คำราชาศัพท์ – ลักษณะการใช้ราชาศัพท์

คำราชาศัพท์  หมายถึง ศัพท์สำหรับพระมหากษัตริย์ คำราชาศัพท์ใช้กับพระมหากษัตริย์ ศัพท์หลวง ศัพท์ราชการ และหมายรวมถึงคำสุภาพ ซึ่งนำมาใช้ให้ถูกต้องตามชั้นหรือฐานะของบุคคล บุคคลผู้ที่พูดต้องใช้ราชาศัพท์ด้วย ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมทางภาษาที่ชาวไทยใช้สื่อสารกับบุคคลดังกล่าว ด้วยความเชื่อและการยกย่องมาแต่โบราณกาล

คำราชาศัพท์ – ลักษณะการใช้ราชาศัพท์

การใช้คำราชาศัพท์กับบุคคลต่างๆ

1. พระมหากษัตริย์ 2. พระบรมวงศานุวงศ์ 3. พระสงฆ์ 4. ข้าราชการชั้นสูงหรือขุนนาง 5. สุภาพชน

คำราชาศัพท์แบ่งได้ 6 หมวด คือ

1. หมวดร่างกาย 2. หมวดเครือญาติ 3. หมวดเครื่องใช้ 4. หมวดกริยา 5. หมวดสรรพนาม 6. หมวดคำที่ใช้กับพระสงฆ์

1. คำราชาศัพท์ที่ใช้เป็นคำนาม มี 2 ลักษณะ

คือ

1.1 คำนามที่ไม่ใช้คำใดๆ ประกอบ ได้แก่ คำนามประเภทสมุหนาม เช่น คณะ สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น

อีกพวกหนึ่ง ได้แก่ คำนามที่เป็นราชาศัพท์แล้วในตัว เช่น ตำหนัก วัง เป็นต้น พวกหลังนี้เมื่อใช้ในระดับสูงขึ้นไปต้องใช้คำอื่นประกอบ เช่น ตำหนัก (เรือนเจ้านาย) พระตำหนัก (เรือนของพระมหากษัตริย์)

1.2 คำนามที่ใช้คำอื่นประกอบเพื่อเป็นราชาศัพท์

ก. สำหรับพระมหากษัตริย์

* คำนามที่เป็นชื่อสิ่งของสำคัญที่ควรยกย่อง มีคำเติมหน้า ได้แก่ พระบรมมหาราช พระบรมมหา พระบรมราช พระบรม พระอัคราช พระอัคร และพระมหา เช่น พระบรมมหาราชวัง พระบรมมหาชนกพระบรมราชชนนี พระบรมราชวงศ์ พระบรมอัฐิ พระบรมโอรสาธิราช พระอัครชายา พระมหาปราสาท พระมหาเศวตฉัตร เป็นต้น

*คำนามเป็นชื่อสิ่งสำคัญรองลงมา นำหน้าด้วยคำ “พระราช” เช่น พระราชวังพระราชวงศ์ พระราชทรัพย์ พระราชลัญจกร เป็นต้น

* คำนามเป็นชื่อของสิ่งสามัญทั่วไปที่ไม่ถือว่าสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นคำบาลีสันสกฤต เขมร และคำไทยเก่า แต่บางคำก็เป็นคำไทยธรรมดานำหน้าด้วยคำ “พระ” เช่น พระกร พระบาทพระโรค พระฉาย พระแท่น พระเคราะห์ เป็นต้น คำนามใดที่เป็นคำประสม มีคำ “พระ” ประกอบอยู่แล้ว ห้ามใช้คำ “พระ” นำหน้าซ้อนอีก เช่น พานพระศรี (พานหมาก) ขันพระสาคร (ขันน้ำ) เป็นต้น

* คำนามที่เป็นชื่อสิ่งไม่สำคัญและคำนั้นมักเป็นคำไทย นำหน้าด้วยคำว่า “ต้น” เช่น ม้าต้น ช้างต้น เรือนต้น และนำหน้าด้วย “หลวง” เช่น ลูกหลวง หลานหลวง รถหลวง เรือหลวง สวนหลวง

ส่วน “หลวง” ที่แปลว่า ใหญ่ ไม่จัดว่าเป็นราชาศัพท์ เช่นภรรยาหลวง เขาหลวง ทะเลหลวง เป็นต้น นอกจากคำว่า “ต้น” และ “หลวง” ประกอบท้ายคำแล้วบางคำยังประกอบคำอื่นๆ อีก เช่น รถพระที่นั่ง เรือพระที่นั่ง รถทรง เรือทรง ม้าทรง ช้างทรง น้ำสรง ห้องสรง ของเสวย โต๊ะเสวย ห้องบรรทม เป็นต้น

ข. สำหรับเจ้านายหรือพระบรมวงศานุวงศ์ คือตั้งแต่ สมเด็จพระบรมราชินีลงไปถึงหม่อมเจ้า

* ใช้พระราชนำหน้า เช่น พระราชเสาวนีย์ พระราชประวัติ พระราชดำรัlส พระราชกุศล พระราโชวาท พระราโชบาย เป็นต้น

* ใช้พระนำหน้า เช่น พระเศียร พระองค์ พระหัตถ์ พระทัย พระบาท เว้นแต่หม่อมเจ้าไม่ใช้ “พระ” นำหน้า ใช้ว่า เศียร องค์ หัตถ์ หทัย บาท เป็นต้น

* คำนามราชาศัพท์สำหรับเจ้านายอยู่ในตัว ไม่ต้องใช้คำนำหน้าหรือคำต่อท้าย เช่น วัง ตำหนัก ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

การใช้คําราชาศัพท์ที่ควรสังเกตุ

การใช้คำว่า “พระ” “พระบรม” “พระราช”

“พระ” ใช้นำหน้าคำนามที่เป็นอวัยวะ ของใช้ เช่น พระชานุ พระนลาฏ พระขนง เป็นต้น

“พระบรม” ใช้เฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น พระบรมราโชวาท พระบรมราชานุเคราะห์ พระปรมาภิไธย เป็นต้น

“พระราช” ใช้นำหน้าคำนาม แสดงว่าคำนามนั้นเป็นของ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เช่นพระราชประวัติ พระราชานุญาต พระราชวโรกาส เป็นต้น

หลัก 3 ประการ การใช้คำว่า “ทรง”

นำหน้าคำนามสามัญบางคำ ทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่น ทรงรถ ทรงดนตรี ทรงช้าง ทรงเครื่อง เป็นต้น

นำหน้าคำกริยาสามัญ ทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงวิ่ง ทรงเจิม ทรงออกกำลังกาย ทรงใช้ เป็นต้น

นำหน้าคำนามราชาศัพท์ ทำให้เป็นกริยาราชาศัพท์ได้ เช่นทรงพระราชดำริ ทรงพระอักษร ทรงพระดำเนิน ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นต้นคำกริยาที่เป็นราชาศัพท์อยู่แล้วไม่ใช้ “ทรง” นำหน้า เช่นเสวย เสด็จ โปรด เป็นต้น

การใช้ราชาศัพท์ให้ถูกต้องตามสำนวนไทย

ไม่นิยมเลียนแบบสำนวนต่างประเทศ

ถ้ามาต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องใช้ว่า ประชาชนมาเฝ้า ฯ รับเสด็จ คำว่า “เฝ้าฯรับเสด็จ” ย่อมาจาก “เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ” ไม่ใช้คำว่า “ถวายการต้อนรับ”

คำว่า “คนไทยมีความจงรักภักดี” หรือ “แสดงความจงรักภักดี” ใช้ได้ แต่ไม่ควรใช่คำว่า “ถวายความจงรักภักดี”

การใช้คำราชาศัพท์ให้ถูกต้องตามเหตุผล

คำว่า “อาคันตุกะ” “ราชอาคันตุกะ” และ”พระราชอาคันตุกะ” ใช้ดังนี้ คือให้ดูเจ้าของบ้านเป็นสำคัญ เช่นแขกของพระมหากษัตริย์ ใช้คำว่า”ราช”นำหน้า ถ้าไม่ใช่แขกของพระมหากษัตริย์ก็ไม่ต้องมี ”ราช” นำหน้า

ในการถวายสิ่งของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถ้าเป็นของเล็กยกได้ก็ใช้ “ทูลเกล้าฯ ถวาย”ถ้าเป็นของใหญ่ยกไม่ได้ใช้ “น้อมเกล้า ฯ ถวาย”

ภาพจาก Facebook : เรารัก สมเด็จเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา : Our Beloved HRH Princess Bajrakitiyabha

การใช้คำขึ้นต้น สรรพนาม และคำลงท้าย

คำขึ้นต้นและคำลงท้ายในการกราบบังคมทูล กราบทูล และทูลด้วยวาจา

ฐานันดรของผู้ฟัง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว , สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
คำขึ้นต้น : ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
คำลงท้าย : ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ฐานันดรของผู้ฟัง : สมเด็จพระบรมราชินี , สมเด็จพระบรมราชชนนี , สมเด็จพระยุพราช , สมเด็จพระสยามบรมราชกุมารี
คำขึ้นต้น : ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท
คำลงท้าย : ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ฐานันดรของผู้ฟัง : สมเด็จเจ้าฟ้า
คำขึ้นต้น : ขอพระราชทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท
คำลงท้าย : ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ฐานันดรของผู้ฟัง : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
คำขึ้นต้น : ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท
คำลงท้าย : ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ฐานันดรของผู้ฟัง : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
คำขึ้นต้น : ขอประทานกราบทูลทราบฝ่าพระบาท
คำลงท้าย : ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพิจารณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

ฐานันดรของผู้ฟัง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า
คำขึ้นต้น : กราบทูลฝ่าพระบาท
คำลงท้าย : ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ฐานันดรของผู้ฟัง : หม่อมเจ้า
คำขึ้นต้น : ทูลฝ่าพระบาททรงทราบ
คำลงท้าย : แล้วแต่จะโปรด

File : PDF

อ่านเพิ่มเติม : krusuthai , ราชาศัพท์-นาม , www.meemodo.com , site/khamrachasaphth , www.kroobannok.com

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง