ประวัติความเป็นมา วันพ่อแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและเป็นวันชาติ โดยสัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อ คือ ดอกพุทธรักษา ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา
ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร.9) เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ของปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีการประกาศจากรัฐบาลของประเทศไทยว่า “วันพ่อแห่งชาติ” ของประเทศไทย จะยังคงไว้ ให้เป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีต่อไปตามเดิม
ความเป็นมา วันพ่อแห่งชาติ
หลักการและเหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อขึ้นแห่งชาติ เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคมที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเป็น “วันพ่อแห่งชาติ”
วัตถุประสงค์การจัดงานวันพ่อแห่งชาติ
– เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณ ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
– เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
– เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ
– เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน
กิจกรรมในวันพ่อแห่งชาติ
– ประดับธงชาติไทยบริเวณอาคารบ้านเรือน
– จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ร.9)
– จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
วันชาติในประเทศไทย
นอกจากนี้ วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ยังถือเป็น “วันชาติ” ในประเทศไทย เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย เดิมกำหนดเป็นวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎรก่อการปฏิวัติสยามใน พ.ศ. 2475 โดยเริ่มประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 และเริ่มงานฉลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482ต่อมาใน พ.ศ. 2503 จึงเปลี่ยนไปเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย ตามอย่างประเทศราชาธิปไตยอื่น ๆ ปัจจุบันตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี
ความรู้เกี่ยวกับ ดอกพุทธรักษา
ดอกพุทธรักษา เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี โดยถูกพบครั้งแรกหมู่เกาะเวสอินดี้ แถบอเมริกาใต้ ก่อนที่จะถูกพัฒนาและขยายพันธุ์มาเรื่อย ๆ ทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยดอกพุทธรักษาสามารถปรับตัวให้ทนต่อสภาพอากาศต่าง ๆ ได้ สำหรับในประเทศไทยนั้นแม้จะไม่มีบันทึกไว้ว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อดอกไม้สี เหลืองชนิดนี้ แต่ต้นพุทธรักษาก็เป็นพรรณไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และปลูกกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่ปลูกง่าย และมีความสวยงามอยู่เสมอ
โดย ต้นพุทธรักษา มีชื่อเรียกอื่นว่า พุทธศร หรือ บัวละวงศ์ เป็นพืชในวงศ์ CANNACEAE ชื่อสามัญ Canna, Indian shoot และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Canna generalis เป็น พรรณไม้ล้มลุก เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงประมาณ 1–2 เมตร โดยมีเหง้าอยู่ใต้ดิน และเจริญเติบโดด้วยการแตกหน่อ มีใบสีเขียวลักษณะเรียวแหลม ออกดอกได้หลายสี ทั้งสีเหลือง สีแดง สีแสด สีชมพู สีขาว ซึ่งจะออกดอกเป็นช่อ ๆ ช่อละ 8-10 ดอก ความยาวดอกประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีกลีบดอก 3 กลีบ หากบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร และออกดอกตลอดทั้งปี
ดอกพุทธรักษา ภาษาอังกฤษ Canna lilly
ความหมายของดอกพุทธรักษา
เนื่องจากดอกพุทธรักษา มีสีเหลืองงามซึ่งตรงกับสีของวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (วันจันทร์) รวมทั้งเป็นไม้มงคลที่คนไทยเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าที่คอยคุ้ม ครองปกปักรักษา ให้มีความสงบสุข ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ และรอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวงได้
ดังนั้นดอกพุทธรักษาจึงเป็น “ดอกไม้วันพ่อ” ที่ มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นอย่างดี ที่จะใช้เป็นตัวแทนในการมอบความเคารพบูชาให้กับพ่อ และอวยพรให้พ่อได้มีการคุ้มครองปกป้อง อย่างสงบสุขร่มเย็นโดยไม่มีอันตรายใด ๆ นั่นเอง
การปลูกต้นพุทธรักษา
1. ปลูกในแปลงปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน โดยนิยมปลูกไว้เป็นแนวรั้วบ้าน วิธีการปลูกให้ขุดหลุม 30x30x30 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก กับ ดินร่วน อัตราส่วน 1:1 หากปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ใช้แปลงปลูกขนาด 2×10 เมตร
2. การปลูกในกระถางควรใช้กระถางทรงสูงขนาด 10 – 16 นิ้ว ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ดินร่วน และแกลบผุ อัตราส่วน 1:1:1 และควรเปลี่ยนกระถางเดือนละ 1 ครั้ง
การดูแลรักษา
ชอบแสงรำไร หรือแสงแดดจัด, ชอบน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 3-5 ครั้งต่อวัน , เติบโตได้ดีในดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักครั้งละ 500 กรัม – 1 กิโลกรัมต่อกอ ปีละประมาณ 4-6 ครั้ง
ที่มา talk.mthai.com , ภาพจาก bekingdoms.blogspot.com
บทความน่าสนใจ
- ดาวเรือง ดอกไม้ประจำพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
- ต้นรวงผึ้ง พรรณไม้ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 10
- ชื่อเรียกดอกไม้ ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ
- สรรพคุณรอบด้าน ดอกดาวเรือง ใช้ให้เกิดประโยชน์ | ชงชา ป้องกันแมลง กินเป็นผัก!
- 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 9
- 5 ธันวาคม วันชาติ (ประเทศไทย) | ย้อนรำลึกเหตุการณ์สำคัญของโลก