เสาชิงช้า ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ กทม.

Home / สาระความรู้ / เสาชิงช้า ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ กทม.

เสาชิงช้า ในประเทศไทย มีอยู่ 2 แห่ง คือกรุงเทพ และที่นครศรีธรรมราช โดยเสาชิงช้า เป็นสถาปัตยกรรม ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้า ใน พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย ของ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยพิธีนี้ได้เลิกไปแล้วตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เสาชิงช้า สัญลักษณ์ของ กทม.

โดยทั่วไปหมายถึงเสาชิงช้าที่ตั้งอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม และลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ลานคนเมือง) ใกล้กับ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในพื้นที่แขวงเสาชิงช้าและแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ใน ประเทศไทย ยังมีเสาชิงช้าอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ หน้าหอพระอิศวร เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการประกอบพิธีโล้ชิงช้ามาแต่โบราณเช่นกัน แต่ได้เลิกไปก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นใหม่ในภายหลัง โดยจำลองแบบมาจากเสาชิงช้าที่ กรุงเทพมหานคร

ลักษณะเสาชิงช้าที่ กรุงเทพมหานคร

  • เป็นเสาชิงช้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ สูง 21.15 ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ฐานกลมประมาณ 10.50 ม.
  • ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง
  • มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน
  • ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า
  • เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม
  • โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย
  • ทั้งหมดทา สีแดงชาด ติด สายล่อฟ้า จากลวดลายกระจังด้านบนลงดิน

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็น โบราณสถาน สำคัญของชาติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 นับตั้งแต่สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2327 จนถึงการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งล่าสุดซึ่งเสาชิงช้าคู่เดิมถูกถอดเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เสาชิงช้ามีอายุรวมประมาณ 222 ปี

ขอบคุณภาพจาก คุณแนนนี่