ริ้วขบวนแห่พระสุพรรณบัฏฯ – เริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 3 พ.ค. 62

พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่ง ในการเตรียมประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะต้องถวายพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธย ก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และต้องเชิญแผ่นดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย

ริ้วขบวนแห่พระสุพรรณบัฏฯ

การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระสุพรรณบัฏนี้จะต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โหรหลวงจึงต้องกำหนดพระฤกษ์อันเป็นมงคลสำหรับการจารึกก่อนการพระราชพิธี

เส้นทางริ้วขบวน

เริ่มจากพระราชยานกงแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ออกจากเกยหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ยาตราริ้วขบวนไปตามจังหวะกลอง ผ่านศาลาสหทัยสมาคม ประตูพิมานไชยศรี ไปยังเกยหน้าพระทวารเทเวศรรักษา แล้วเชิญไปประดิษฐาน ณ พระแท่นมณฑล ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ระยะทางประมาณ 220 เมตร

โดยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 เมื่อถวายน้ำอภิเษกแล้ว พระราชครูพราหมณ์จะร่ายเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกรลาส และถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธยก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น

ในเวลา 16.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายบังคมพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ สำหรับเวลาพระฤกษ์จุดเทียนชัย คือเวลา 16.19-18.00 น. ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

ริ้วขบวนแห่พระสุพรรณบัฏฯ

ภาพประวัติศาสตร์ ริ้วขบวนเชิญ พระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2562

พิธีจารึกกระทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเจริญพระพุทธมนต์และการบูชาเทวดาในตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์

ภาพประวัติศาสตร์งานพระราชพิธีราชาภิเษก

พระสุพรรณบัฏ หมายถึง แผ่นทองคำ

แผ่นทองคำจารึกพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และพระนามาภิไธย พระนามพระบรมวงศ์

พระสุพรรณบัฏ หมายถึง แผ่นทองคำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนา 0.1 เซนติเมตร ความกว้างยาวขึ้นอยู่กับอักษรหรือข้อความ ที่จะจารึกพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์และพระนามาภิไธย พระนามพระบรมวงศ์ ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช – ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระสุพรรณบัฏกว้าง 7 นิ้ว ยาว 14 นิ้ว

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อถวายน้ำอภิเษกแล้ว พระราชครูพราหมณ์จะร่ายเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกลาส และถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธยก่อนที่จะถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ

ภาพจาก www.newtv.co.th

การจารึกพระสุพรรณบัฏ ร.9

การจารึกพระสุพรรณบัฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2493 เวลา 9.26 – 10.28 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เป็นประธานในพิธี

ในพระอุโบสถตั้งโต๊ะเครื่องบายศรีตอง 3 ชั้น ซ้าย ขวา มีกล้วยน้ำว้า หัวหมู สำหรับบูชาพระฤกษ์อาลักษณ์ ผู้จารึกพระสุพรรณบัฏแต่งกายด้วยเครื่องขาวและรับศีล

เมื่อใกล้เวลาพระฤกษ์ประธานพิธี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต จุดเทียนเงินเทียนทองทุกโต๊ะจารึกแล้วอาลักษณ์นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากนั้นถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชอาสน์) คล้องสายสิญจน์และหันหน้าไปสู่ทิศมงคล ได้เวลาพระฤกษ์โหรลั่นฆ้องชัย อาลักษณ์ และโหรลงมือจารึกพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระปรมาภิไธยและดวงพระบรมราชสมภพ ส่วนนายช่างทำหน้าที่แกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไปพร้อมกัน ในระหว่างนั้นพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ และพิณพาทย์

ตามราชประเพณีในสยามประเทศ

“…ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำรามาแต่โบราณว่าพระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนจึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวงก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า ‘ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน’ เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป…”

สำนักพระราชวัง ประกาศ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง ร.10

ที่มา www.silpa-mag.com, phralan.in.th

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง