อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย และวันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็นวันครอบครัว ดังนั้น ในช่วงเทศกาลดังกล่าวคนส่วนใหญ่จะเข้าไปกราบรดน้ำดำหัวคุณพ่อ-คุณแม่ และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการไปไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษที่เราได้สืบสกุลมานั่นเอง
การเก็บรักษาพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ในราชวงศ์จักรี
แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์เชื้อพระวงศ์นั้น ส่วนใหญ่ก็ทำเฉกเช่นสามัญชนอย่างเราเช่นกัน ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จึงเป็นวันที่ควรจะเคารพสักการะพระบรมอัฐิ รวมไปถึงพระอัฐิของพระมหากษัตริย์แลพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้เสด็จสวรรคตและสิ้นพระชนม์ไปแล้ว เพื่อระลึกนึกถึงคุณงามความดี
โดยที่ การบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ซึ่งจะมีการอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระอัฐิสมเด็จบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า สมเด็จพระบรมราชบุพพการี มาสรงน้ำและสดัปกรณ์ เราสามารถเห็นจากภาพข่าวในโทรทัศน์กันเป็นประจำอยู่ทุกปี วันนี้ แคมปัส-สตาร์ จึงขอนำเสนอสาระน่ารู้ เกี่ยวกับการเก็บรักษาพระบรมอัฐิและพระอัฐิในพระราชวงศ์จักรี
สำหรับ การเก็บรักษาพระบรมอัฐิ สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชนนี และพระอัฐิเจ้านายชั้นบรมราชวงศ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีธรรมเนียมการเก็บรักษาที่แตกต่างจากในสมัยกรุงศรีอยุธยา…
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังเป็นราชธานีอยู่นั้น เมื่อได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระราชทานเพลิงพระศพพระราชวงศ์ชั้นสูงแล้ว จะเชิญพระบรมอัฐิไปบรรจุไว้ ณ ท้ายจรนำพระอุโบสถ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ในพระราชวัง) ส่วนพระอัฐิเจ้านายก็เชิญบรรจุไว้ในพระเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญ์
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเพณีดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงไป เมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เสด็จขึ้นผ่านพิภพ ณ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ได้อัญเชิญพระบรมอัฐสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริว่า “พระองค์เองก็ดี สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราวังบรมสถานมงคลก็ดี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอทั้งสองพระองค์ ยังไม่ทรงกระทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระชนกาธิบดี เพราะบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย หรือถึงแม้ว่าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีแล้ว ก็ยังทรงติดราชการสงครามในการกอบกู้เอกราช สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติ”
เมื่อได้ทรงสร้างราชธานีขึ้นใหม่ บ้านเมืองก็มีความสงบพอสมควรแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกาธิบดี ตามแบบอย่างของการถวายพระเพลิงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงศรีอยุธยา (เป็นการถวายพระเพลิง ณ ท้องสนามหลวง ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์)
หลังจากทรงถวายพระเพลิงแล้ว ทรงพระราชปรารภว่า “พระบรมอัฐินั้นถ้าอัญเชิญไปบรรจุท้ายจรนำในพระอุโบสถ หรือที่พระเจดีย์ในพระอารามหลวงในพระราชวัง เหมือนธรรมเนียมอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา แม้จะเป็นพระเกียรติยศและเปิดโอกาสให้ปวงชนได้สักการบูชาก็จริงอยู่ แต่กรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนั้นเพิ่งจะสถาปนาใหม่ ยังไม่มั่นคงแข็งแรงนัก หากมีข้าศึกศัตรูรุกรานจนไม่สามารถรักษาพระนครไว้ได้ การอพยพหลบหนีไปไม่ว่าจะเป็นเวลานานหรือชั่วคราว ก็จะต้องทิ้งกระดูพระบรมราชบุพการีไว้ให้ถูกเหยียบย่ำทำลาย”
ฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิไว้พระราชมณเฑียรที่ประดับ เพื่อที่จะได้หยิบฉวยติดพระองค์ได้ง่าย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสำหรับพระดิษฐานพระบรมอัฐิ คือ “หอพระธาตุมณเฑียร” จากการที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระธาตุมณเฑียรไว้นั้น พระมหากษัตริย์ ในรัชกาลต่อๆ มาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระราชบุรพการีประดิษฐานไว้ ณ หอพระบรมอัฐิ บนพระราชมณเฑียรสืบต่อกันมาเป็นราชประเพณี
มาถึงรัชสมัย ในหลวงรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” เพื่อทรงรำลึกถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ จากหอพระธาตุมนเฑียรขึ้นประดิษฐานในพระวิมาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงเป็นธรรมเนียมที่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สืบต่อกันมาทุกรัชกาล
การเก็บรักษาพระอัฐิในพระราชวงศ์จักรี
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จะมีที่การประดิษฐานพระบรมอัฐิแลพระอัฐิของราชวงศ์จักรี หลังจากที่ได้มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพแล้วนั้น จะต้องดูว่าพระองค์นั้นทรงมีพระอิสริยยศในชั้นใดแล้ว จึงนำไปประดิษฐานในสถานที่นั้นๆ ตามพระเกียรติ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้
1. หอพระธาตุมณเฑียร
เป็นหอประดิษฐานพระบรมอัฐิ ตั้งอยู่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ จะมีพระวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ รวมไปถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย ได้แก่
– พระวิมานกลาง จะเป็นพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 รวมไปถึง พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกผู้เป็นพระราชบิดาในรัชกาลที่ 1 อีกด้วย
– ทางพระวิมานด้านขวา เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนนีพระราชชนนี ในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 1 และ สมเด็จพระศรีสุริเยนต์ทรามาตย์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2
– ทางพระวิมานด้านซ้าย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าแก้ว กรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสา กรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนี ในรัชกาลที่ 3
2. พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
– พระวิมานทองกลาง พระที่นั่งองค์กลางชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 8 รวมไปถึงสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระบรมราชวงศ์จักรีชั้นสูงอีกหลายพระองค์ด้วยกัน
– ในส่วนพระที่นั่งจักรีฯ ทางด้านชั้นบนพระที่นั่งองค์ตะวันตก เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่
ซึ่ง ทั้ง 2 สถานที่ที่ได้พูดถึงข้างต้นนั้น เป็นสถานที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปข้างในได้ (โดนเฉพาะพระวิมานทองพระที่นั่งจักรีฯ ซึ่งเป็นสถานที่ลับสุดยอดที่สุดในพระบรมมหาราชวังก็ว่าได้ เพราะน้อยคนนัก ที่จะรู้ว่าสถานที่นั้นมีลักษณะอย่างไร)
3. การเก็บรักษาพระอัฐิ “หอพระนาก”
สำหรับ สถานที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหาอุปราช (รวมไปถึงพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระราชโอรสพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์พระบรมวงศ์ชั้นสูงในราชวงศ์จักรี ส่วนใหญ่จะประดิษฐานใน “หอพระนาก วัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม” ซึ่งเป็นสถานที่รวมพระบรมอัฐิมากที่สุดในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังต่อมา การเก็บรักษาพระอัฐิของเจ้านายต่างๆ นั้นจะเก็บไว้ในวังของเจ้านายในราชสกุลนั้นๆ วัดหลวงต่างๆ รวมไปถึงคนในราชสกุลนั้นก็สามารถที่จะเก็บรักษาเอาไว้เองได้เช่นกัน โดยพระโกศในหอพระนากมีจำนวน 261 พระโกศ ซึ่งถูกแบ่งเป็นหมู่ ดังต่อไปนี้
- พระบวรราชเจ้า 4 พระโกศ
- กรมพระราชวังบวรและพระปฐมวงศ์ 15 พระโกศ
- พระมเหสีในรัชกาลที่หก 3 พระโกศ
- พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่หนึ่ง 23 พระโกศ
- พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สอง 43 พระโกศ
- พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สาม 36 พระโกศ
- พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สี่ 61 พระโกศ
- พระราชโอสรธิดาในรัชกาลที่ห้า 44 พระโกศ
- พระสัมพันธวงศ์เธอ 13 พระโกศ (พระโกศของชั้นหลานหลวงในวังหลวง วังหน้า วังหลัง อีกจำนวนหนึ่ง)
4. การเก็บรักษาพระอัฐิ ท้ายจรนำพระอุโบสถ วัดชนะสงคราม
สำหรับ ท้ายจรนำพระอุโบสถ วัดชนะสงคราม เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเจ้านายพระราชโอรสและพระราชธิดา ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอยู่ในห้องหลังพระประธาน ผนังกำแพงห้องด้านที่ติดกับพระประทาน ก่อเป็นซุ้ม 5 ซึ่งแต่ละซุ้มมีช่องสำหรับประดิษฐานพระอัฐิ และมีแผ่นหินอ่อนจากรึกพระนามติดอยู่
วัดที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคาร พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
รัชกาลที่ 1 ประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
รัชกาลที่ 2 ประดิษฐาน วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร
รัชกาลที่ 3 ประดิษฐาน วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 4 ประดิษฐาน วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 5 ประดิษฐาน วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ 6 ประดิษฐาน ไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่วัดพระปฐมเจดีย์
รัชกาลที่ 7 ประดิษฐาน ไว้ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
รัชกาลที่ 8 ประดิษฐาน วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรวิหาร
สาระน่ารู้ส่งท้าย…
คำว่า พระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ หมายถึง กระดูก (ที่ถูกเผาแล้ว)
คำว่า พระบรมราชสรีรางคาร พระราชสรีรางคาร หรือพระสรีรางคาร หมายถึง ขี้เถ้านอกจากกระดูกเป็นส่วนที่เหลือหลังจากการถวายพระเพลิง
ข้อมูลและภาพ : http://oknation.nationtv.tv, ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บทความแนะนำ
- โกษาปาน จากหัวหน้าคณะราชทูตไทย สู่เทียดในรัชกาลที่ 1 ราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- พระปีย์ หรือ อ้ายเตี้ย โอรสบุญธรรม ที่พระนารายณ์ทรงรักมาก
- สมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์ผู้ทรงปฏิรูปการปกครองขึ้นใหม่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
- การทำรัฐประหารของ พระเพทราชา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
- ทำไมพระนารายณ์ ถึงสั่งเฆี่ยน “โกษาเหล็ก”