ประวัติความเป็นมา วันคริสต์มาส เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Christmas Day

Jingle Bells…. Jingle Bells... วันคริสต์มาส เป็นอีกหนึ่งเทศกาลของคนตะวันตก ที่แพร่หลายไปทั่วโลก จะเปรียบได้ก็เหมือนวันสงกรานต์ของบ้านเรานั่นเอง วันนี้เป็นวันที่ทุกคนจะอยู่กับครอบครัว หลังจากที่ทำงานมาทั้งปี วันนี้เป็นวันสำคัญของผู้นับถือศาสนาคริสต์ เพราะเป็นวันครบรอบวันประสูติของพระเยซู หรืออีกความหมายคือ การฉลองการกำเนิดของพระเยซู อ่าน ประวัติวันคริสต์มาส – Christmas Day

ประวัติวันคริสต์มาส

ความเป็นมา คำว่า Christmas

คำว่า คริสต์มาส เป็นคำทับศัพท์ ภาษาอังกฤษ Christmas ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษโบราณ ว่า Christes Maesse ที่แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เพราะการร่วมพิธีมิสซา เป็นประเพณีสำคัญที่สุดที่ชาวคริสต์ถือปฏิบัติกันในวันคริสต์มาส .. คำว่า Christes Maesse พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษ ในปี 1038 และคำนี้ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas ในภาษาไทย “คริสต์มาส” ก็มีความหมายเช่นกัน คำว่า มาส แปลว่า เดือน

เทศกาลคริสต์มาส จึงเป็นเดือนที่เราระลึกถึงพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพิเศษ

อีกความหมายหนึ่งของคำว่า มาส คือ ดวงจันทร์ ฉะนั้นจึงตีความหมายเป็นภาษาไทยได้อีกอย่างหนึ่งคือ พระเยซูทรงเป็นความสว่างของโลก เหมือนดวงจันทร์เป็นแสงสว่างในตอนกลางคืน

ชื่อ คริสต์มาส มาจากภาษาอังกฤษ “มิสซาของพระคริสต์” คือ พิธีนมัสการที่ชาวคาทอลิค ทำกันในเวลาเที่ยงคืนของ คืนวันที่ 24 เดือนธันวาคม ชาวเยอรมันเรียกว่า “ไวน์หนากท์” ซึ่งแปลว่า “คืนศักดิ์สิทธิ์”

การให้ของขวัญในวันคริสต์มาส

เป็นธรรมเนียมนี้ เริ่มกับชาวโรมที่เคยให้ของขวัญแก่เพื่อนในวันขึ้นปีใหม่ (มักจะเป็นผลไม้ ขนม หรือทองคำ) ต่อมาชาวอังกฤษถือ “วันกลอง” (ในวันที่ 26 ธันวาคม) เป็นวันที่ศิษยาภิบาลเคยเปิด “กลองทาน” ในโบสถ์ และแจกเงินให้สมาชิกที่ยากจน ต่อมาชาวอังกฤษก็ให้ของขวัญแก่พวกคนใช้ และเจ้าหน้าที่ต่างๆ ในวันนั้นด้วย

ในทวีปยุโรป เด็กๆ มักจะเข้าใจว่า พระกุมารเยซูเป็นผู้นำของขวัญมาให้เขา (แท้จริงแล้วพ่อแม่เป็นผู้ที่ให้ต่างหาก) แต่เด็กที่สหรัฐอเมริกา มักจะคิดว่า “ซานตาคลอส” เป็นผู้ให้ในคืนก่อนวันคริสต์มาส หรือคริสต์มาสอีฟ จะมีงานแครอลลิ่ง ซึ่งจะมีเด็กๆ ไปร้องเพลงตามบ้าน ในคืนวันคริสต์มาส ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ จะมารวมตัวกันที่โบสถ์เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การแสดง ร้องเพลง คำทักทาย Merry X’mas

อ่านบทความ : คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับ วันคริสต์มาส – Christmas Day

คำว่า Merry Christmas แปลว่า ..

คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุข และความสงบทางใจ เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรให้แก่ผู้ที่เรารัก เคารพ และนับถือ ขอให้เราได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส

ชาวไทยฉลอง “เฉลิมพระชนม์พรรษา” วันที่ 5 ธันวาคม เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกปี ในสมัยโบราณก็มีประเพณีเช่นเดียวกัน ชาวโรมันมีการระลึกถึงการสมภพของพระเจ้าจักรพรรดิ คนท้องถิ่นอื่นก็ระลึกถึงและเฉลิมฉลองวันเกิดของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองของตนด้วยความยินดี แม้แต่ชาวยิวในสมัยของพระเยซูเอง ก็ฉลองการเกิดของ กษัตริย์เฮรอด เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ชาวคริสต์สมัยโบราณ ถือเอาประเพณีของชนในท้องถิ่นนั้น มาประยุกต์เข้ากับศาสนา โดยจัดให้มีการฉลอง เพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ ได้เริ่มมาจากกรุงโรมในศตวรรษที่ 4 และค่อยๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป

สำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสนั้น ทางประเทศตะวันตกเริ่มฉลองการประสูติของพระเยซู ในวันที่ 25 ธันวาคม มาตั้งแต่ ค.ศ.354 เป็นอย่างช้า เหตุที่เลือกวันนี้ เพราะตรงกับงานฉลองเทพและฤดูกาลในสมัยนั้น เช่น วันเหมายัน ซึ่งดวงอาทิตย์โคจรมาอยู่ในจุดใต้สุดในฤดูหนาว และเป็นวันที่กลางคืนยาวกว่ากลางวัน สัปดาห์เฉลิมฉลองของชาวโรมัน งานฉลองเทพเจ้าแซตเทิร์น และการฉลองวันสิ้นปี เป็นต้น

 ค.ศ. 1645 ชาวอังกฤษผู้เคร่งศาสนากลับให้ถือศีลอดแทนการฉลอง แต่พระเจ้าชาลส์ ที่สองฟื้นฟูเทศกาลคริสต์มาสขึ้นมาอีกครั้ง ใน ค.ศ.1660 การฉลองในรัชสมัยของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย กลายเป็นต้นแบบของงานคริสต์มาส และแพร่หลายไปทั่วโลก ในเวลาต่อมาตลอดเดือนธันวาคม ร้านรวงส่วนใหญ่จะตกแต่งซุ้มพระกุมารเยซู และที่ขาดไม่ได้คือ ซานตาคลอส

ตัวจริงของซานตาครอส คือนักบุญนิโคลัส

ตัวจริงของซานตาครอส คือนักบุญนิโคลัส ซึ่งเป็นบาทหลวงในตุรกีช่วงคริสต์ศตวรรษที่สี่ ผู้ขึ้นชื่อในเรื่องความใจดีโดยเฉพาะกับเด็กๆ ต่อมาท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วฮอลแลนด์ในชื่อ “ซินเตอร์คลาส” ราวค.ศ.1870 ชาวอเมริกันเรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น“ซานตาคลอส”

ตั้งแต่แรกจนถึง ค.ศ. 1890 ภาพของ ซานตาคลอสเป็นชายร่างผอมสูง สวมชุดสีเขียว หรือน้ำตาลสลับแดง เจนนี ไนสตรอม ศิลปินชาวสวีเดน เป็นผู้คิดค้นรูปลักษณ์ของซานตาครอสอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยวาดภาพ ลงในบัตรอวยพรคริสต์มาส ภาพเหล่านี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เมื่อชาวสวีเดนอีกคนชื่อ แฮดดอน ซันด์บลอม นำภาพวาดของไนสตรอมสวมชุดขาวแดง อันเป็นสีเดียวกับเครื่องหมายการต้าของโคคา-โคล่า ซันด์บลอมยังเปลี่ยนโฉมซานตาคลอสให้ทรวดทรงอ้วนท้วน และมีกวางเรนเดียร์เป็นพาหนะประจำตัว

ความคิดที่ว่าซานตาคลอสเข้าบ้านทางปล่องไฟ เริ่มขึ้นใน ค.ศ.1822 เมื่อ คลีเมนต์ มัวร์ นักคิดชาวอเมริกัน ประพันธ์บทกลอนชื่อ “เมื่อนักบุญนิโคลัสมาเยี่ยมเยือน”

ชาวเยอรมัน เป็นคนเริ่มใช้ต้นไม้คริสต์มาสก่อนคนอื่น

(ประมาณปี ค.ศ. 1000) เขาใช้ต้นไม้คริสต์มาสเพื่อตกแต่งบ้านด้วย และในปี ค.ศ.1800 การใช้ต้นไม้คริสตมาสได้แพร่หลายไปทั่วภาคเหนือของยุโรป แล้วต่อมาอีกไม่นานชาวเยอรมันอพยพไปยังสหรัฐอเมริกา จึงได้เริ่มใช้ต้นไม้ คริสต์มาสที่นั้นด้วย ปัจจุบันชาวอเมริกาก็ใช้กันเกือบทุกครอบครัว

ดอกไม้คริสตมาส ในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า “พอยน์เสตทา” ตามชื่อของ ดร.โจเอล โรเบิร์ท พอยน์เสตทา เอกอัครราชฑูตของสหรัฐอเมริกา ที่ได้พบดอกไม้ชนิดนี้ในประเทศเม็กซิโก เมื่อ ค.ศ.1828 ชาวอเมริกากลางก็เรียกว่า “ดอกไม้คืนศักดิ์สิทธิ์”

ต้นคริสต์มาส

ในสมัยโบราณ ต้นคริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาปไม่เชื่อฟัง พระเจ้าตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครที่หน้าวัด ถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลางเพื่อประดับฉาก แสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมและเอวา ต้นไม้ที่ใช้เป็นต้นสน เนื่องจากเป็นต้นไม้ ที่หาง่ายที่สุดในประเทศเหล่านั้น การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี

จนถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามแสดง เนื่องจากการแสดงนั้น กลายเป็นการเล่นเหมือนลิเกล้อชาวบ้าน ผู้ปกครองบ้านเมือง และศาสนาซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลอง ชาวบ้านรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสดูละครสนุกๆ แบบนั้นอีก จึงไปสนุกกันที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้าน เพราะต้นไม้เป็นจุดเด่นในลานวัด ที่เขาเคยร่วมสนุกสนานกัน

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิ้ล และแขวนแผ่นขนมปัง เพื่อระลึกถึงศิลมหาสนิทซึ่งมีวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุด ก็กลายเป็นขนมและของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

การร้องเพลง คริสต์มาส

เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 ซึ่งในสมัยนี้มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเป็นผู้แต่งร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซู แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีวิฒนาการใหม่ในด้านเพลงนี้ เริ่มในประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้มีส่วนในการสนับสนุนให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่ ซึ่งชาวบ้านชอบคือมีท่วงทีทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดี ในโอกาสคริสต์มาสนี้ เพลงเหล่านี้เป็นภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ. 1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบันคือเพลง “ขอเชิญท่านผู้วางใจ” O, Come All Ye Faithful หรือภาษาลาตินว่า “Adeste Fideles”

เพลงคริสต์มาสที่เรานิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมันและประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ Silent Night, Holy Night เป็นภาษาไทยว่า “ราตรีสวัสดิ์ ราตรีสงัด” ความเป็นมาของเพลงนี้คือ วันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ. 1818 คุณพ่อ joseph Mohr เป็นครั้งแรก โดยการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก.

เทียนและพวงมาลัย

ในสมัยก่อน มีกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่งในเยอรมัน ได้เอากิ่งไม้มาประกอบเป็นวงกลมคล้ายพวงมาลัยแล้วเอาเทียน 4 เล่ม วางไว้บนพวงมาลัยนั้น ในตอนกลางคืนของวันอาทิตย์แรก ของเทศกาลเตรียมรับเสด็จทุกคนในครอบครัวจะมารวมกัน ดับไฟ

และจุดเทียนเล่มหนึ่ง สวดภาวนาและร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกัน เขาจะทำดังนี้ทุกอาทิตย์จนครบ 4 อาทิตย์ก่อนคริสต์มาส ประเพณีนี้เป็นที่นิยมและแพร่หลายในที่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมามีการเพิ่ม โดยเอาพวงมาลัยพร้อมกับเทียน ที่จุดไว้ตรงกลาง 1 เล่ม ไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง เพื่อช่วยให้คนที่ผ่านไปมา ได้ระลึกถึงการเตรียมตัวรับวันคริสต์มาสที่ใกล้เข้ามา

และพวงมาลัยนั้นยังเป็นสัญญาลักษณ์ ที่คนโบราณใช้ หมายถึงชัยชนะ แต่ในที่นี้หมายถึง การที่พระองค์มาบังเกิดในโลก และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างครบสมบูรณ์ตามแผนการณ์ของพระเป็นเจ้า

การส่งบัตรอวยพรวันคริสต์มาส

เซอร์เฮนรี โคล นักธุรกิจสิ่งพิมพ์ ชาวอังกฤษ ส่งบัตรอวยพรคริสต์มาส แผ่นแรกใน ค.ศ. 1843 แต่ยังไม่ได้รับความนิยมจนกระทั่งช่วงปลายคริสต์ศตวรรษ บัตรในระยะแรกทำด้วยมือ และราคาแพงมาก ชาวแคนาดาสองคนคือ แฟรงก์ โรส กับกอร์ดอน ลูเท็ต ส่งบัตรอวยพรแผ่นเดิมให้แก่กันไปมาทุกปี ตั้งแต่ค.ศ.1929 ขณะนั้น ทั้งคู่อายุ 12 ขวบ และบ้านอยู่ละแวกเดียวกันบนถนนนอร์ท แวนคูเวอร์ แฟรงก์เสียชีวิตใน ค.ศ.1995 แต่ภรรยาม่ายของเขา ก็ยังส่งบัตรอวยพรแลกเปลี่ยนกับกอร์ดอน วัย 81 เรื่อยมา

อ่านบทความ : คำอวยพรวันคริสต์มาส ภาษาอังกฤษ พร้อมคำแปล – Merry Christmas 

ขนมกรอบ

ทอม สมิท เจ้าของโรงงานขนมในกรุงลอนดอน เริ่มผลิตขนมปังกรอบสำหรับคริสต์มาในทศวรรษ 1940 โดยเริ่มจากผลิตลูกกวาดเป็นห่อๆแบบที่สมิทเคยเห็นวางขายอยู่ในกรุงปารีส ต่อมาจึงแทรกข้อความเกี่ยวกับความรัก ลงในห่อเลียนแบบคำทำนายที่สอดไส้อยู่ภายในขนมนำโชคของชาวจีน

หลายปีต่อมา สมิทสังเกตเห็นฟืนในเตาผิงติดไฟลั่นเปรี๊ยะๆ จึงเกิดความคิดจะทำขนมที่ดังเปรี๊ยะเวลาเคี้ยว ขนมกรอบสูตรใหม่เรียกว่า โคซัก (Cosaques) ออกวางตลาดครั้งแรกใน ค.ศ.1870 จากนั้นเปลี่ยนมาบรรจุกล่องโลหะ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยอดจำหน่ายขนมกรอบคริสต์มาสทั่วโลกสูงถึง 13 ล้านชิ้น ปัจจุบันกลุ่มบริษัททอม สมิทผลิตขนมปังกรอบคริสต์มาสถึงปีละ 50 ล้านชิ้น

นางฟ้ามาจากไหน ?

กำเนิดของนางฟ้าบนยอดต้นคริสต์มาส มาจากตุ๊กตาตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระเยซู ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตุ๊กตานี้ก็กลายเป็นเทวดาเปล่งแสงระยิบระยับในเยอรมนี ในอังกฤษสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย เด็กผู้หญิงจะเก็บตุ๊กตาเทวดาเหล่านี้ ไว้เล่นแต่งตัวหลังสิ้นสุดการฉลอง ในที่สุดเทวดาก็กลายเป็นนางฟ้าถือคฑาวิเศษ ละครเพลงที่แสดงในวันคริสต์มาส และภายหลังได้รับความนิยมในหมู่ชาวอังกฤษในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรีย ช่วยตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้นเพราะมีตัวละครนางฟ้า

ที่มาจาก : www.snr.ac.th และ วิกีพีเดีย ภาพจาก Pexels.com

ภาพประกอบสวยๆ วันคริสต์มาส

คลิปแต่งหน้าปาร์ตี้

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง