เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ออกมาประกาศผ่านทางเว็บไซต์ narit.or.th ว่าในวันที่ 22 กันยายน 2559 ที่จะถึงนี้เป็น “วันศารทวิษุวัต” คือดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางในทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลทำให้เวลาในกลางวันและกลางคืนเท่ากัน และนอกจากนี้ยังนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือจะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม่ร่วง ส่วนอีกซีกโลกจะเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย
วันศารทวิษุวัต มีความสำคัญอย่างไร?
โดยที่ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ได้กล่าวว่า ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปวันละประมาณ 1 องศา แต่ว่าในวันที่ 22 ก.ย. นี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี จึงทำให้เวลาในกลางวันและกลางคืนเท่ากันนั่นเอง เรียกวันนี้ว่า “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) หรือชื่อเรียกทางดาราศาสตร์ว่า “Autumnal Equinox”
ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06:07 น. และตกทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 18:14 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) ซึ่งหลังจากนี้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่เฉียงลงทางใต้เรื่อยๆ และหยุดที่จุดใต้สุด ในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่เฉียงขึ้นทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ดร.ศรัณย์ ยังต่ออีกว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งส่งผลทำให้ในหนึ่งรอบปีระยะห่างของโลกและดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน
ส่วนช่วงที่ใกล้กันมากที่สุดคือ ช่วงต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงที่ไกลกันที่สุดคือ ต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) การหมุนของแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ บนโลกได้รับแสงแดดที่แตกต่างกันออกไป จึงมีอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนด้วยที่แตกต่างกัน จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
สาระน่ารู้
สำหรับคำว่า วิษุวัต (Equinox อ่านว่า อิ-ควิ-นอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ aequus แปลว่า เท่ากัน และ nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน” นอกจากนี้คำว่า วิษุวัต ยังมีชื่อเรียกภาษาไทยว่า “จุดราตรีเสมอภาค” เกิดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต) และ Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)
เนื่องจากแกนโลกไม่ได้ตั้งตรงแต่เอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ดังนี้
1. วันวสันตวิษุวัต (อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
2. วันครีษมายัน (อ่านว่า ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
3. วันศารทวิษุวัต (อ่านว่า สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
4. วันเหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) ภาษาอังกฤษ Winter Solstice ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
วันเหมายันมีกลางคืนนานกว่ากลางวัน ตรงข้ามกับวันครีษมายันที่มีกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน
ข้อมูลและภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภาพ CC BY-SA 2.0, commons.wikimedia.org