บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย สมัยโบราณกับปัจจุบัน | พระยา หลวง ขุน หมื่น พัน

บรรดาศักดิ์ คือ ระดับชั้น หรือยศของขุนนางไทยในสมัยโบราณ มองในภาพปัจจุบันเทียบได้คร่าวๆ ดังนี้

บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย โบราณ-ปัจจุบัน

ข้าราชการระดับ 1 เทียบ “นาย”
ข้าราชการระดับ 2 เทียบ “พัน” หรือ “หมื่น”
ข้าราชการระดับ 3,4 เทียบ “ขุน” (เพราะระดับ 3 ถือเป็นข้าราชการสัญญาบัตร)
ข้าราชการระดับ 5,6 เทียบ “หลวง”

ข้าราชการระดับ 7,8 เทียบ “พระ”
ข้าราชการระดับ 9,10 เทียบ “พระยา” (โดยระดับ 10 อาจเทียบพระยานาหมื่น คือศักดินา 10,000 ไร่ ส่วนระดับ 9 เทียบพระยาศักดินาต่ำลงมาคือ 5,000 ไร่)
ข้าราชการระดับ 11 เทียบ “เจ้าพระยา”

บรรดาศักดิ์ จมื่น หรือ พระนาย

บรรดาศักดิ์ จมื่น หรือ พระนาย นั้น เป็นบรรดาศักดิ์ หัวหน้ามหาดเล็ก ในกรมมหาดเล็ก ศักดินา 800-1000 ไร่ เทียบได้เท่ากับ บรรดาศักดิ์ พระ ที่มีศักดินาใกล้เคียงกัน แต่จมื่นนั้นได้รับการยกย่องมากกว่า เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน และมักจะมีอายุยังน้อย อยู่ในระหว่าง 20-30 ปี มักเป็นลูกหลานของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่นำมาถวายตัวรับใช้ใกล้ชิด พระเจ้าแผ่นดิน และเป็นช่องทางเข้ารับราชการต่อไปในอนาคต

บรรดาศักดิ์ขุนนางไทย -ระบบศักดินา

แต่สมาชิกหมายเลข 2721024 ของ Pantip ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้…

จริงๆ แล้วไม่สามารถที่จะเทียบกันได้แบบเป็นลำดับตายตัวอย่างที่ “วิกิพีเดีย”กล่าวอ้างได้ เพราะบรรดาศักดิ์ขุนนางไทยจะต้องเทียบกันด้วย “ระบบศักดินา”

หลักการปกครองสมัยอยุธยา

ตามหลักการปกครองสมัยอยุธยา มีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” แค่ 2 คน, ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งบรรดาศักดิ์ของขุนนางที่สูงที่สุดในสมัยอยุธยา ไม่มีตำแหน่งขุนนางใดจะสูงกว่านี้อีกแล้ว (บางคนอาจแย้งว่า ยังมีบรรดาศักดิ์”สมเด็จเจ้าพระยา”ที่สูงว่า เป็นความจริง แต่เป็นความจริงในสมัยรัตนโกสินทร์ครับ เพราะ ในสมัยอยุธยาไม่มีบรรดาศักดิ์ สมเด็จเจ้าพระยา ครับ)

1. “สมุหนายก” มีฐานะเป็น”เจ้าพระยาสมุหนายก” อัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการพลเรือนทั่วประเทศ และ กับกำดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ

2. “สมุหพระกลาโหม” มีฐานะเป็น”เจ้าพระยาสมุหพระกลาโหม” อัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการทหารทั่วประเทศ และกับกำดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้
ซึ่งถ้าเปรียบเทียบหน้าที่ความรับผิดชอบกับปัจจุบัน นั้นก็คือ ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี

ซึ่งบางคนอาจจะแย้งว่า ตำแหน่ง”สมุหพระกลาโหม” คือ รัฐมนตรีกลาโหม และ “ตำแหน่งสมุหนายก” คือ รัฐมนตรีมหาดไทย เป็นเรื่องจริงครับ แต่มันเป็นความจริงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 ครับ ไม่ใช่ในสมัยอยุธยา

โดยจะเห็นว่า เจ้าพระยาสมุหนายก และ เจ้าพระยาสมุหพระกลาโหม ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” เทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ ข้าราชการระดับ 11 ตามที่ วิกิพีเดีย อ้างแต่อย่างใด

ระบบศักดินาไทย

ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – พ.ศ. 2031) พระองค์ได้ทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 1997 โดยกำหนดให้บุคคลทุกประเภทในสังคมไทยมีศักดินาด้วยกันทั้งสิ้น นับตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ลงไปถึงบรรดาไพร่ ทาส และพระสงฆ์ ยกเว้นองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมิได้ระบุศักดินาเอาไว้ เพราะทรงเป็นเจ้าของศักดินาทั้งปวง

ศักดินา คือ ตัววัดในการปรับไหม และ พินัยในกรณีขึ้นศาล คนที่ถือศักดินาสูง เมื่อทำผิดจะถูกลงโทษหนักกว่าผู้มีศักดินาต่ำ การปรับในศาลหลวง ค่าปรับนั้นก็เอาศักดินาเป็นบรรทัดฐานการกำหนดระบบศักดินาขึ้นมาก็เพื่อ ประโยชน์ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชน หน่วยที่ใช้ในการกำหนดศักดินา ใช้จำนวนไร่เป็นเกณฑ์ แต่มิได้หมายความว่าศักดินาจะเป็นข้อกำหนดตายตัวเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในการ ถือครองที่ดิน

ศักดินาไม่เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นวิธีการลำดับ “ศักดิ์” ของบุคคลตั้งแต่ พระมหาอุปราช ขุนนาง ข้าราชการ ลงไปจนถึงไพร่และทาส โดยกำหนดจำนวนที่นามากน้อยตามศักดิ์ของคนนั้น พระมหาอุปราชมีศักดินา 100,000 ไร่ และสูงสุดของขุนนางคือ ชั้นเจ้าพระยามีศักดินา 10,000 ไร่ คนธรรมดาสามัญมีศักดินา 25 ไร่ ทาสมีศักดินา 5 ไร่ เป็นต้น

ถ้าเทียบกันก็คล้ายกับ ซี ในระบบราชการปัจจุบัน ที่ทำให้รู้ว่าข้าราชการคนนั้นอยู่ในลำดับสูงต่ำกว่ากันแค่ไหน แต่ศักดินากว้างกว่าคือครอบคลุมทุกคนในราชอาณาจักรเว้นแต่พระมหากษัตริย์

ไม่ได้หมายความว่าคนในระบบศักดินามีที่ดินได้ตามจำนวนศักดินา ในความเป็นจริง ทาสไม่มีสิทธิ์ครอบครองทรัพย์สินที่ดินใด ๆ ทั้งนั้น

ความหมายที่แตกต่างของ ศักดินา

นอกจากนี้ยังมีผู้ให้ความหมายของคำว่าศักดินาแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้

– ใช้กำหนดสิทธิและหน้าที่

ก. ศักดินา เป็นระบบในสังคมโบราณที่ใช้กำหนดสิทธิและหน้าที่ ของเจ้านาย ขุนนาง ตลอดลงมาจนถึงไพร่ไว้อย่างทั่วถึงตามพระราชกำหนดกฎหมาย ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่นา ผู้ที่เสนอความเห็นดังกล่าวได้แก่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ว่ามีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า การวัดศักดิ์หรือศักดินาของคนในประเทศนั้น ใช้มาตราวัดที่ดินคือไร่ เป็นเครื่องวัด ทั้งนี้ทำให้น่าคิดไปว่า ระบบศักดินาของไทยนั้น ในระยะเริ่มอาจเกี่ยวกับการถือที่ดินเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับระบบฟิวดัลของฝรั่ง แต่ถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่าเคยมีการถือที่ดินกันตามศักดินา เพราะฉะนั้นถ้าคิดอีกทางหนึ่งแล้วก็น่าจะคิดได้ว่า สังคมเมืองไทยนั้นเป็น สังคมกสิกรรม เมื่อถึงคราวที่จะวัดศักดิ์ของคน ผู้ที่เริ่มคิดจะวัดศักดิ์ของคนนั้น อาจนึกถึงมาตราวัดที่ดินได้ก่อนสิ่งอื่นก็ได้ มิฉะนั้นคำว่า ศักดินานั้นอาจแปลแต่เพียงว่า นาแห่งศักดิ์ ก็ได้ เพื่อให้เห็นแตกต่างกับนาที่เป็นเนื้อที่ดินสำหรับปลูกข้าวหรือประกอบ กสิกรรมอย่างอื่น

มีผู้คัดค้านอีกว่า ตัวเลขของศักดินาเป็นเครื่องกำหนดสิทธิและอำนาจในการปกครองที่ดินนั้นไม่น่า เป็นไปได้ เพราะประการแรก สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ดินมิได้มีค่ามากที่สุด เพราะที่ดินสมัยนั้นมีเหลือเฟือ ประการที่สอง ถ้ามีการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินจริงๆ คนที่ถือกรรมสิทธิ์เหล่านี้จะไปหาคนที่ไหนมาทำนาบนผืนดินของตน ในเมื่อสังคมไม่มีระบบทาสติดที่ดินเหมือนสังคมตะวันตก ประการที่สาม จะเห็นได้ว่าคดีพิพาทที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นเรื่องพืชผล การเน้นเรื่องที่ดินไม่ได้เน้นตัวที่ดินแต่เน้นที่พืชผล ถ้าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ใครก็เข้าไปหักร้างถางพงได้ ดังปรากฏในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จมาตรา ๕๕ และประการสุดท้ายกฎหมายสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เหลือตกทอดมาปัจจุบัน มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินมากมาย แต่ไม่มีมาตราเดียวที่กล่าวถึงการที่ขุนนางหรือผู้ใดมีที่ดินจับจองเกิน ศักดินา ดังนั้นศักดินาจึงไม่น่ามีความหมายถึงสิทธิในการจับจองที่ดิน

– กรรมสิทธิ์และอำนาจ

ข.ระบบศักดินา เป็นระบบที่ว่าด้วยกรรมสิทธิ์และอำนาจในการครอบครองที่นาของบุคคล ได้มากน้อยต่างกันตามยศศักดิ์ ผู้เสนอความเห็นมีดังต่อไปนี้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า “เพราะข้าราชการสมัยก่อนไม่มีเบี้ยหวัดเงินเดือน ที่ดินคือที่นาเป็นสมบัติอันมีค่ามากกว่าสิ่งอื่น เมื่อไม่ได้มีการแบ่งที่ดินกันและให้คนมีที่ดินมากน้อยต่างกันตามกำลังยศ ศักดิ์ จึงตั้งพระราชกำหนดศักดินากำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา”

ดำ เนิร เลขะกุล กรรมการชำระประวัติศาสตร์ กล่าวว่า… “ทำเนียบศักดินาเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดศักดินาหรือค่าของพลเรือนแต่ ละคนว่า บุคคลชั้นใดมีศักดินาเป็นพื้นที่จำนวนกี่ไร่

– ครอบครองที่ดิน

ค.ระบบศักดินา คืออำนาจในการครอบครองที่ดิน ซึ่งเป็นปัจจัยในการทำมาหากิน เป็นระบบขูดรีดโดยชนชั้นสูงที่จะได้ประโยชน์จาก ค่าเช่า ภาษีและอื่นๆ ผู้เสนอความเห็นได้แก่

จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่า … ระบบศักดินาเป็นระบบที่จัดตั้งขึ้น เพื่อให้ชนชั้นสูงและพระภิกษุได้ครอบครองปัจจัยในการผลิตคือที่ดิน ซึ่งเป็นสมบัติที่มีค่าอย่างยิ่งในสังคมที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจอยู่ที่การ เกษตร ในระบบศักดินาจะมีทั้งผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินจริงๆ ซึ่งเป็นกลุ่มน้อย และผู้ที่ได้เพียงสิทธิในการครอบครองทำผลประโยชน์เท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในสังคมคือ ไพร่

ฉัตร ทิพย์ นาถสุภา นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวสรุปได้ว่า … ระบบเศรษฐกิจศักดินาผู้เป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ขูดรีดชาวนา โดยให้ชาวนารับช่วงที่ดินไปทำนา แล้วบังคับให้มอบผลผลิตแก่ตน ต้องถูกเกณฑ์แรงงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

ทั้งสามประเด็นนี้ คือทัศนะต่างๆ เกี่ยวกับความหมายของ “ศักดินา” เรื่องราวเกี่ยวกับศักดินาปรากฏแน่ชัด ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยบ่งบอกไว้ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน และนาทหารหัวเมือง ศักดินาจึงน่าจะหมายถึงกรรมสิทธิ์ในการถือที่นากำหนดตามชั้นของขุนนางว่าจะ จองที่นาได้สูงสุดจำนวนกี่ไร่ แล้วแต่ศักดินาและจำนวนคนของตน

นอกจากนั้น ศักดินายังเป็นเครื่องกำหนดหน้าที่ ขอบข่ายความรับผิดชอบ อภิสิทธิ์ สิทธิแห่งอำนาจ ฐานะในสังคมตั้งแต่ชั้นเจ้านาย ขุนนาง ลงมาถึงไพร่และทาส ศักดินาในระยะแรก ซึ่งอาจมีมาก่อนสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแล้ว อาจตั้งแต่เริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา ศักดินาตอนแรกคงไม่ยุ่งยากเพราะคนยังไม่มาก และมีการพระราชทานที่ดินให้จริงๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต่อมาภายหลังต้องจัดให้เป็นระบบเพราะคนมากขึ้น ผืนดินน้อยลง การให้ศักดินาก็เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอาณาจักร เพื่อผู้นั้นจะได้บุกเบิก ขยันทำมาหากินบนผืนดินที่ได้รับพระราชทาน การพระราชทานศักดินาต้องทรงคำนึงถึงความสามารถของผู้รับด้วย

ที่มา pantip.com/topic/35839129

เนื้อหาน่าสนใจ

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง