ที่ตั้งของเซ็นทรัลเวิลด์ เดิมคือ พระราชวังปทุมวัน – ประวัติความเป็นมา

พระราชวังปทุมวัน (Pathumwan Palace) (และ “วังเพ็ชรบูรณ์“) เป็นพระราชวังตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ ใกล้กับวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2400 ที่ตั้งของ เซ็นทรัลเวิลด์ (Central World)

ที่ตั้งของเซ็นทรัลเวิลด์ เดิมคือ พระราชวังปทุมวัน

พระราชวังปทุมวัน

แต่เดิมพื้นที่นี้เป็นนาหลวง เรียกว่า ทุ่งบางกะปิ มีบัวหลวงมากมาย เมื่อสร้างพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) จึงพระราชทานนามว่า “พระราชวังปทุมวัน” วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นที่เสด็จประพาสและให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน

บริเวรรอบวัง เมื่อเริ่มสร้าง

โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระใหญ่ 2 สระติดต่อกัน …

สระด้านทิศเหนือ เป็นที่เสด็จประพาส สร้างพลับพลาที่ประทับ มีพระที่นั่ง 2 ชั้น สำหรับประทับแรม ที่ริมสระด้านตะวันตกให้สร้างวัดประจำพระราชวัง ชื่อว่า วัดปทุมวนาราม และให้อาราธนาพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย มาอยู่ตั้งแต่แรกสร้าง

สระด้านใต้ ให้ประชาชนไปเล่นเรือได้ .. ดินที่ขุดจากสระให้ทำเป็นเกาะใหญ่น้อยหลายเกาะ แล้วขุดคลองจากคลองแสนแสบมาเชื่อมสระ

เมื่อแรกสร้างพระราชวัง ยังไม่มีถนนไปจากพระนคร ต้องเสด็จโดยทางเรือ จึงถือว่าห่างไกลพระนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เสด็จไปประทับแรมเป็นครั้งแรก จึงต้องมีหมายรับสั่งให้รักษาพระนคร เหมือนกับพระองค์เสด็จประพาสตามหัวเมือง ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งที่ประทับชำรุดทรุดโทรม และสระตื้นเขินหมด จึงได้พระราชทานให้เป็นโรงทหารและราชการอื่น ๆ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) โปรดเกล้า ฯ พระราชทานที่ดิน บริเวณที่เป็นพระราชวังปทุมวันเดิม แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสองค์ที่ 8 ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเสด็จกลับจากศึกษาในต่างประเทศ เพื่อสร้างวังเป็นที่ประทับ เรียกว่า วังเพ็ชรบูรณ์

พระราชวังปทุมวัน สู่ วังเพ็ชรบูรณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงประทับอยู่กับ หม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช พระชายา และเมื่อทั้งสองสิ้นพระชนม์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา พระธิดา ที่ประสูติแต่หม่อมลออ จุฑาธุช ณ อยุธยา และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ประสูติแต่หม่อมระวี จุฑาธุช ณ อยุธยา เป็นผู้ครอบครองต่อ

ภาพจาก ฅนเป็นครู

ภายในวังประกอบด้วยตำหนัก ซึ่งมีชื่อเป็นเพลงไทยเดิม เนื่องจากทรงมีความสนพระทัยในด้านนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์

1. ตำหนักประถม เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ต่อมาโปรดให้เป็นที่ประทับของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน ซึ่งทรงเป็นผู้ถวายพระอภิบาลสมเด็จฯ เจ้าจุฑาธุชธราดิลก มาแต่ทรงพระเยาว์ เป็นตำหนักที่ก่อสร้างด้วยไม้ สูง 3 ชั้น ปัจจุบันได้ถูกชลอมาปลูกสร้างใหม่ ที่ตำหนักของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ซึ่งเป็นพระธิดา ที่จังหวัดนนทบุรี

2. ตำหนักแพ เป็นตำหนักที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ภายหลังจากที่ทรงย้ายจากตำหนักประถม ลักษณะเป็นเรือนไทย 2 หลังอยู่บนแพ ปัจจุบันชลอมาอยู่ที่วังเลอดิส ถนนสุขุมวิท ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระโอรส

3. ตำหนักสันนิบาตน้อย เป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าบุญจิราธร จุฑาธุช พระชายาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก

4. ตำหนักน้ำ เป็นที่อยู่ของหม่อมละออในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังเล็กๆ ปัจจุบันชลอมาปลูกใหม่ ณ ตำหนักของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ที่จังหวัดนนทบุรี

5. เรือนลมพัดชายคา เป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก สิ้นพระชนม์

6. เรือนกินรำ เป็นที่อยู่ของคณะละครวังเพ็ชรบูรณ์

แต่ต่อมาวังเพ็ชรบูรณ์ ได้ถูกนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ธนาคารศรีนคร เพื่อดำเนินธุรกิจสายการบินพาณิชย์แอร์สยามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระทายาทเจ้าของวัง แต่เมื่อสายการบินขาดทุนอย่างหนัก จนต้องปิดกิจการ ธนาคารศรีนครจึงดำเนินการยึดที่ดินวังเพ็ชรบูรณ์ไป ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ซื้อที่ดินผืนนี้

วังเพ็ชรบูรณ์ สู่ เซ็นทรัลเวิลด์

ต่อมาเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ สิ้นพระชนม์ นักธุรกิจญี่ปุ่นได้ขอซื้อที่ดินบริเวณวัง เพื่อก่อสร้างห้างไทยไดมารู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศูนย์การค้าราชประสงค์ จากนั้น บริษัท วังเพชรบูรณ์ โดยนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้ขอเช่าที่ดินผืนนี้ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ในชื่อ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 

เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ – ZEN – อิเซตัน

โครงการเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 และประสบความล่าช้าอยู่หลายครั้ง จนสามารถเปิดดำเนินการได้เมื่อ พ.ศ. 2532 ประกอบด้วยตัวอาเขตและห้างสรรพสินค้าเซน ก่อนที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตันจะเข้ามาเปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2535 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มเติม เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามสัญญาที่ทำไว้ ร่วมกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่ในปลายปี พ.ศ. 2545 ทางบริษัท วังเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาทางการเงิน และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรม และอาคารสำนักงาน ให้แล้วเสร็จตามกำหนด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงได้บอกเลิกสัญญาเช่า และเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูลเป็นผู้บริหารศูนย์การค้า รวมทั้งพัฒนาพื้นที่และต่อเติมอาคารให้แล้วเสร็จตามข้อตกลงในคู่สัญญา

โดยสำนักทรัพย์สินฯ ได้เปิดประมูลและปรับโครงสร้างจากเดิม ด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายสัญญา ไปเป็นบริษัทที่ชนะการประมูล โดยมี กลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มเดอะมอลล์ สองธุรกิจค้าปลีกหลักของไทยเป็นผู้เข้าร่วมประมูล และเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่ชนะการประมูลโครงการดังกล่าว ปัจจุบันโครงการนี้บริหารงานโดย CPN หรือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

อาถรรพ์ของที่ดิน

สำหรับอาถรรพ์ของที่ดินผืนนี้นั้น นายไพศาล พืชมงคล ทนายความนักโหราศาสตร์ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ที่ดินของเซ็นทรัลเวิลด์ มีการสาปแช่งจากเจ้าของเก่า คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ที่ทรงไม่อยากให้ผู้ที่ได้ครอบครองที่ดินผืนนี้ เป็นผู้อื่นที่ไม่ใช่ลูกหลาน จึงทำการสาปแช่งเอาไว้ว่า หากผู้ที่ครอบครองมิใช่ลูกหลานก็ให้ฉิบหาย แต่หากไปสร้างศาลเจ้าพ่อเสือในที่ดินแปลงหนึ่งที่รังสิต ก็จะยกเว้นไม่ต้องคำสาป ..

สี่แยกมหาเทพ

อีกทั้งอาจารย์วิศิษฏ์ เตชะเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยชื่อดังของไทย ก็มีการกล่าวถึง ที่ดินที่แยกราชประสงค์ ที่ถูกเรียกขานว่า สี่แยกมหาเทพ เอาไว้ว่า ที่ตรงนั้นเคยเป็นทางแยก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีวิญญาณชั่วร้ายอาศัยอยู่เยอะ เมื่อก่อนโรงแรมเอราวัณก็ประสบปัญหามาก แต่หลังจากมีพระผู้ใหญ่ที่เป็นพราหมณ์ แนะนำให้ตั้งศาลพระพรหม ทุกอย่างก็ค่อย ๆ ดีขึ้น

โรงพยาบาลตำรวจก็ต้องมีการตั้งพระนารายณ์เพื่อคุ้มครอง ห้างไทยไดมารู ในสมัยก่อนก็ต้องเจ๊ง เพราะไปสร้างทับที่ดินของเจ้าในรัชกาลที่ 4 และสุดท้ายวังเพ็ชรบูรณ์ก็มีการสาปแช่งเอาไว้อีกมาก

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ปัจจุบันที่ดินผืนนี้เป็นของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงกับที่นายไพศาลเล่าเอาไว้ว่า “เจ้านายบางท่านไม่ต้องการให้ที่ดินของตนตกเป็นของคนอื่น จึงทำเป็นพินัยกรรมและทูลเกล้าถวาย สุดท้ายที่ดินผืนนี้จึงตกเป็นของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่อาถรรพ์ของคำสาป ก็ดูเหมือนว่าจะยังคงอยู่มาจนทุกวันนี้” …

ข้อมูลจาก โบราณนานมา , คนรักวัง บ้านโบราณ , ประวัติรัชกาลที่ 6 และ วิกิพีเดีย พระราชวังปทุมวัน 

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง