เครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นเหรียญที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก หรือเป็นอนุสรณ์สำหรับเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง รวมทั้งเป็นเหรียญที่สำนักกษาปณ์รับจ้างผลิตให้หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ ตามรูปแบบที่กำหนด โดยจะผลิตด้วยโลหะมีค่า ทองคำ เงิน และโลหะผสมทองแดง เช่นเดียวกับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก แต่ต่างกันที่เหรียญที่ระลึกไม่มีสภาพเป็นเงินตรา และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในไทย 4 ประเภท
สรุปย่อ ** เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐ 2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน 3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ ในพระองค์พระมหากษัตริย์ และ 4. เหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่นับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
1. สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐ
ประเภทที่ 1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐ มีชนิดเดียว คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ (ร.ม.ภ.) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 เพื่อพระราชทานประมุขของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยเป็นการเฉพาะแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์สกุลอื่น ๆ ซึ่งเคยพระราชทานมาแล้วในอดีต
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ 1 สำรับ ประกอบด้วย
1. ดวงตรามีรูปจักรและตรีศูลขัดกัน ประดับเพชรพร้อมสายสร้อยสวมคอ
2. ดวงตราลักษณะเช่นเดียวกับที่ใช้ห้อยสายสร้อยคอแต่ขนาดย่อมกว่า สำหรับห้อยกับสายแพรแถบสีเหลืองมีริ้วสีขาว ประกอบด้วยเส้นสีน้ำเงิน อยู่ใกล้ขอบทั้งสองข้าง
3. ดารารูปนารายณ์ทรงครุฑ สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพาย สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย
. . . . .
2. สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
ประเภทที่ 2 เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน มี 8 ชนิด คือ
2.1 เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2425 เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี ที่ได้สถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานีมาเป็นเวลาครบ 100 ปี สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสืบเนื่องโดยตรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และผู้ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ดังกล่าวได้เสกสมรสด้วย … ตราจักรีมีชั้นเดียวประกอบด้วย
1. ตรามหาจักรี พร้อมสายสร้อยสวมคอ
2. ตราจุลจักรี สำหรับห้อยกับสายสะพายสีเหลือง
3. ดาราจักรี สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพายจักรี สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
2.2 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชกรุณาให้สร้างดารานพรัตนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2394 ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยสายสะพาย และแหวนนวรัตน สำหรับพระราชทานพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าและฝ่ายในตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีชั้นเดียว ประกอบด้วย
1. ดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยกับสายสะพายสีเหลืองขอบเขียว มีริ้วสีแดง และน้ำเงินคั่นระหว่างสีเหลืองและขอบเขียว
2. ดารานพรัตน สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
3. แหวนนวรัตน ทำด้วยทองคำเนื้อสูงฝังพลอย 9 อย่าง สำหรับสวมนิ้วชี้มือขวา แหวนนี้มีเฉพาะฝ่ายหน้า (บุรุษ)
// สายสะพายนพรัตน สะพายบ่าขวาเฉียงลงมาทางซ้าย
2.3 เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 เนื่องในโอกาสที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ปกครองประเทศไทยติดต่อกันมาถึง 90 ปี ด้วยความสงบสุข พระองค์จึงทรงพระกรุณาให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านี้ขึ้น ซึ่งเป็นพระนามของพระองค์ และใช้แพรแถบสีชมพู อันเป็นสีของวันพระราชสมภพ คือวันอังคาร
— สำหรับบุรุษ (ฝ่ายหน้า) —
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้ฝ่ายหน้า (บุรุษ) แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้
ฝ่ายหน้า ชั้นที่ 1 มี 2 ชนิด คือ
ก. ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราจุลจอมเกล้าพร้อมสายสร้อยสวมคอ หรือ ห้อยกับสายสะพายสีชมพู
2. ดาราจุลจอมเกล้า สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
3. ดวงตราตติยานุจุลจอมเกล้า สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย เพื่อแสดงถึงการสืบตระกูลของทายาทต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด จนไม่มีทายาทเป็นชาย ที่จะสืบตระกูล
ข. ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) เครื่องประกอบเหมือนปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ เว้นแต่ไม่มีตราตติยานุจุลจอมเกล้า
// สายสะพายจุลจอมเกล้า สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
ฝ่ายหน้า ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด คือ
ก. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราทุติยจุลจอมเกล้า ห้อยแพรแถบสีชมพู สำหรับสวมคอ
2. ดาราทุติยจุลจอมเกล้า สำหรับติดอกเสื้อเบื้องซ้าย
ข. ทุติยจุลจอมเกล้า ประกอบด้วย ดวงตราทุติยจุลจอมเกล้าห้อยแพรแถบสีชมพู สำหรับสวมคอ
ชั้นที่ 3 มี 3 ชนิด คือ
ก. ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) ดวงตราห้อยแพรแถบสีชมพูมีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ สำหรับติดอกเสื้อเบื้องซ้าย
ข. ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) ดวงตราจุลจอมเกล้าห้อยแพรแถบสีชมพู สำหรับพระราชทานให้ผู้สืบตระกูล
ค. ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.) ดวงตราเป็นเงินห้อยแพรแถบสีชมพู สำหรับพระราชทานให้หลานผู้สืบตระกูล
— สำหรับสตรี (ฝ่ายใน) —
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้ฝ่ายใน (สตรี) แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ดังนี้
ฝ่ายใน ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) ประกอบ ด้วย
1. ดวงตราจุลจอมเกล้า สำหรับห้อยสายสะพายสีชมพู
2. ดาราจุลจอมเกล้า สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพายจุลจอมเกล้า สะพายจากบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
ฝ่ายใน ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด คือ ก. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) และ ข. ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
ก. ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ดวงตราชั้นนี้ประดับได้ 2 วิธี คือ จะใช้ห้อยกับสายสะพายสีชมพู สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา หรือจะห้อยกับแพรแถบสีชมพู ผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้ายก็ได้
ข. ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ดวงตรานี้ มีลักษณะเหมือนทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ แต่ใช้ประดับได้วิธีเดียว คือ ห้อยกับแพรแถบสีชมพู ผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย ไม่มีสายสะพาย
ฝ่ายใน ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)
ดวงตราเหมือนกับทุติยจุลจอมเกล้า แต่ขนาดเล็กกว่า ห้อยแพรแถบสีชมพูผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
ฝ่ายใน ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)
ดวงตราเหมือนตราตติยานุจุลจอมเกล้าของบุรุษ ต่างที่จตุตถจุลจอมเกล้ากะไหล่ทองห้อยแพรแถบสีชมพู ผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
อนึ่ง… เมื่อแรกสร้างตราจุลจอมเกล้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องยศแบบโบราณประกอบ ดังนี้
-ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ โต๊ะทอง กาน้ำทองคำ
-ทุติยจุลจอมเกล้า หรือทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พานทองคำพร้อมเชี่ยนหมาก กาน้ำทองคำ พร้อมพานรอง กระโถนทองคำและคนโททองคำเกลี้ยงพร้อมพานรอง ด้วยเหตุที่-ผู้รับพระราชทานตราชั้นนี้โดยมากมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยา” จึงมีผู้เรียกพระยาผู้ได้รับพระราชทานเครื่องยศชั้นนี้ ว่า “พระยาพานทอง”
-ปฐมจุลจอมเกล้า เพิ่มหีบบุหรี่ทองคำพร้อมพานรองจากรายการของทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระราชทานในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล การพระราชทานเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง หรือเงินเดือน
คำนำนามของสตรีผู้ได้รับพระราชทาน ตราจุลจอมเกล้า
- สตรีผู้ซึ่งทำการสมรสแล้ว และมิได้เป็นเชื้อราชตระกูล (หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง) เมื่อได้รับพระราชทานตรา ตั้งแต่ชั้น 4 คือ จตุตถจุลจอมเกล้า เป็นต้นไปจนถึงชั้นที่ 2 คือ ทุติยจุลจอมเกล้า มีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยคำนำสตรีที่จะได้คำนำนามว่า “คุณหญิง”
- ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานตราตั้งแต่ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป ใช้คำนำนามว่า “ท่านผู้หญิง”
- สำหรับสตรีซึ่งยังมิได้ทำการสมรส ไม่ว่าจะได้รับพระราชทานตราชั้นใด ใช้คำนำนามว่า “คุณ”
- สตรีซึ่งเป็นเชื้อราชตระกูลชั้นหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ซึ่งทำการสมรสแล้ว และได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า (สำหรับหม่อมเจ้าใช้คำนำพระนามตามเดิมไม่ว่าจะได้รับพระราชทานตราชั้นใด) สำหรับหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง เมื่อได้รับพระราชทานตราชั้นที่ 4 และ ชั้นที่ 3 ไม่ต้องเรียกว่า “คุณหญิง” เว้นแต่ได้รับพระราชทานตราชั้นที่ 2 คือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ใช้คำนำนามว่า “ท่านผู้หญิง” ได้
- สำหรับหม่อมห้าม (ภริยาสมเด็จเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า) ถ้าเป็นสามัญชนถึงแม้จะได้รับพระราชทานตราชั้นใด ก็คงใช้คำนำหน้าว่า “หม่อม” แล้วตามด้วยชื่อและนามสกุล พร้อมทั้งต่อท้าย ด้วย “ณ อยุธยา”
2.4 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2461 สำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ซึ่งทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร แบ่งเป็น 6 ชั้น
ชั้นที่ 1 เสนางคบดี (ส.ร.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราสำหรับห้อยสายสะพายสีดำ ริมมีริ้วแดง
2. ดาราสำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 2 มหาโยธิน (ม.ร.) ประกอบด้วย
1. ดวงตรา สำหรับห้อยแพรแถบสวมคอ
2. ดารา สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องขวา
ชั้นที่ 3 โยธิน (ย.ร.) ดวงตราสำหรับห้อยแพรแถบสวมคอ
ชั้นที่ 4 อัศวิน (อ.ร.) ดวงตราสำหรับห้อยแพรแถบติดอกเสื้อเบื้อซ้าย
ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลา เข็มกล้ากลางสมร (ร.ม.ก.) ประดับเช่นเดียวกับชั้นที่ 4
ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา (ร.ม.) ประดับเช่นเดียวกับชั้นที่ 4
// สายสะพายรามาธิบดี สะพายบ่าขวาเฉียงลงมาทางซ้าย
พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ จะประกอบด้วยพระราชพิธีถือน้ำพระพัฒน์สัตยา (ดื่มน้ำสาบาน) โดยผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใหม่ และผู้ที่ได้รับพระราชทานมาก่อน จะร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2.5 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2404 แต่มิได้กำหนดให้มีสายสะพาย ต่อมา พ.ศ. 2412 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกำหนดชั้นและสายสะพายประกอบ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ มี 8 ชั้น
ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราช้างเผือก สำหรับห้อยสายสะพายสีแดง ริมเขียวมีริ้วเหลือง ริ้วน้ำเงินขนาดเล็กคั่น
2. ดวงดาราช้างเผือก สำหรับติดอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราช้างเผือก สำหรับห้อยสายสะพายสีแดง ริมเขียวใหญ่ ริ้วเหลือง ริ้วน้ำเงิน ขนาดเล็กคั่น
2. ดาราช้างเผือก สำหรับติดอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย
ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราช้างเผือก สำหรับบุรุษห้อยแพรแถบสวมคอ สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย
2. ดาราช้างเผือก สำหรับติดอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
สำหรับบุรุษห้อยแพรแถบสวมคอ สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย
ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
สำหรับบุรุษห้อยแพรแถบประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย ดวงตราชั้นที่ 4 เล็กกว่าดวงตราชั้นที่ 3 และมีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ
ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
ดวงตราชั้นที่ 5 เหมือนดวงตรา ชั้นที่ 4 แต่ไม่มีดอกไม้จีบบนแพรถบ วิธีประดับเหมือนชั้นที่ 4
ชั้นที่ 6 เหรียญทอง (ร.ท.ช.) วิธีประดับเหมือนชั้นที่ 4
ชั้นที่ 7 เหรียญเงิน (ร.ง.ช.) วิธีประดับเหมือนชั้นที่ 4
2.6 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2412 สำหรับพระราชทาน พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน ชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมี 8 ชั้น
ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) ประกอบด้วย
1. ดวงตรามงกุฎ ห้อยสายสะพายสีคราม มีริ้วสีแดง สีขาว อยู่ที่ริมทั้งสองข้าง
2. ดารามงกุฎ สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา
ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) ประกอบด้วย
1. ดวงตรามงกุฎ ห้อยสายสะพายสีน้ำเงิน ริมเขียว มีริ้วเหลือง ริ้วแดง คั่นทั้งสองช้าง
2. ดารามงกุฎ สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
// สายสะพายชั้นนี้ สะพายบ่าขวาเฉียงทางลงซ้าย
ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.) ประกอบด้วย
1. ดวงตรามงกุฎ ห้อยแพรแถบสำหรับบุรุษสวมคอ สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย
2. ดารามงกุฎ สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกฏไทย (ต.ม.)
สำหรับบุรุษห้อยแพรแถบสวมคอ สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย
ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
สำหรับบุรุษห้อยแพรแถบประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย ดวงตราชั้นที่ 4 เล็กกว่าดวงตราชั้นที่ 3 และมีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ
ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
ดวงตราชั้นที่ 5 เหมือนดวงตรา ชั้นที่ 4 แต่ไม่มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบ วิธีประดับเหมือนชั้นที่ 4
ชั้นที่ 6 เหรียญทอง (ร.ท.ม.) วิธีประดับเหมือนชั้นที่ 4
ชั้นที่ 7 เหรียญเงิน (ร.ง.ม.) วิธีประดับเหมือนชั้นที่ 4
เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย มีศักดิ์รองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกในชั้นที่เท่ากัน เช่นชั้นที่ 3 ต้องประดับตราช้างเผือกก่อนแล้วจึงต่อด้วยตรามงกุฎไทย
2.7 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 สำหรับพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบ อันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร แบ่งเป็น 7 ชั้น คือ
ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.) ประกอบด้วย
1. ดวงตราด้านหน้ามีรูปครุฑพ่าห์สีทอง ด้านหลังมีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ใช้คล้องสายสะพายสีเขียว ริมสีแดงชาด มีริ้วขาวและเหลือง ที่ริมทั้งสองข้าง
2. ดวงดาราเช่นดวงตรา ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
//สายสะพาย สะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้าย
ชั้นที่ 2 ทุติยดิเรกคุณาภรณ์ (ท.ภ.) ประกอบด้วย
1. ดวงตรา เช่นเดียวกับดวงตราชั้นที่ 1 ใช้ห้อยแพรแถบสวมคอ สตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
2. ดาราอย่างดวงตรา แต่ขอบเป็นสร่งเงิน ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย
ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)
ดวงตราอย่างชั้นที่ 2 ใช้ห้อยแพรแถบสวมคอ สตรีห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย
ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)
ดวงตราอย่างชั้นที่ 3 สำหรับบุรุษห้อยแพรแถบประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อหน้าบ่าซ้าย ดวงตราชั้นที่ 4 เล็กกว่าชั้นที่ 3 และมีดอกไม้จีบติดอยู่บนแพรแถบ
ชั้นที่ 5 เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ (บ.ภ.)
ดวงตราอย่างชั้นที่ 3 ใช้ประดับเช่นชั้นที่ 4
ชั้นที่ 6 เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ท.ภ.)
เหรียญรูปกลมสีทอง มีรูปครุฑพ่าห์อยู่กลางใช้ประดับเช่นชั้นที่ 4
ชั้นที่ 7 เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ (ร.ง.ภ.)
เหรียญสีเงิน ใช้ประดับเช่นชั้นที่ 4
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ มีลำดับเกียรติรองจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ดังนั้น ในชั้นตราเดียวกันอาทิ ชั้นที่ 3 เมื่อประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯ ดิเรกคุณาภรณ์ถัดจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฯ มงกุฎไทย
2.8 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณา ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2530 มีชั้นเดียวสำหรับพระราชทานผู้มีอุปการคุณแก่กิจการลูกเสือ ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 มาแล้ว และให้การช่วยเหลือกิจการลูกเสือต่อเนื่องมา 5 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีลักษณะเป็นรูปกลมรี กลางดวงมีตราหน้าเสือประกอบวชิระเงิน ด้านหลังมีตราคณะลูกเสือโลกเบื้องบนมีพระมหามงกุฎใช้ห้อยกับแพรแถบคล้องคอ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรารัตนวราภรณ์
. . . . .
3. สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ
ประเภทที่ 3 เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทาน เป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงพระกรุณาให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์ สำหรับพระราชทานข้าราชการที่มีความจงรักภักดี และทรงพระกรุณาใช้สอยใกล้ชิด ขณะนี้พ้นสมัยพระราชทานแล้ว แบ่งเป็น 3 ชนิด
3.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราวชิรมาลา
3.2 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตรารัตนวราภรณ์
3.3 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราวัลลภาภรณ์
. . . . .
เหรียญราชการชายแดน
ภาพจาก siamsilkroad.weloveshopping.com
. . . . .
4. เหรียญราชอิสริยาภรณ์
ประเภทที่ 4 เหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่นับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท ในการประดับเหรียญต้องเรียงลำดับตามเกียรติของเหรียญ ดังนี้
4.1 เหรียญที่พระราชทานเป็นบำเหน็จความกล้าหาญ มีอาทิ
เหรียญกล้าหาญ , เหรียญชัยสมรภูมิ , เหรียญพิทักษ์เสรีชน
4.2 เหรียญที่พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน มีอาทิ
เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา , เหรียญจักรพรรดิมาลา , เหรียญจักรมาลา , เหรียญราชการชายแดน , เหรียญลูกเสือสรรเสริญ
4.3 เหรียญที่พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์
เป็นเหรียญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละรัชกาล ทรงพระกรุณาให้สร้างสำหรับพระราชทานผู้จงรักภักดี ตามพระราชอัธยาศัย ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งราชการ มี 2 ชนิดที่สำคัญ คือ เหรียญรัตนาภรณ์ , เหรียญราชรุจิ
4.4 เหรียญสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก
เป็นเหรียญที่ทรงพระกรุณาให้สร้างในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพื่อพระราชทานให้บุคคลทั่วไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ประดับได้ตามอัธยาศัยนับตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 25 เหรียญ อาทิ
เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ , เหรียญที่ระลึกในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป , เหรียญรัชดาภิเษก , เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร , เหรียญสนองเสรีชน , เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , เหรียญที่ระลึกสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี , เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระชนมายุครบ 50 ปี
ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยมีลำดับเกียรติลดหลั่นกัน ซึ่งโดยหลักการใหญ่ จะเรียงลำดับประเภท ดังนี้
1. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
2. เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ
3. เหรียญบำเหน็จในราชการ
4. เหรียญบำเหน็จในพระองค์
5. เหรียญที่ระลึกต่างๆ
และในแต่ละประเภทดังกล่าว จะเรียงลำดับเกียรติของเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญแต่ละชนิดไว้ เพื่อประโยชน์ให้ทราบถึงความสำคัญของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญเหล่านั้นรวมทั้งเพื่อที่ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือเหรียญมากกว่า 1 ชนิด จะได้ทราบถึงการเรียงลำดับเพื่อการประดับได้อย่างถูกต้องซึ่งจะดูได้จากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำหนดลำดับเกียรติของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยไว้
เครื่องหมายแพร แถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
การคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
การคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นหน้าที่ของผู้ได้รับพระราชทานฯ ต้องกระทำตามข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ติดตามเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ระบุกรณีที่จะต้องคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไว้ 3 กรณี คือ
คืนเมื่อได้รับชั้นสูงขึ้นไป
1. คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรอง เมื่อผู้ได้รับพระราชทาน ฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราช ฯ ชั้นสูงขึ้น (ช้างเผือก , มงกุฎไทย) ไม่ต้องคืนประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
คืนเมื่อผู้รับถึงแก่กรรม
2. คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกชั้นที่ได้รับ เมื่อผู้ได้รับพระราชทาน ถึงแก่กรรม โดยให้ทายาทเป็นผู้ส่งคืน (ช้างเผือก , มงกุฎไทย) ไม่ต้องคืนประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
คืนเมื่อทรงให้เรียกคืน
3. คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เมื่อทรงพระกรุณาให้เรียกคืน ต้องคืนประกาศนียบัตรกำกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
การคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในกรณีใด ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าผู้ได้รับพระราชทาน ฯ ไม่สามารถนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาคืน ก็สามรถชดใช้เงินแทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามราคาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้ส่วนราชการต่าง ๆ ทราบ ซึ่งจะมีการปรับราคาตามมติคณะรัฐมนตรี ทุก 3 ปี
เรียบเรียงโดย Campus-Star.com
อ่านเพิ่มเติม : ประเภทเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย personnel.police7.go.th ภาพจาก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ : www.kpt1.go.th , ศาลาธนารักษ์เชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ “เงินล้านนาและเครื่องราชฯ” , เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา , เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สถาปนาในรัชกาลที่ ๖ (ตรารัตนวราภรณ์) , person.ddc.moph.go.th