ้าของควรจะหมั่นดูแลเรื่องผิวหนังและขนของน้องหมาให้ดี ต้องเช็ดให้แห้ง อย่าปล่อยให้เปียกหรือชื้น หากพบว่าสุนัขมีตุ่มคัน มีอาการเกาหรือสะบัดหูบ่อย ๆ มากผิดปกติ ควรจะรีบพาไปหาหมอ

2. โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่น่ากลัวก็คือ โรคปอดบวม จะเริ่มแสดงอาการ เช่น ซึม เบื่ออาหาร จมูกแห้ง ไอ มีไข้สูง น้ำมูก น้ำตาไหล หายใจลำบาก เป็นต้น โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัสซึ่งสามารถทำให้สัตว์ป่วยและตายได้ ดังนั้นสัตว์เลี้ยงตัวไหนขี้หนาว อาจจะต้องหาเสื้อให้เขาใส่ในช่วงกลางคืน หรือช่วงที่ฝนตกแล้วอากาศเย็น และถ้าสังเกตว่าเขามีอาการไอหรือมีน้ำมูกไหล ควรจะพาไปหาหมอทันที

3. ไข้ เห็บ หมัด

เป็นโรคอันดับต้นๆ ในสัตว์เลี้ยงก็ว่าได้ ถ้าเทียบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ “เห็บ” เป็นทั้งพาหะนำโรค คือ พยาธิในเม็ดเลือดหรือไข้เห็บ และยังทำให้สัตว์อ่อนแอ โลหิตจาง เนื่องจากเห็บจะดูดเลือด และส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดต่ำลง ทำให้สุนัขติดเชื้อและเกิดโรคได้ง่าย ยิ่งภูมิอากาศในบ้านเราที่ร้อนชื้นเ หมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ของเห็บ ทำให้ช่วงหน้าฝนน้องหมาเกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากเห็บเพิ่มมากขึ้น การกำจัดเห็บจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และในปัจจุบันมีหลายรูปแบบในการกำจัดเห็บหมัด ดังนั้นเจ้าของควรทำเข้าใจในการใช้ให้ถูกต้อง หรือ ปรึกษาสัตว์แพทย์ก่อนใช้ รวมไปถึงการทำความสะอาดกรง หรือ สถานที่บริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ด้วย เพื่อตัดวงจรชีวิตเจ้าเห็บหมัด

4. พยาธิในเม็ดเลือด

โรคนี้จะเกิดจากเห็บที่มีเชื้อไปกัดสุนัข หรือสุนัขกินตัวเห็บเข้าร่างกาย จะมีอาการ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ เลือดหลุดไหลยาก สีเหงือกและเยื่อเมือกซีดกว่าปกติ อาจมีภาวะตัวเหลือง เลือดกำเดาไหล ปัสสาวะมีเลือดปน บางรายอาจพบปัญหาตับหรือไตอักเสบร่วมด้วย และอาจพบการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดเข้าสู่ระบบประสาท ทำให้สุนัขมีอาการทางประสาท จนอาจตาบอดเฉียบพลันได้ นอกจากนี้ ในบางรายอาจพบภาวะภูมิคุ้มทำลายเม็ดเลือดแด งและเกล็ดเลือดตัวเอง แต่โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ถ้ามาพบสัตวแพทย์และรักษาอย่างทันท่วงที

5. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย อาเจียน อาหารเป็นพิษ หรือโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ สาเหตุที่เกิดขึ้นได้หลัก ๆ มาจากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไป หรือการตั้งอาหารทิ้งไว้นานในสภาพอากาศที่ชื้น ทำให้มีพวกเชื้อแบคทีเรียลงไปเจริญเติบโต ยิ่งช่วงหน้าฝนที่มีความชื้นเชื้อโรคก็จะเจริญเติบโตได้ดี

การดูแลสุนัขในช่วงฤดูฝน

มี 4 วิธี ดังนี้

1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ฤดูฝนเป็นช่วงที่มีการเพาะตัวของเชื้อโรคเยอะ เจ้าของควรพาน้องหมาไปฉีดวัคซีน

2. อาหารต้องสะอาดอยู่เสมอ ฤดูฝนจะทำให้อาหารเสียและเกิดเชื้อราได้ง่าย อาหารเม็ดควรสดใหม่ ไม่ขึ้นรา หากเป็นอาหารที่ปรุงก็ควรสุก ไม่ค้างคืน

3. ไม่ควรให้สุนัขตากฝน ควรให้อยู่ที่อุ่น ๆ และแห้ง พาเสื้อผ้าให้ใส่ หากป่วยหนักไม่ควรให้ยาทานเอง แต่ควรพบสัตวแพทย์

4. ป้องกันโรคที่มากับความชื้น ควรทำความสะอาดผิวหนังไม่ให้เปียกชื้น เพราะจะทำให้สุนัขเกิดโรค อย่าง โรคผิวหนัง หาเป็นหนักก็จะกลายเป็น “สุนัขขี้เรื้อน”

โรคเหล่านี้หากสัตว์เลี้ยงมีอาการที่ผิดปกติ เจ้าของควรพามาพบสัตวแพทย์ทันทีไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพื่อการรักษาดูแลที่ถูกวิธี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือ การบริการต่าง ๆ ได้ที่ www.talingchanpet.net หรือ Facebook : talingchanpetfanpage

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง