กรมราชองครักษ์ หน้าที่ภารกิจหลัก หน่วยงานในราชการส่วนพระองค์

กรมราชองครักษ์ (Royal Thai Aide-De-Camp Department) เป็นหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ มีหน้าที่จัดราชองครักษ์ปฏิบัติหน้าที่ ถวายพระเกียรติ ถวายความปลอดภัย และ ถวายงานตามพระราชประสงค์ แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ณ ที่ประทับ รวมทั้งการเสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักในต่างจังหวัด เพื่อทรงงานและเยี่ยมเยียนราษฏรในทุกพื้นที่ของประเทศ

กรมราชองครักษ์ คืออะไร มีหน้าที่อย่างไรบ้าง

ภารกิจหลัก ได้แก่ การถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พระราชประสงค์และราชประเพณี โดยสรุปก็คือ การถวายความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติ

หน่วยงานในสังกัด

สำนักงานผู้บังคับบัญชา

1.สำนักงานราชองครักษ์ประจำ

มีหน้าที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติ และ ปฏิบัติการทั้งปวงในส่วนพระองค์ให้ต้องตามพระราชประสงค์ และตามพระราชประเพณี มีผู้อำนวยการสำนักงานราชองครักษ์ประจำ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

2.สำนักงานรักษาความปลอดภัย

มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน และปฏิบัติการระวังป้องกัน ในการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ มีผู้อำนวยการสำนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

3.สำนักงานนโยบายและแผน

มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย การธุรการ การกำลังพล การข่าว การยุทธการ การฝึกและศึกษา การสื่อสารและสารสนเทศ การงบประมาณ ในการสนับสนุนการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ และการคุ้มครองพยานในคดีอาญา มีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

4.สำนักงานยุทธบริการ

มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็น วางแผน อำนวยการ ประสานงาน ดำเนินการเกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุง การสรรพาวุธ การบริการ การขนส่ง การโยธาธิการ การสวัสดิการ การกีฬา การเงินและการบัญชี ในการสนับสนุนการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ มีผู้อำนวยการสำนักยุทธบริการ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

5.สำนักงานกิจการพิเศษ

มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน และปฏิบัติการเกี่ยวกับงานกิจการพิเศษ ตามพระราชกระแส หรือพระราชประสงค์ ในการสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ มีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการพิเศษ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

กำเนิดและวิวัฒนาการ กรมราชองครักษ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงริเริ่มให้มีราชองครักษ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2413 ในคราวเสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลโทพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช (ขณะนั้นดำรงพระยศ นายร้อยเอก พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์) ตามเสด็จฯ ซึ่งนับเป็น “ราชองครักษ์” พระองค์แรก ให้เรียกนายทหารรักษาพระองค์เหล่านี้ว่า “ราช-แอด-เดอ-แกมป์” ซึ่งคัดเลือกมาจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็น “ราชองครักษ์” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2430

ในปี พ.ศ. 2441 (ร.ศ.117) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการสำหรับราชองครักษ์ให้เป็นหลักฐานมั่นคง ด้วยการตรา “พระราชบัญญัติราชองครักษ์ ร.ศ.117” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2441 โดยในมาตรา 6 ระบุข้อความว่า “สมุหราชองครักษ์กับทั้งราชองครักษ์ประจำการพวกนี้ นับเป็นกรมหนึ่ง ขึ้นอยู่ใน กรมยุทธนาธิการ” กรมราชองครักษ์จึงถือเอา วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2441 นี้ เป็นวันกำเนิดกรมราชองครักษ์ ซึ่งมีสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

กรมราชองครักษ์ ส่วนราชการในพระองค์

ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และมีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มี “กรมราชองครักษ์” โอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ สังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นคือ จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะนายทหารบก เป็นราชองครักษ์เท่านั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้นายทหารเรือ เข้ารับราชการเป็นราชองครักษ์ด้วย และสมุหราชองครักษ์มีสิทธิขาดในการนำความเข้ากราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง

ในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงระเบียบการเกี่ยวกับราชองครักษ์บางอย่างที่สำคัญ คือ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ราชองครักษ์แต่เดิมในรัชกาลก่อนคงเป็นราชองครักษ์ของพระองค์สืบต่อไปและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ “ปลอกแขน”เป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นราชองครักษ์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประจำพระองค์

วิวัฒนาการราชองครักษ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาเป็นลำดับเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละรัชกาล ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (ร.9) ได้มีกฎระเบียบและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับราชองครักษ์ดังนี้ คือ ได้จำแนกราชองครักษ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ

ราชองครักษ์ มี 3 ประเภท

1.ราชองครักษ์พิเศษ เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรและต้องปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์ ในบางโอกาสตามพระราชประเพณี

2.ราชองครักษ์เวร แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ และคงรับราชการตามตำแหน่งเดิม มีหน้าที่ประจำ ตามเสด็จรักษาการณ์และปฏิบัติกิจการอื่นในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์

3.ราชองครักษ์ประจำ แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ และเข้ารับราชการประจำในกรมราชองครักษ์ มีหน้าที่ปฏิบัติกิจการในส่วนองค์พระมหากษัตริย์แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

เรียบเรียงโดย Campus-Star.com ที่มา กรมราชองครักษ์Royal Standard of Thailand , ภาพจาก ภาพเกี่ยวกับการทหารในสมัย ร.5 เรือนไทย

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง