สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดเผยปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2019 และชวนเพื่อนๆ ที่สนใจร่วมเฝ้าชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2019 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์
โดยส่วนใหญ่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2019 มักจะเกี่ยวข้องกับดวงจันทร์ ซึ่งถือเป็นความบังเอิญก็ว่าได้เพราะในปีนี้เป็นการครบรอบ 50 ปี ของการไปเยือนดวงจันทร์เช่นกัน ตลอดทั้งปี 2019 จะมีปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้นบ้างไปชมกันเลยค่ะ
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก (Super Full Moon)
สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกในปีนี้ เกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
ครั้งที่ 1 วันที่ 21 มกราคม 2562
ครั้งที่ 2 วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562
ครั้งที่ 3 วันที่ 21 มีนาคม 2562
โดยครั้งที่ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งดวงจันทร์จะมีระยะทางห่างจากโลกประมาณ 365,836 กิโลเมตร ทำให้เราสามารถเห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงปกติ ประมาณ 6.3 เปอร์เซนต์ สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.10 น. ทางทิศตะวันออก
เกร็ดน่ารู้เรื่อง ดวงจันทร์เต็มดวง
การเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงมีชื่อเรียกหลายแบบ ตามระยะห่างระหว่างโลกและดวงจันทร์ สามารถจำแนกได้ดังนี้
– ดวงจันทร์เต็มดวงแบบ ปกติ ดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร
– ดวงจันทร์เต็มดวงแบบ Super Moon คือการที่ดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงไป
– ดวงจันทร์เต็มดวงแบบ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด คือการที่ดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป
ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
ฝนดาวตก (Meteor shower)
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกมีให้ชมตลอดทั้งปี 2019 แต่ที่น่าสนใจนั่นคือ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ และฝนดาวตกเดลต้า- อควอริดส์” เนื่องจากช่วงวันที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกนั้น จะไม่มีแสงจากดวงจันทร์รบกวน โดยมีช่วงเวลาในการสังเกตดังนี้
ฝนดาวตกควอดรานติดส์ : 3-4 มกราคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.30 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 4 มกราคม
ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ : 6-7 พฤษภาคม (เฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง) สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งมีอัตราการตก 50 ดวงต่อชั่วโมง
ฝนดาวตกเดลต้า- อควอริดส์ : 30-31 กรกฎาคม (เฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง) สังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งมีอัตราการตก 25 ดวงต่อชั่วโมง
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) : 17 กรกฎาคม 2562
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน เกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.44 – 06.00 น. จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงค่อยๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย โดยเงาโลกบังมากที่สุดประมาณร้อยละ 65 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ ในเวลาประมาณ 04.30 น.
เกร็ดน่ารู้เรื่อง จันทรุปราคาบางส่วน
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดจากดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่กลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ หากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามืดของโลกแค่บางส่วน เรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” โดยปรากฏการณ์นี้ นอกจากจะถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโลกได้อีกด้วย
ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลก (Micro Moon) : 14 กันยายน 2562
ปรากฏการณ์ไมโครมูน (Micro Moon) เป็นวันที่ “ดวงจันทร์เต็มดวงและโคจรอยู่ห่างจากโลกที่สุด” ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 กันยายน 2562 โดยมีระยะห่างจากโลกถึงดวงจันทร์ประมาณ 406,365 กิโลเมตร ทำให้ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏขนาดเล็กที่สุดในรอบปี ซึ่งหากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวง ขณะโคจรมาใกล้โลกกับไกลโลกที่สุด ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30%
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) : 26 ธันวาคม 2562
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:18 – 13:57 น. ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81
ซึ่งในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ครั้งนี้ ถึงแม้ว่าดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บังมากถึงร้อยละ 81 แต่แสงสว่างของดวงอาทิตย์ก็ยังมีความเข้มสูง จึงจำเป็นต้องถ่ายภาพผ่านแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์ เช่น แผ่นไมล่า หรือ เป็นวัสดุโพลีเมอร์สีดำ ซึ่งจะทำให้แสงของดวงอาทิตย์เป็นสีแดงอมส้ม
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก narit.or.th
บทความแนะนำ
- 7 เรื่องดาราศาสตร์ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 รอชมปรากฎการณ์ต่างๆ กันได้เลย
- นักดาราศาสตร์ ค้นพบระบบสุริยะใหญ่สุดในกาแลคซี่
- ครีษมายัน วันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี (Summer solstice)
- ห้ามพลาด … ดาวอังคารโคจรใกล้โลกมากที่สุด ในรอบ 15 ปี คืนนี้ 31 ก.ค. 61
- วันศารทวิษุวัต กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ปรากฏการณ์สำคัญการขึ้น-ตกดวงอาทิตย์