ประวัติวันอาสฬหบูชา ความเป็นมาที่น่าสนใจ กิจกรรมทางศาสนาที่ชาวพุทธปฏิบัติ

ทุกวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 จะเป็นวันอาสาฬหบูชา หนึ่งในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ

ในปีนี้วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562 ก่อนออกไปทำบุญในวันอาสาฬหบูชาปีนี้ มาทำความรู้จักประวัติ ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา และกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนนิยมทำหรือปฏิบัติในวันสำคัญพุทธศาสนาวันนี้

ประวัติวันอาสฬหบูชา และความเป็นมาที่น่าสนใจ

วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้ได้ 2 เดือน โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ จนพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี

ทั้งนี้พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนา หรือเทศนากัณฑ์แรกที่พระองค์ทรงแสดงจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ

ดอกบัว 4 เหล่า

แต่ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรม ได้ใช้ญาณของพระองค์เองพิจารณาเวไนยสัตว์ ว่าจะสามารถรับธรรมที่พระองค์จะแสดงได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัยที่สร้างสมกันมาด้วย พระพุทธองค์จึงแบ่งเหล่าเวไนยสัตว์ออกเป็นดอกบัว 4 เหล่า

1.ดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำแล้ว เป็นดอกบัวที่รอเพียงแสงอาทิตย์ก็พร้อมจะเบ่งบาน เปรียบกับกลุ่มที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด

2.ดอกบัวปริ่มน้ำ เป็นดอกบัวที่รอวันเบ่งบานในวันพรุ่งนี้ เปรียบกับกลุ่มที่มีปัญญาปานกลาง

3.ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ เป็นดอกบัวที่ยังไม่บานในเร็ววัน เปรียบดั่งกลุ่มที่มีสติปัญญาน้อย แต่หากได้รับการแนะนำสั่งสอนธรรมบ่อย ๆ จะสามารถเข้าใจได้

4.ดอกบัวที่อยู่ในโคลนตม เป็นดอกบัวที่ยังไม่พ้นอันตรายจากเต่า ปลาทั้งหลาย เปรียบดั่งกลุ่มไร้สติปัญญา หรือไร้ความศัทธาและความเพียร

เมื่อได้แบ่งกลุ่มเวไนยสัตว์ออกเป็นดอกบัว 4 เหล่าแล้ว ก็ทรงรับคำอาราธนาให้แสดงธรรมของท้าวสหัมบดีพรหม และด้วยต้องการจะแสดงธรรมแก่ผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้ธรรมโดยเร็วก่อน จึงนึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ทั้งสองได้สิ้นชีวิตไปแล้ว หลังจากนั้นพระพุทธองค์จึงนึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยพระพุทธองค์ได้เดินทางไปแสดงปฐมเทศนา (เทศนาครั้งแรก) ในรุ่งเช้าวันเพ็ญเดือน 8 จึงเป็นที่มาและประวัติวันอาสาฬหบูชา

ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา

อาสาฬห หมายถึง เดือน 8 ทางจันทรคติ ดังนั้นคำว่า “อาสาฬหบูชา” จึงหมายถึง การบูชาในเดือน 8 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศาสนาพุทธ 3 ประการคือ

1.เป็นวันที่มีการประกาศศาสนาเป็นครั้งแรก มีการแสดงพระปฐมเทศนา หรือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นสัจธรรมที่พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณทรงตรัสรู้

2.เป็นวันที่เกิดประรัตนไตรครบ 3 องค์ คือพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตน และพระสังฆรัตนะ

3.เป็นวันที่พระโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม หลังจากฟังปฐมเทศนาจบ

กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา

1. กิจกรรมทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล
2. กิจกรรมร่วมการเวียนเทียน โดยจุดธูปเทียนพร้อมถือดอกไม้ สำรวมที่หน้าพระอุโบสถที่ประดับไปด้วยธงธรรมจักรโดยพร้อมกันสำรวมจิต
3. ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงขึ้นในโลก

การปฏิบัติตนในวันอาสาฬหบูชา

1. ละเว้นอบายมุขทุกประเภท และ ตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต สิ่งที่ไม่ดีทุกประการ
2. ทำทาน เช่น ตักบาตรพระ ดูแลบิดามารดา เป็นต้น
3. ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร
4. เวียนเทียนรำลึกรอบสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย เช่น โบสถ์ พระพุทธรูป และธัมเมกขสถุป
5. ปฏิบัติกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
6. พึงบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการบูชาทั้งสองประเภท คือ ทั้งอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา

ทั้งนี้ใครไม่ได้ไปไหน ก็อย่าลืมกลับบ้านไปใช้เวลาร่วมกับครอบครัวกันด้วยนะ หรือจะชอปปิงกับ Shopee ในแคมเปญใน 9.9 แคมเปญใหญ่เอาใจนักชอปแบบจัดหนักจัดเต็ม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ shopee.co.th

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง