วิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ อาคารสูง – ข้อควรปฏิบัติ และข้อห้ามที่ไม่ควรทำ

อัคคีภัย ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และบ่อยครั้งเราก็มักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ตามอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคอนโด ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และยังรวมถึงอาคารสูงที่เป็นสำนักงานของบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ อีกด้วย

วิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้

ซึ่งมีพื้นที่ในการใช้งานที่กว้างขวางและความสูงของอาคารนี่เอง ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ได้รับอันตรายเป็นอย่างมากเมื่อเกิดเหตุอันตรายอย่างกรณีไฟไหม้ อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์อันตรายขึ้นการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ก็ทำได้ยากตามไปด้วย

ดังนั้น ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จึงได้รวบรวมข้อควรรู้ในการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้และข้อห้ามที่เราไม่ควรทำโดยเด็ดขาดขณะเกิดไฟไหมมาฝากกัยคนค่ะ เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการสำลักควัน เนื่องจากไม่มีความรู้ในการอพยพหนีไฟอย่างถูกวิธีนั่นเอง

สิ่งต้องห้าม! ที่ไม่ควรทำเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้

1. ห้ามหนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ อาจทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้

2. ไม่ควรขึ้นไปอยู่ชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ด้านบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ** ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพลงสู่ชั้นล่างได้

3. ไม่ควรเข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร เช่น ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ

4. กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าออกหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ (ห้ามวิ่งอย่างเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้นทำให้ดับไฟได้ยาก)

5. อย่านําสิ่งของขนาดใหญ่ติดตัวไปด้วย ขณะอพยพหนีไฟ

6. ห้ามใช้ลิฟต์ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ได้

7. ไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยขึ้นมาปกคลุม จึงเสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิต

8. ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟคลอกหรือโครงสร้างอาคารที่อาจพังถล่มลงมาได้

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ไฟไหม้ ต้องทำอย่างไร?

1. ตั้งสติอย่าตื่นตกใจ ต้องควบคุมสติให้ได้

2. ตะโกนดัง ๆ ว่า “ไฟไหม้” หรือกดสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้อื่นอพยพออกจากอาคาร จากนั้นให้โทรศัพท์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ (โดยโทรไปที่เบอร์ 199) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาระงับเหตุและควบคุมเพลิง

3. หากเพลิงมีขนาดเล็กพอที่จะดับเองได้ ให้ใช้ถังดับเพลิง และรีบออกจากตัวอาคารทันทีและปิดประตู-หน้าต่างห้องที่เกิดเพลิงไหม้ให้สนิทที่สุด ให้เกิดภาวะอับอากาศจะช่วยให้เพลิงไหม้ช้าลง แต่ต้องแน่ใจว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างในแล้ว

4. ใช้หลังมือแตะที่ลูกบิดประตูถ้ามีความร้อนสูงแสดงว่ามีเพลิงไหม้อยู่ในห้อง แต่หากลูกบิดไม่ร้อนให้ค่อย ๆ บิดออกช้ าๆ โดยใช้ไหล่คอยหนุนประตูไว้หากทำได้ ควรหาผ้าชุบน้ำปิดจมูกหรือผ้าห่มชุบน้ำชุ่ม ๆ ไว้ด้วย

5. หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟคลานต่ำ ๆ และหนีไปยังทางออกฉุกเฉิน เพราะอากาศที่พอหายใจได้จะอยู่ด้านล่างเหนือพื้นห้องไม่เกิน 1 ฟุต เนื่องจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุเพลิงไหม้ประมาณร้อยละ 90 เป็นผลมาจากสำลักควันไฟ อาจใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ตักอากาศแล้วคลุมศีรษะหนีฝ่าควันออกมา

6. ให้อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัยโดยใช้บันไดหนีไฟ ห้ามหนีไปในทิศทางที่สวนกับควันไฟและความร้อน หากจำเป็นให้หมอบคลานต่ำ

7. อย่าใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น

8. ไม่ควรหนีไปอยู่บริเวณที่เป็นจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องน้ำ ห้องใต้ดิน และไม่ควรหนีไฟขึ้นไปบนดาดฟ้าเพราะไฟจะลุกลามจากด้านล่างขึ้นบนรวมถึงยากต่อการเข้าช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อีกด้วย

** ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ให้รีบโทรไปที่เบอร์ 199 เพื่อทำการแจ้งดับเพลิง และถ้ามีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ-เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรไปที่ 1669 (ศูนย์เอราวัณ บริการฟรีตลอด 24 ชม.)

วิธีการใช้ถังดับเพลิง

1. ดึง คือดึงสลักออกจากถังดับเพลิงซึ่งจะมีกระดูกงูล็อกอยู่ ถ้าดึงไม่ออกให้ใช้การบิดเเล้วค่อยดึงสลักก็จะหลุดออกมา

2. ปลด คือการปลดสายฉีดของถังดับเพลิงออก โดยจับบริเวณปลายสายฉีดแล้วดึงออกมาจะออกง่ายกว่าการจับบริเวณโคนสาย

3. กด คือการกดคันบีบของถังดับเพลิงเพื่อให้เคมีในถังออกมาสามารถใช้ดับเพลิงได้

4. ส่าย คือการส่ายปลายสายฉีดไป-มาเพื่อดับเพลิง ควรฉีดไปยังฐานของเพลิงหรือต้นเพลิง ไม่ควรฉีดไปบริเวณเปลวเพลิง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (เหตุไฟไหม้)

1. หยุดความร้อนเมื่อถูกไฟไหม้ มีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้ 

– ขั้นแรก ใช้น้ำราดเพื่อดับไฟ หรือใช้ผ้าหนา ๆ คลุมตัว
– ขั้นที่สอง ถอดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้ พร้อมเครื่องประดับที่สะสมความร้อนออกให้หมด

2. ตรวจร่างกาย ดูการหายใจของผู้ที่ถูกไฟไหม้ 

– หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการหายใจผิดปกติ เสียงแหบ ต้องรีบช่วยหายใจโดยด่วน
– ชีพจรเต้นเบาหรือไม่เต้นต้องรีบปั๊มหัวใจ
– อาการบาดเจ็บมีเลือดออกควรห้ามเลือดก่อน
– ประเมินความรุนแรงของแผลไฟไหม้

การปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้ในเบื้องต้น สามารถแบ่งได้ 2 ระดับ…

1. ระดับชั้นผิวหนัง ให้ทำการระบายความร้อนออกจากแผล ด้วยการนำผ้าชุบน้ำแล้วนำมาประคบบริเวณบาดแผล หรือจะแช่ลงในน้ำ หรือให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลตลอดเวลา ประมาณ 10 นาที ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ลดลงได้ จากนั้นทายาบริเวณแผลและนำผ้าสะอาดมาปิดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ห้ามเจาะส่วนที่ผองออกเด็ดขาด หากแผลมีบริเวณกว้างหรืออยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

2. ระดับลึกถึงเนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง เนื่องจากแผลไฟไหม้ในระดับนี้มีความลึกถึงชั้นเนื้อเยื่อจึงไม่สามารถระบายความร้อนออกแผลได้ เพราะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดแผลติดเชื้อ รวมถึงห้ามใส่ยาลงบนบาดแผล ควรใช้ผ้าสะอาดห่อตัวผู้บาดเจ็บเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและให้ความอบอุ่น จากนั้นรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

Chicago Fire หน่วยผจญเพลิงเย้ยมัจจุราช ปี 4 EP.1 [PROMO]

Link : seeme.me/ch/mono29series/9yxbNk?pl=z202lE

ข้อมูลจาก : www.thaihealth.or.th, www.tipinsure.com, www.samsenfire.com, www.estopolis.com

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง