พระนางศุภยาลัต พระราชินีพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อลองพญา พระองค์มีพระนามจริงว่า ศรีสุริยประภารัตนเทวี (Sri Suriya Prabha Ratna Devi) ด้วยความทะเยอทะยานของพระนางศุภยาลัต พระนางจึงได้เป็นพระราชินีในพระเจ้าธีบอ พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งพม่า พระประวัติ ประสูติ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2402 สิ้นพระชนม์ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระอิสริยยศ : สมเด็จพระราชินีแห่งพม่า พระนางศุภยาลัตมีพระเชษฐภคินี คือพระนางศุภยาคยี และมีพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงศุภยากเล
พระนางศุภยาลัต ราชินีแห่งพม่า
พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) พระราชินีศุภยาลัต (กลาง) และพระกนิษฐาของพระนาง คือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย) ที่พระราชวังหลวง เมืองมัณฑะเลย์ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1885 // ไม่ทราบผู้ถ่าย
อุปนิสัยพระนางศุภยาลัต
พระนางมีลักษณะเหมือนพระราชมารดา (พระนางอเลนันดอ) คือ มีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง เชื้อสายดั้งเดิมเป็นสามัญชน เนื่องจากยายของพระนางเป็นแม่ค้าขายของในตลาดมาก่อน โดยพระเจ้าบาจีดอ (พระเจ้าจักกายแมง) รับเอามาเป็นนางสนม ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าบาจีดอยังดำรงพระยศเป็นเจ้าชาย
พระเจ้ามินดง พระราชบิดาของพระนางศุภยาลัตนั้น มีเจ้าฟ้านยองยาน กับเจ้าฟ้านยองโอ๊กที่พอจะมีความสามารถขึ้นครองราชย์ เพราะทั้งสองพระองค์เรียนจบโรงเรียนฝรั่ง มีความฉลาดและเข้มแข็งพอสมควร แต่พระนางอเลนันดอและขุนนางเห็นว่าจะคุมได้ยาก จึงเลือกเจ้าชายสีป่อที่อ่อนแอกว่า โดยบวชเป็นพระมาตลอด นิสัยเชื่องช้า หัวอ่อน และพระเจ้ามินดงเองก็เกรงพระทัยมเหสีรอง จึงไม่ได้ตั้งเจ้าฟ้าพระองค์ใดเป็นรัชทายาทโดยเด็ดขาด
เมื่อพระเจ้ามินดงทรงพระประชวรหนัก..
พระนางอเลนันดอ (พระมารดา) จึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าสีป่อเป็นรัชทายาท ไล่จับกุมบรรดาเจ้าฟ้าและขุนนางในฝ่ายอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเองใส่คุกไปมากมาย ต่อมาเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ให้เจ้าฟ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า
พระราชวังมัณฑะเลย์ ในปัจจุบัน หอคอยแดงที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปชมวิว / ค่าเข้าชมพระราชวังแห่งนี้คือ 1 หมื่นย๊าด หรือประมาณ 250 บาท ก่อนเข้าประตูพระราชวังต้องจอดรถและจูงรถเข้าไป มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อ่านได้ที่นี่ค่ะ > พระราชวังมัณฑะเลย์
การสังหารหมู่ดังกล่าว ใช้เวลาอยู่ 3 วัน
พองานพระบรมศพพระเจ้ามินดงเสร็จสิ้นลง ซึ่งก็ใช้เวลาเพียง 7 วันก็บรรจุพระบรมศพแล้ว พระนางศุภยาลัตทรงโปรดให้จัดงานปอยหลวงขึ้นสามวันสามคืนอย่างครึกครื้น นัยว่าจะให้ชาวเมืองลืมความทุกข์โดยการมาเที่ยวงานให้สนุก อันที่จริงนั้นก็เพื่อจะกลบเกลื่อนกรรมพิธีที่จะเริ่มต้นการสังหารหมู่บรรดาเจ้าพี่และเจ้าน้องของตัวเองทั้ง 30 องค์ รวมถึงเจ้าจอมมารดา ขุนนาง และบริวารรวมทั้งสิ้น 125 คนด้วย เจ้านายองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระภคินีขนิษฐาและบรรดาโอรสธิดาของเจ้านายองค์นั้นก็โดนประหารไปด้วย
ที่ต้องใช้เวลาอยู่ถึง 3 วันในสังหารผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมด ก็เพราะต้องลงมือฆ่าเฉพาะในเวลากลางคืน เมื่อแดดร่มลมตกผู้คนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวงาน ละครเริ่มออกโรง ดนตรีปี่พาทย์บรรเลงดังที่เข้าที่แล้วก็จะช่วยกลบเสียงโหยหวลของมนุษย์ที่กำลังเผชิญกับความตาย พระเจ้าสีป่อเองก็ถูกมอมให้เสวยแต่น้ำจัณฑ์จนเมามายลืมโลก จะได้ไม่ต้องสนใจการสังหารหมู่ครั้งนั้น
ครั้นได้เวลาประมาณ 7 วัน ซากที่อยู่ข้างใต้ก็ขึ้นอืดเต็มที่ เกิดแกสดันดินที่กลบหลุมอูดขึ้น ส่งกลิ่นผีเน่าตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง พระนางศุภยาลัตทรงโกรธกริ้วเป็นอย่างยิ่ง สั่งให้เอาช้างหลวงทั้งโขลงมาเดินเหยียบย่ำ ดินก็ยุบลงไปชั่วคราว พอแกสสะสมตัวได้ใหม่ก็ดันดินอูดขึ้นใหม่ กลิ่นผีเน่าก็ฟุ้งออกมาอีก ต้องเอาช้างมาเหยียบอัดกันอย่างนี้อยู่หลายวัน จนในที่สุดพระนางศุภยาลัตก็ทนกลิ่นไม่ได้ สั่งให้ขุดเอาซากที่เหลือทั้งหมดนั้นใส่เกวียนไปฝังเสียยังนอกเมือง ความลับทั้งปวงก็แตก ชาวบ้านชาวเมืองรู้กันทั่วทันทีที่เกวียนออกจากประตูวังผ่านไป ข่าวรั่วออกไปถึงหูอังกฤษที่วางสปายไว้ทั่ว หลังจากนั้นไม่นานสถานทูตอังกฤษในย่างกุ้งก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะช่วยชาวพม่ากำจัดอธรรม และเริ่มบีบกรงเล็บทีละน้อยๆ :> รูปพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่า
*ขณะเดียวกันในประวัติศาสตร์พม่านั้น เชื่อว่าพระนางอเลนันดอ และเกงหวุ่นเมงจีอยู่เบื้องหลังการสั่งฆ่าโอรสธิดา
การสูญสิ้นอำนาจ พระนางศุภยาลัต…
พระนางศุภยาลัตและแตงดาวุ่นกี้ ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่า ประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบตัดไม้ เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี อังกฤษก็ไม่พอใจยื่นประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่ต่อมาเกิดเรื่องเข้าจริงๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง
วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด และพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมดฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า ซึ่งขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าได้ทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญายันดาโบ
พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสี จึงสั่งให้เตรียมพลไปรบ อังกฤษก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งฝรั่งและอินเดียเคลื่อนพลเข้ารบ จากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิรวดีถึงมัณฑะเลย์ ใช้เวลาแค่ 14 วันก็ยึดเมืองหลวงได้
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ติด.. แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือราษฎรไม่คิดจะต่อสู้ เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมืองจึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก เนื่องจากกษัตริย์และมเหสี ไม่เคยทำตนให้เป็นที่รักของประชาชนพม่าของพระองค์เอง
บรรยากาศท่าเรือ ขณะคุมตัวกษัตริย์พม่า
พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตจึงถูกเชิญให้ไปยังเมืองรัตนคีรี ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเอกราชของพม่า และการปกครองโดยราชวงศ์อลองพญาที่มีอย่างยาวนาน
ถูกเชิญออกนอกประเทศ
ขณะที่พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตถูกเชิญออกนอกประเทศเชิงกักกัน ที่เมืองมัทราส ราว 2-3 เดือน ภายหลังจึงส่งไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรี พระนางศุภยลัตเกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอ (พระมารดา) จนพระนางอเลนันดอต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับ โดยคุมตัวไว้ที่เมืองเมาะลำเลิง จนสิ้นพระชนม์
พระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยาลัต ถูกเนรเทศอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอจึงสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง พระนางจึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ย่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้นฝังไว้ที่อินเดีย
พระราชวังธีบอ ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย ที่ประทับของพระเจ้าธีบอหลังสิ้นสุดอำนาจ เป็นเมืองเล็กๆ ทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์ (มุมไบในปัจจุบัน) / Thebaw Palace, Ratnagiri India. Cr : www.mouthshut.com
ภาพเพิ่มเติม พระราชวังธีบอ อินเดีย ที่ประทับของพระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัต
พระนางศุภยาลัต คืนสู่พม่า…
ต่อมาพระนางได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง ทรงเคียดแค้นขุนนางพม่าที่ไปเข้ากับอังกฤษ ตรัสบริภาษอยู่เป็นประจำ
มีฝรั่งเขียนเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า เมื่อพระนางแก่ตัวเข้าและรู้สำนึกในชีวิตแล้ว ทรงสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร ทรงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน และเสียพระทนต์ทั้งหมด
พระนางอยู่ในตำหนัก ที่อังกฤษจัดถวายให้ในเมืองย่างกุ้ง 10 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระศพก็เป็นไปตามยถากรรม ไม่ได้มีพิธีรีตองมากมายไม่ต่างจากคนทั่วไป
ปัจจุบันยังมีที่ฝังพระศพอยู่ในย่างกุ้ง โดยรัฐบาลอังกฤษจัดการพระศพให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระศพขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑปบรรจุพระอัฐิเท่านั้น
กู่มณฑปบรรจุพระอัฐิของพระนางศุภยาลัต และพระนัดดา
ปัจจุบันนี้อยู่ที่ ถนนเจดีย์ชเวดากอง (Shwe Dagon Pagoda Rd.) ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากองมาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในกรุงมัณฑะเลย์ ที่ฐานล่างมีแผ่นจารึกแผ่นเล็กของตอปยากะเล (Taw Payar Kalay) หรือออง ซาย (Aung Zay) ซึ่งเป็นพระราชนัดดา
หลุมฝังศพ พระเจ้าธีบ่อ ที่อินเดีย
พระบรมศพพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยา : Tombs of Thibaw and Suphayagale in India.
ภาพจาก บทความ Returning the king who never came home : > tonywheeler.com.au/ratnagiri-king-thibaw : >อ่านเพิ่มเติม , พระบรมศพพระเจ้าสีป่อ
ภาพเก่าเล่าเรื่อง..
พระเจ้าสีป่อกับพระมเหษีทั้งสองศรีพี่น้อง ภาพจาก www.reurnthai.com
พระราชธิดาทั้งสี่ของพระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัต
จากซ้าย : พระราชธิดาองค์ที่สี่ เจ้าหญิงเมียะพยากเล, พระราชธิดาองค์ที่หนึ่ง เจ้าหญิงเมียะพยาจี, พระราชธิดาองค์ที่สาม เจ้าหญิงเมียะพยา และพระราชธิดาองค์ที่สอง เจ้าหญิงเมียะพยาลัต หรือ เจ้าหญิงมยะพะยาละ ภาพจาก Myanmar Historical Archive
หุ่นจำลอง พระเจ้ามินดง-พระนางอเลนันดอ
บันทึกเกี่ยวกับการสังหารหมู่ .. ที่แตกต่าง
อันแรกเป็นของฝรั่ง กล่าวว่า คนสั่งเชือดคือศุภยาลัต ฝรั่งใช้เหตุการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งในข้ออ้างเข้ายึดพม่าเป็นเมืองขึ้นเนื่องจากถูกปกครองโดยคนร้ายๆ แรงๆ ส่วนมากเราจะได้ยินเรื่องราวจากฉบับแรกเนื่องจากแพร่หลายกว่า
อันหลังเป็นของพม่า กล่าวว่าคนลงมีดจริงๆ เป็นแม่ของศุภยาลัตจับมือกับขุนนางในนั้น ไล่เชือดเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ แล้วยกเจ้าสีป่อขึ้นมา มีคนอ้างว่า เจ้าสีป่อกับพระนางศุภยาลัต ยังไปขอแม่ให้ไว้ชีวิตเจ้านายที่ยังเด็กๆ แดงๆ อยู่เลย (อันนี้ค่อนข้างมีมูล เพราะการไล่ฆ่าคนค่อนวังเป็นงานใหญ่ ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตเพิ่งจะ 19-20 ไม่น่ามีกำลังภายในขนาดนั้น)
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายพูดเหมือนกันอยู่เรื่อง คือเรื่องความอภิมหาหึงพระสวามีของพระนาง ความขี้หงุดหงิดด่ากราดประหนึ่งมนุษย์เมนส์ (เหตุการณ์ไล่กรมวังไปนุ่งโสร่งนี่เรื่องจริงนะ) และวีรกรรมการกันซีนนางเล็กนางน้อยตลอดเวลาที่อยู่ในราชสมบัติ ถ้าเธอเป็นชะนีและอยู่ชายคาเดียวกับฉัน เธอคือศัตรู / โดย สมาชิกหมายเลข 2757855 26 กันยายน 2560 เวลา 23:32 น.
พระนางอเลนันดอ
พระนางชินพยูมาชิน (Hsinbyumashin ; นางพญาช้างขาว) หรือที่รู้จักกันในนามพระนางอเลนันดอ
พระนางศุภยาจิ พระขนิษฐา และพระราชมารดา พระนางอเลนันดอ* พระมเหสีของพระเจ้ามินดงกษัตริย์องค์ก่อน ที่ว่ากันว่าพระราชมารดานี่แหละ ที่เป็นผู้วางแผนชิงอำนาจราชบัลลังก์พม่า ที่ทำให้ต้องมีการปลงพระชนม์เจ้านาย ซึ่งเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องร่วมพระบิดาของพระเจ้าสีป่อ ทั้งลูกเมียรวมร้อยกว่าศพ แต่คนปวงเห็นว่าเป็นบาปของพระนางศุภยาลัต อ่านเรื่องราวพระนางเพิ่มเติม : > พระนางอเลนันดอ พระมารดาของพระนางพระนางศุภยาลัต <: ได้ที่นี่ ภาพจาก www.reurnthai.com
อ่านเพิ่มเติม : [รากนครา] เรื่องเล่าจากนางกำนัลตัวจริงที่เคยรับใช้พระราชินีศุภยาลัต (เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย)
-ประวัติศาสตร์ เป็นบันทึกเรื่องราวในอดีต บางอย่างข้อมูลอาจถูกบิดเบือน บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องจริง ทั้งนี้เราต้องค้นคว้าจากหลายๆ แหล่งข้อมูลเพื่ออ้างอิง เรื่องราวที่บันทึกในวิกิพีเดียอาจจะไม่ใช่เรื่องถูกต้อง หรือผิดไปเสียทั้งหมด ข้อมูลที่เรานำมาเสนอวันนี้เป็นข้อมูลที่ได้ค้นคว้าหาจากในอินเตอร์เน็ตเช่นกัน ดังนั้นขอให้อ่านกันด้วยการคิดวิเคราะห์และพิจารณา ก่อนปักใจเชื่อในเรื่องเหล่านั้น ทั้งนี้หากมีผิดพลาดประการใด เราขออภัยมา ณ ที่นี้ และพร้อมจะแก้ไขตามคำแนะนำค่ะ
ที่มา wikipedia.org/wiki/พระนางศุภยาลัต
ภาพประกอบ : burmabooks.webs.com , ภาพประวัติศาสตร์พม่า , www.nirvanapeace.com
เรียบเรียงโดย Campus-Star.com
บทความแนะนำ
- พระราชวังธีบอ อินเดีย ที่ประทับของพระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัต หลังสิ้นสุดอำนาจ
- บั้นปลายชีวิต พระนางศุภยาลัต | ฉันไม่ได้ฆ่าพวกเจ้าฟ้าชาย
- พระราชวังมัณฑะเลย์ ความงดงามกับเรื่องราวประวัติศาสตร์น่าเศร้าใจ
- พระนางอเลนันดอ พระราชมารดาของพระนางพระนางศุภยาลัต
- เที่ยวพม่า แวะพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ชมสีหาสนะบัลลังก์ของจริง จาก มัณฑะเลย์
- รากนครา 2017 รวมภาพนักแสดง สวยหล่อดูมีมนต์ขลัง น่าดูมาก!
- ประวัติศาสตร์พม่า เขียนโดย หม่องทินอ่อง (อ่านฟรี แบบ PDF โดย MBookStore)