ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ เจ้าแม่วัดดุสิต พระนมชั้นเอก ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ย้อนอ่านเรื่องราวของ เจ้าแม่วัดดุสิต หรือพระนมชั้นเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นแม่ของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก), เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) จึงทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ และลูกชายทั้งสองของพระนม สนิทสนมเป็นสหายกันมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หลายๆ คนสงสัยว่า พระนมคือใคร มีชาติกำเนิดเป็นเชื้อราชวงศ์ด้วยหรือไม่ ขอนำข้อสันนิษฐานมาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับ เจ้าแม่วัดดุสิต พระนมชั้นเอก

ภาพ: www.silpa-mag.com

ที่มาของคำว่า เจ้าแม่ดุสิต

เจ้าแม่วัดดุสิต เป็นพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษ ของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี เป็นพระนมชั้นเอก ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้รับพระราชทานตำหนักริมวัดดุสิดารามเป็นที่อาศัย จึงเป็นที่มาของคำว่า เจ้าแม่ดุสิต

ข้อสันนิษฐานของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช

มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชาติกำเนิดของเจ้าแม่วัดดุสิตมีมากมาย แต่ไม่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดว่า เจ้าแม่วัดดุสิตสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด หนึ่งในนั้นมีข้อสันนิษฐานของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยได้กล่าวไว้ในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ซึ่งอ้างจากหนังสือราชินิกุลบางช้างไว้ว่า

“เจ้าแม่วัดดุสิต มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย”

นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงบรรพบุรุษของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า … สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงได้ฟังคำบอกเล่าจากพระวันรัตน์ (ฉิม) ว่าเจ้าฟ้าหญิงรัศมีและเจ้าฟ้าจีกเคยตรัสเล่าว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้อภิเษกสมรสกับธิดาของพระยาเกียรติ์ (ขุนนางชาวมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)  มีธิดาคือ เจ้าครอกบัว (หม่อมเจ้าบัว) และเจ้าครอกอำภัย (หม่อมเจ้าอำไพ) แต่ในหนังสือนี้ยังมีข้อความที่คลุมเครือ ระหว่างเจ้าครอกบัวและเจ้าครอกอำไพอยู่มาก ซึ่งทำให้สับสนว่า เจ้าแม่วัดดุสิตมีชื่อเดิมว่าอย่างไรกันแน่

บางแห่งกล่าวว่าชื่อ “หม่อมเจ้าหญิงบัว” มีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางแห่งก็กล่าวว่าชื่อ “หม่อมเจ้าหญิงอำไพ” เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างไรก็ตาม หลักฐานหลายแห่งก็ไม่ได้บ่งบอกว่า สายตระกูลของเจ้าแม่วัดดุสิตนั้นสืบเชื้อสายมาจากเชื้อพระวงศ์สายไหนเช่นกัน แต่จากเอกสารพงศาวดารไทยหลายฉบับและของต่างประเทศเป็นที่ยืนยันว่า เจ้าแม่วัดดุสิตนั้นมีตัวตนอย่างแน่นอน

บุตรธิดาของเจ้าแม่วัดดุสิต

เจ้าแม่วัดดุสิตสมรสกับขุนนางเชื้อสายมอญ มีบุตรธิดา 3 คน คือ

  1. เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพคราวไปตีนครเชียงใหม่ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
  2.  เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตเอก
  3. แช่ม หรือ ฉ่ำ ธิดา

หลักฐาน ร. 4 ขึ้นไป ไม่ได้กล่าวถึงที่มาของเจ้าแม่ดุสิต

แม้สมเด็จพระนารายณ์ทรงใช้คำตรัสเรียกว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” คือเป็นนามโดยตำแหน่ง ตามธรรมเนียมนิยมแต่ก่อนจะไม่นิยมเรียกพระนามผู้เป็นเจ้ากันตรง ๆ อย่างไรก็ดี อาจเป็นไปได้แต่เพียงว่า สมเด็จพระนารายณ์ตรัสเรียกให้เกียรติเสมอด้วย “เจ้า” เนื่องจากหลักฐานตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ขึ้นไป คือ จดหมายเหตุชาวต่างประเทศ หรือพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับต่าง ๆ ไม่ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปของเจ้าแม่วัดดุสิตรวมไปถึง “ความเป็นเจ้า” ของท่านแม้แต่น้อย

เหตุการณ์ที่พระนารายณ์อภัยโทษ เพราะเจ้าแม่ดุสิต

ด้วยความที่เป็น พระนมสมเด็จพระนารายณ์ บุตรชายทั้งสองจึงเป็นสหายสนิทและเป็นที่โปรดปราน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระคลังทั้ง 2 คน มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ หลวงสรศักดิ์ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) ขัดแย้งกับออกญาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน เพราะได้ทำการสึกพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก ออกไปทำราชการ จนเกิดการชกต่อย หลวงสรศักดิ์เกรงจะถูกลงพระราชอาญา จึงขอร้องให้เจ้าแม่ดุสิตช่วยเหลือ ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานอภัยโทษให้

ที่มา : www.silpa-mag.com, th.wikipedia.org/wiki-เจ้าแม่วัดดุสิต

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง