ทหารมีกี่เหล่า หน้าที่เหล่าทหารบกมีอะไรบ้าง ข้อมูลน่ารู้ ตัดสินใจเลือกเหล่า | กองทัพไทย

จากบทความ “เปิดเส้นทางการสอบเข้า ทหารหญิง-ทุกเหล่าทัพ ปี61 ต้องเรียนจบด้านไหน เปิดรับเมื่อไหร่?” ทำให้รู้ว่ามีน้องๆ นักเรียนนักศึกษาสนใจการทำงานในด้านนี้กันมาก และก่อนที่จะเลือกอาชีพการงานด้านนี้ แคมปัส-สตาร์ มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทหารมาฝากค่ะ (บทความแนะนำ พยาบาลทหาร-ทุกเหล่าทัพ รวมทุกข้อมูลที่ควรรู้ เมื่อคิดจะเรียนด้านนี้)

ทหารมีกี่เหล่า หน้าที่เหล่าทหารบกมีอะไรบ้าง

ข้อมูลน่ารู้สำหรับการตัดสินใจเลือกเหล่า | กองทัพไทย

ทหาร 17 เหล่า มีอะไรบ้าง ?

1. เหล่าทหารราบ หน้าที่ เป็นกองกำลังหลักของกองทัพบก : เครื่องหมาย > รูปปืนเล็กไขว้ประกอบกับตับกระสุน

2. เหล่าทหารม้า หน้าที่ มี 3 ประเภท : เครื่องหมาย > รูปกระบี่ไขว้ประกอบกับเกือกม้าและรถถัง

2.1.ทหารม้ารถถัง
2.2.ทหารม้าลาดตระเวน
2.3.ทหารม้าบรรทุกยานเกราะ

3. เหล่าทหารปืนใหญ่ หน้าที่ สนับสนุนการรบด้วยการยิงปืนใหญ่ : เครื่องหมาย > รูปปืนใหญ่ ไขว้ประกอบกับลูกระเบิดมีเปลว

4. เหล่าทหารช่าง หน้าที่ ดูแลเทคนิคในการช่าง : เครื่องหมาย > รูปพลั่วกับขวาน ไขว้ประกอบกับสมอ

5. เหล่าทหารสื่อสาร หน้าที่ ใช้เครื่อมือสื่อสารติดต่อระหว่างผู้บังคับบัญชา : เครื่องหมาย > รูปสายฟ้าแลบประกอบกับจักร

6. เหล่าทหารขนส่ง หน้าที่ ลำเลียงยุทโธปกรณ์ : เครื่องหมาย > รูปพวงมาลัยเรือ ประกอบกับจักรและปีกนกบนแผ่นโล่

7. เหล่าทหารสรรพาวุธ ตรววจเก็บรักษาอุปกรณ์ด้านอาวุธต่างๆ : เครื่องหมาย > รูปลูกระเบิดมีเปลว

8. เหล่าทหารพลาธิการ หน้าที่ เลี้ยงดูบำรุงหน่วยทหาร : เครื่องหมาย > รูปกระบี่ไขว้ประกอบกับจักรสามจักร

9. เหล่าทหารสารวัตร หน้าที่ ดูแลด้านระเบียบวินัยในกองทัพ : เครื่องหมาย > รูปปืนพกไขว้ประกอบกับจักร

10. เหล่าทหารสารบรรณ หน้าที่ ดำเนินงานทางด้านเอกสาร : เครื่องหมาย > รูปกระบี่กับปากกาไขว้ประกอบกับหนังสือ

11. เหล่าทหารการเงิน หน้าที่ ดูแลด้านการเงิน : เครื่องหมาย > รูปกระบี่ไขว้ประกอบกับช้างสามเศียร

12. เหล่าทหารพระธรรมนูญ หน้าที่ ควบคุมปฏิบัติตามกฎหมายแบบธรรมเนียมทหาร : เครื่องหมาย > รูปพระดุลพ่าห์ประกอบกับจักร

13. เหล่าทหารแพทย์ หน้าที่ รักษาทหารในยามสงครามและยามสงบ : เครื่องหมาย > รูปพญานาคคู่พันคบเพลิง

14. เหล่าทหารแผนที่ หน้าที่ ทำแผนที่ให้กับหน่วยทหาร : เครื่องหมาย > รูปกระบี่ไขว้ประกอบกับกล้องส่อง

15. เหล่าทหารการสัตว์ หน้าที่ ดูแลด้านการเกษตรกรรม : เครื่องหมาย > รูปพญานาคไขว้ประกอบกับเกือกม้า

16. เหล่าทหารดุริยางค์ หน้าที่ ให้ความบังเทิงกับทหาร : เครื่องหมาย > รูปพิณ

17. เหล่าทหารการข่าว หน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวกับการข่าวทางทหาร : เครื่องหมาย > รูปสายฟ้ากับลูกศรไขว้ประกอบกับดาวแปดแฉกบนแผ่นโล่

รายละเอียดหน้าที่เหล่าทหารบก

สำหรับการตัดสินใจเลือกเหล่า

1. ทหารราบ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารราบ
– นักเรียนนายสิบเหล่าทหารราบ (ศร.) รับเฉพาะทหารเกณฑ์ ทบ. ที่ประจำแล้ว 1 ปี ทุกเหล่า หรือเคยประจำการ 1 ปี
– ทหารกองหนุน(เฉพาะจากทหารเกณฑ์ที่ประจำการเหล่าทหารราบไม่น้อยกว่า 1 ปี) และ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

เป็นเหล่าทหารหลักในการรบของกองทัพบก มีหน้าที่เข้าแย่งยึดพื้นที่ซึ่งทหารเหล่าอื่น ๆ มาสามารถกระทำได้ โดยใช้อาวุธประหน่วยทหารราบหรือด้วยความช่วยเหลือของทหารเหล่าอื่น เนื่องจากเหล่าทหารราบเป็นเหล่าที่เคลื่อนที่ด้วยเท้าได้ทุกภูมิประเทศและฤดูกาล ไม่จำกัดดินฟ้าอากาศ ทำการรบได้ทุกภูมิประเทศและเหตุการณ์ จึงมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทำการสังหารหรือจับข้าศึกที่ยึดพื้นที่อยู่ ขับไล่ ไล่ติดตาม หรือทำให้ข้าศึกอลหม่าน

นอกจากนี้เป็นเหล่าที่มีจำนวนทหาร อาวุธ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการรบมาก บางครั้งสามารถทำการรบได้ โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทหารเล่าอื่น จึงมีหน้าที่ในการยึดและรักษาพื้นที่ซึ่งเข้าครอบครองไว้โดยไม่ยอมถอนตัว แม้ว่าในปัจจุบันจะมียานยนต์และอาวุธต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม หน้าที่ของทหารราบก็ยังมีความสำคัญอยู่เช่นเดิม

2. ทหารม้า กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารม้า
– ทหารกองหนุน(เฉพาะจากทหารเกณฑ์ที่ประจำการเหล่าทหารม้าไม่น้อยกว่า 1 ปี) ที่สอบบรรจุส่วนกำลังรบ และ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท แต่ละประเภทมีหน้าที่แตกต่างกันดังนี้

2.1 ทหารม้ารถถัง มีหน้าที่ดำเนินกลยุทธ์ เข้าประชิดและทำลายข้าศึกโดยใช้คุณลักษณะ ดังนี้ มีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ , มีเกราะป้องกันตนเอง , มีอำนาจการยิงที่รุนแรง , มีอำนาจการทำลายและข่มขวัญ

2.2 ทหารม้าลาดตระเวนไม่ว่าจะเป็นกองพันทหารม้ายานยนต์ และกองพันทหารม้าลาดตระเวน จะมีหน้าที่ในการปฏิบัติการลาดตระเวนและระวังป้องกันให้กับหน่วยเหนือและหน่วยที่ไปขึ้นสมทบโดยทำการรบด้วยวิธีการรุก ราบและรบหน่วงเวลา

2.3 ทหารม้าบรรทุกยานเกราะ เป็นหน่วยที่มีหน้าที่ดำเนินกลยุทธ์หลัก โดยมียานยนต์สายพานหุ้มเกราะ หรือยานหุ้มเกราะอื่นใดนอกเหนือจากรถถังเป็นยานรบหลัก ทำการรบบนยานพาหนะเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารม้ารถถังโดยตลอด จะลงรบบนดินต่อเมื่อมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินกลยุทธ์ทางพื้นดิน เพื่อชดเชยจุดอ่อนของทหารม้ารถถังเท่านั้น

3. ทหารปืนใหญ่ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารปืนใหญ่
– ทหารกองหนุน(เฉพาะจากทหารเกณฑ์ที่ประจำการเหล่าทหารปืนใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 ปี) ที่สอบบรรจุส่วนกำลังรบ และ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ทำการรบด้วยอำนาจการยิง จึงมีหน้าที่ช่วยเหลือทหารราบในการยิงฉากเพื่อให้ทหารราบปฏิบัติการได้สะดวก นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ยิงช่วยโดยตรง และยิงคุ้มครองทหารราบในการเข้าตีดังนั้นทหารปืนใหญ่กับทหารราบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติการร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น และยังมีทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ซึ่งมีหน้าที่ทำการร่วมกับเครื่องบินขับไล่ป้องกันภัยทางอากาศ หรือสถานที่และตำบลสำคัญทางพื้นดิน หรืออากาศยานของเราและทำการยิงนำให้เครื่องบินของเราเห็นเครื่องบินข้าศึกในเวลากลางคืน อาจใช้ไฟฉายช่วยก็ได้

4. ทหารช่าง กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารช่าง
– ทหารกองหนุน(เฉพาะจากทหารเกณฑ์ที่ประจำการเหล่าทหารช่างไม่น้อยกว่า 1 ปี) ที่สอบบรรจุส่วนกำลังรบ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
– บุคคลทั่วไปวุฒิปวช.ด้านช่างที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก และสอบกับกรมการทหารช่างโดยตรง และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านวิศวกรรม วิทย์คอม สถาปัตย์)

เป็นเหล่าทหารเทคนิคในการช่าง จึงมีหน้าที่ในการสร้างดัดแปลงซ่อมแซมถนนและสะพาน ฯลฯ และงานทั้งปวงที่จะต้องจัดและเตรียมการนอกจากนี้ทหารช่างสามารถทำการรบร่วมกับทหารราบในการเข้าตีที่มั่นถาวรหรือที่มั่นดัดแปลงอย่างแข็งแรงของข้าศึกได้

5. ทหารสื่อสาร กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารสื่อสาร
– ทหารกองหนุน(เฉพาะจากทหารเกณฑ์ที่ประจำการเหล่าทหารสื่อสารไม่น้อยกว่า 1 ปี) ที่สอบบรรจุส่วนกำลังรบ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
– บุคคลทั่วไปวุฒิปวช.ด้านช่างที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก และสอบกับกรมการทหารสื่อสารโดยตรง และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านวิศวกรรม คอม ไฟฟ้า อิเล็กฯ)

มีหน้าที่ในการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่น วิทยุ โทรศัพท์ ทัศนสัญญาณ การนำสาร ฯลฯ

6. ทหารขนส่ง กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารขนส่ง
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
– บุคคลทั่วไปวุฒิม.6/ปวช.ด้านช่างที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านวิศวกรรมยานยนต์ เครื่องกล ฯลฯ)

มีหน้าที่ลำเลียงโดยตรงและลำเลียงเพิ่มเติม โดยใช้รถไฟ รถยนต์ เรือ สัตว์ต่าง ๆ ฯลฯ และอาจได้รับมอบให้ควบคุมป้องกัน รักษาหน่วยลำเลียงด้วย

7. ทหารสรรพาวุธ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารสรรพาวุธ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
– บุคคลทั่วไปวุฒิปวช.ด้านช่างที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก ปละสอบกับกรมสรรพาวุธทหารบกโดยตรง และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านวิศวกรรมยานยนต์ เครื่องกล ฯลฯ)

มีหน้าที่พิจารณาคิดค้นอาวุธยุทธโธปกรณ์ จะทำประโยชน์ให้แก่ราชการ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ตรวจ เก็บรักษา แนะนำและแก้ไขซ่อมแซมอาวุธต่าง ๆ ให้ใช้การได้อยู่เสมอ

8. ทหารพลาธิการ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารพลาธิการ
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
– บุคคลทั่วไปวุฒิม.6/ปวช.ที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านวิศวกรรมเครื่องกล อุตสาหการ การผลิต เคมี ฯลฯ)

มีหน้าที่ในการเลี้ยงดู บำรุงหน่วยทหารให้ได้รับความสุขสมบูรณ์ในเรื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ มีหน้าที่ในการเพิ่มกำลังและส่งกำลัง เก็บรักษาจ่ายของประจำหน่วยทหาร และอาวุธกระสุน

9. ทหารสารวัตร กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารสารวัตร
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
– บุคคลทั่วไปวุฒิม.6/ปวช.ที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก
– ทหารกองหนุนเพศชาย ที่สอบเป็นพลสารวัตร (ทหารอัตราพลอาสาสมัครรับราชการจนเกษียณ) และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(รับเฉพาะเพศชาย วุฒินิติศาสตร์เท่านั้น)

มีหน้าที่เกี่ยวกับการสารวัตรทหาร กิจการเชลยศึกรักษาความสงบเรียบร้อยและระเบียบวินัยทหาร, การจราจร, การอพยพของหลบภัย ป้องกัน สืบสวนและสอบสวนอาชญากรรมในกองทัพบก จับกุมผู้ขาดหนีราชการ

10. ทหารสารบรรณ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– บุคคลทั่วไปวุฒิปวช.ที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนตามหน่วยของกองทัพบก (พวกตำแหน่งเสมียนต่างๆ) และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ บริหาร การจัดการ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ)

มีหน้าที่ดำเนินงานธุรกิจ การรับ – ส่ง แยกหนังสือราชการ การบรรจุ เลื่อน ปลดและย้ายตำแหน่ง การเบี้ยหวัด การบำเหน็จบำนาญ และลงทัณฑ์ และประวัติการโต้ตอบ การพิมพ์โฆษณา การกฎหมาย การสัสดี และหน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับมอบ

11. ทหารการเงิน กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารการเงิน
– บุคคลทั่วไป วุฒิปวช.ด้านพณิชยการทุกสาขา ที่เรียนบัญชีไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยกิตที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนของกรมการเงินทหารบก และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิด้านการเงิน การบัญชี การธนาคารเท่านั้น)

มีหน้าที่เบิกจ่ายเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เงินค่าใช้สอยต่าง ๆ มีหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายของหน่วยทหารให้เป็นไปตามระเบียบแบบธรรมเนียมของทหารด้วย

12. ทหารพระธรรมนูญ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– ทหารสังกัดกองทัพบก จะเปิดสอบภายใน (ส่วนใหญ่รับเพศชาย จะเป็นวุฒินิติศาสตร์เท่านั้น)
– บุคคลทั่วไป วุฒิปริญญาตรีนิติศาสตร์และเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.

มีหน้าที่ควบคุมปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบแบบธรรมเนียมของทหาร ดำเนินการไปในกระบวนยุติธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นแก่บุคคลหรือทหารและหน่วยทหาร ในการพิจารณาฟ้องร้อง ตัดสินพิจารณาไปตามตัวบทกฎหมายนั้น ๆ

13. ทหารแพทย์ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารแพทย์
– นักเรียนแพทย์ทหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
– นักเรียนพยาบาลกองทัพบก
– บุคคลทั่วไปวุฒิม.6/ปวช.ที่สอบบรรจุทหารชั้นประทวนของกรมแพทย์ทหารบก และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิเภสัช กายภาพบำบัด รังสี ทันตะกรรม โภชนาการ วิทยาศาสตร์การอาหาร เทคนิคการแพทย์ จิตวิทยา และสังคมสงเคราะห์)

มีหน้าที่ในการรักษาพยาบาล ทั้งในยามปกติและยามสงคราม ทั้งมีหน้าที่ตรวจตราการสุขาภิบาล และการอนามัยของหน่วยทหารตลอดจนการควบคุมและแนะนำในเรื่องการรักษาพยาบาล เพื่อให้มีกำลังสำหรับปฏิบัติเต็มตามอัตราอยู่เสมอ

14. ทหารแผนที่ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบแผนที่
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิวิศวกรรมสำรวจ)

มีหน้าที่ทำแผนที่ตำบลต่าง ๆ ให้แก่หน่วยทหาร เพื่อใช้ในการเดินทางและดำเนินกลยุทธ์ได้ตามภูมิประเทศและสำรวจเส้นทางแก้ไขเพิ่มเติมราละเอียดในแผนที่ของตำบลต่าง ๆ ให้ถูกต้องตรงกับภูมิประเทศที่เป็นจริงอยู่เสมอ

15. ทหารการสัตว์ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารการสัตว์
– บุคคลทั่วไปวุฒิม.3-ม.6/เทียบเท่าที่สอบบรรจุเป็นพลอาสาสมัครและทหารชั้นประทวนของกรมการสัตว์ทหารบก และ
– บุคคลทั่วไปวุฒิป.ตรี-โทที่สอบบรรจุทหารชั้นสัญญาบัตรของทบ.(จะเป็นวุฒิสัตวศาสตร์ เกษตรศาสตร์)

มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดความต้องการ การผลิต การจัดหา การส่งกำลังบำรุง การบริการส่งกำลังสายการสัตว์ การบำรุงและผสมพันธุ์สัตว์ การเสบียงสัตว์ สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารด้วยการใช้สัตว์และการเกษตรของกองทัพบก

16. ทหารดุริยางค์ กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนดุริยางค์ทหารบก
– บุคคลทั่วไปวุฒิม.3-6 ที่สอบเป็นพนักงานราชการแล้วได้บรรจุภายหลัง และ
– บุคคลทั่วไปเพศชาย(บางครั้งรับเฉพาะทหารกองหนุน) วุฒิม.3ที่สอบบรรจุเป็นพลดุริยางค์(พลอาสาสมัคร)

มีหน้าที่ให้ความบันเทิง เพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดของทหาร และหน่วยทหาร ปลุกใจและบำรุงขวัญทหารด้วยดนตรี เอให้ทหารได้มีกำลังใจและภูมิใจในเกียรติของนักรบและเข้มแข็งในการปฏิบัติหน้าที่

17. ทหารการข่าว กำลังพลด้านนี้มาจาก

– นักเรียนนายสิบทหารบกเหล่าทหารการข่าว
– นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับข่าวทางทหารทั้งปวง และปฏิบัติการพิเศษ ในด้านการข่าว รวมทั้งทูตฝ่ายทหารบก และกิจการต่างประเทศของกองทัพบกกำหนดความต้องการ และกำกับการเกี่ยวกับการแจกจ่ายแผนที่ทหาร

ที่มา The Road To Soldier & Police เส้นทางสู่อาชีพทหาร – ตำรวจ

 

 

เครื่องหมาย

กองทัพไทย (Royal Thai Armed Forces)

เป็นกองทัพของราชอาณาจักรไทย แบ่งเป็นสามเหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ .. วันกองทัพไทย คือ 18 มกราคม ของทุกปี และถือเป็นวันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอีกด้วย เพื่อระลึกในวาระที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่า

เครื่องหมายราชการของกองบัญชาการกองทัพไทย

เครื่องหมายราชการ ของ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม แห่งราชอาณาจักรไทย (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อส่วนราชการเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พุทธศักราช 2551) มีลักษณะดังนี้

เครื่องหมายราชการของกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม เป็น รูปจักร มีสมอขัดในจักร ด้านซ้ายขวามีรูปปีกนกกาง และล้อมรอบทั้งหมดนี้ด้วยช่อชัยพฤกษ์

จักร เป็นสัญญาลักษณ์ของกองทัพบก

สมอ เป็นสัญญาลักษณ์ของกองทัพเรือ

ปีกนกกาง เป็นสัญญาลักษณ์ของกองทัพอากาศ

ช่อชัยพฤกษ์ แสดงความหมายว่า กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นหน่วยรวมการทหารประสานการบังคับบัญชา อำนวยการ และประสานกิจการของกองทัพทั้งสาม ไม่จำกัดขนาดและสี

(หมายเหตุ: สะกดตามต้นฉบับในราชกิจจานุเบกษา) ภาพนี้มีฐานะเป็นเครื่องหมายราชการ กำหนดอยู่ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 56) ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2512 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 86 ตอนที่ 60 วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 หน้า 710

ที่มา rxngxoatoa , ภาพ kokhotokung.blogspot.com

ประมวลภาพ ทัพอากาศ จัดF16 บินอำลา ผบ.สส. เกษียณอายุราชการ

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง