ทำไมต้องใช้ใบมะตูมทัดหู ในงานพิธีต่างๆ – ความหมายของใบมะตูมทัดหู

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจากงานพระราชพิธี หรือพิธีต่างๆ อาทิ ภาพพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ คงเห็นภาพในหลวง ร.9 ทรงทัดใบมะตูมให้พระยาแรกนา หรือภาพล่าสุดในวันที่ 1 พ.ค. 62 ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10-สมเด็จพระราชินีสุทิดา ที่เราได้เห็นใบไม้นี้อีกครั้ง ทำให้รู้สึกสนใจเลยค้นหาความหมายของใบมะตูมมาฝาก

ทำไมต้องใช้ใบมะตูมทัดหู ในงานพิธีต่างๆ

ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ เป็นมงคล

มะตูมเป็นต้นไม้ ที่ชาวฮินดูนิยมใช้บูชาพระศิวะ ถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะของใบมะตูมคล้ายกับตรีศูลที่พระศิวะทรงในพระหัตถ์ขวา – เปรียบเหมือนอาวุธศักดิ์สิทธิ์ทั้งสามของพระองค์ด้วย

ใบมะตูมนั้นทำลายบาปแห่งสสาร ผู้ใดได้แม้เพียงเห็นหรือสัมผัสใบมะตูมก็จะหลุดพ้นจากบาปทั้งปวง ใบมะตูมแม้เพียงใบเดียวที่ได้ถวายพระศิวะแล้ว สามารถล้างบาปหนักที่สุดได้

เมื่อมีการบูชาพระอิศวรจะมีการถวายใบมะตูมพร้อมท่องมนต์ หรือใช้ใบมะตูมแช่ในน้ำมนต์หรือวางไว้ใต้ตำรา มีความหมายว่า เบิกบาน ตูมแตกหน่อขึ้นมา

พราหมณ์ถือว่า ใบมะตูมเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและเป็นมงคล นำถวายพระมหากษัตริย์ สำหรับทรงใช้ในการพระราชทานน้ำสังข์ และพราหมณ์ใช้เมื่อถวายน้ำพระมหาสังข์แด่พระมหากษัตริย์ใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก] และพระราชพิธีอื่น ๆ

ซาร่า ปลื้มน้ำตาคลอ! รับพระราชทานน้ำสังข์จากสมเด็จพระเทพฯ / ตั๊ก-ป๊อก ปลื้มปิติ! รับพระราชทานน้ำสังข์!!

คนไทยใช้ใบมะตูมในงานพระราชพิธี และงานมงคลทั่วไปที่มีพิธีพราหมณ์เกือบทุกงาน เช่น ในพระราชพิธีโสกันต์ ในวันโสกันต์ เจ้านายที่จะโสกันต์จะถูกแบ่งเกศาจุกออกเป็นสามปอย ด้วยการใช้พายเงินพายทอง พายนาค แบ่งแล้วเอาลวดเงิน ลวดทอง ลวดนาค สายสิญจน์ ผูกปลายเกศาแต่ละปอยกับแหวนนพเก้าและใบมะตูมทั้งสามปอย

มะตูมเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ตามความเชื่อในเรื่องการปลูกต้นไม้ตามทิศกล่าวว่า ปลูกมะตูมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยป้องกันเสนียดจัญไร และเป็นมงคลนามให้ผู้อยู่อาศัยมีชื่อเสียงเรียงนามดังตูมตามลือเลื่อง

มะตูม ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bael tree ภาษาฮินดูเรียกว่า Sirpham tree

ตำนานเกี่ยวกับใบมะตูม

ตำนานเทวปางของพราหมณ์กล่าวว่า พรหมองค์หนึ่งจุติมาเป็นช้างชื่อ เอกทันต์ [เอก-กะ-ทัน] มีอิทธิฤทธิ์และกำลังมหาศาล ไม่เชื่อฟังโองการใด ๆ ของพระนารายณ์ พระองค์จึงทรงนำเถาไม้ต่าง ๆ 7 ชนิด มาร่ายมนตร์แล้วฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์ ทำให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวแทบจะแตก วิ่งเข้าต่อสู้กับพระองค์แต่สู้ไม่ได้ พระนารายณ์ทรงซัดเชือกบาศผูกมัดเท้าขวาของช้างเอกทันต์ ทรงนำพระแสงตรีอาวุธประจำพระองค์ ปักลงพื้นดินแล้วอธิษฐานให้เป็นต้นมะตูม จากนั้นเอาปลายเชือกบาศผูกกับต้นมะตูม ช้างเอกทันต์จึงพ่ายแพ้

อนึ่ง ใบมะตูมนี้บางตำราถือว่าเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ (พระอิศวร) และบางตำราถือว่าลักษณะ 3 แฉกนั้นแทน พระพรหม, พระวิษณุ (พระนารายณ์) และพระศิวะ (พระอิศวร)

ใบมะตูมในพระราชพิธีในปัจจุบัน

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานใบมะตูมในงานพระราชพิธีที่เป็นมงคล อาทิ

ในงานดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานใบมะขม (ใบมะตูมอยู่ในพระมหาสังข์) และทรงเจิมแป้งหอมที่หน้าผากผู้เข้าเฝ้า

การรับพระราชทานใบมะตูม

ให้ผู้เข้ารับพระราชทานยกมือขวาขึ้นเอางาน ก่อนรับพระราชทาน เมื่อรับพระราชทานแล้วให้เหน็บใบมะตูมไว้ที่ซอกเหนือหูขวา

ลักษณะของใบมะตูม ต้นมะตูม

ใบมะตูมจะไม่เหมือนใบไม้ชนิดอื่น คือใบมะตูมจะมี 3 แฉก ต้นมะตูมเป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูง 8-15 เมตร มีกิ่งหนามแหลม ใบผสมสลับเรียงกันมีใบย่อย 3 ใบ ขอบหยักตื้น ใบยอดมีขนาดใหญ่กว่าใบคู่ล่าง เนื้อใบหนามีจุดใสกระจายอยู่ทั่วผืนใบ ขึ้นตามป่าเบญพรรณและปลูกกันทั่วไป

สิ่งที่ถือว่าเป็นมงคล 8 ประการ

1. ใบเงิน 2. ใบทอง 3. ใบนาค 4. ใบพรหมจรรย์ 5. หญ้าแพรก 6. ฝักส้มป่อย 7. ผิวมะกรูด 8. ใบมะตูม – เหตุที่ถือว่า ใบไม้และผิวของผลไม้ 8 อย่างเป็นมงคลเพราะถือว่า ใบเงิน ใบทอง ใบนาค หมายถึงความมั่งคั่ง , ใบพรหมจรรย์ หมายถึง ความบริสุทธิ์สะอาด , หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงามรวดเร็ว , ฝักส้มป่อย หมายถึง การล้างโรคภัย , ผิวมะกรูด หมายถึง ทำให้สะอาด และใบมะตูม หมายถึง เทพพรของพระเป็นเจ้าของศาสนาพราหมณ์ทั้งสาม คือ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม

พระราชพิธีที่ประกอบขึ้น ก่อนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก ในสมัย ร.9

วันประกอบพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ คือ วันที่ 23 เมษายน พุทธศักราช 2493 .. เมื่อจารึกพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกรเสร็จแล้ว พระราชครูวามเทพมุนี (สวาสดิ์ รังสิพราหมณกุล) หลั่งน้ำสังข์ที่พระสุพรรบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ พระราชลัญจกร และพระสุพรรณบัฏอื่นๆ สอดใบมะตูม 1 กิ่ง มี 3 ใบ แล้วจัดเตรียมให้พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช 3 รอบ เป็นอันเสร็จพิธี และเตรียมแห่เข้ามณฑลพระราชพิธีในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส / ชมภาพ

การพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้กำหนดพระฤกษ์ในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 ณ วังสระปทุม ตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวรรษาอัยยิกาเจ้า มีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามเป็นราชสักขี

และเวลา 10.45 น. สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวรรษาอัยยิกาเจ้า ถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ และทรงเจิมแด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินีแล้วพระราชทานเครื่องพระราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ประดับเพชร

ที่มา siamrath.co.th/n/76205

ภาพประวัติศาสตร์ ราชาภิเษกสมรส – สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชินีสุทิดา

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2562 เมื่อเวลา 16.32 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ ห้อง ว.ป.ร. พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา ในการสถาปนาสมเด็จพระราชินี

ที่มา : www.silpathai.net , ล้านรู้ กับ “เอกสา ชญาภู” , พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช๒๕๖๒ , thanapon67.blogspot.com , พราหมณ์ดอทคอม

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง