48 เรื่องที่อยากให้อ่าน – สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (ทูลกระหม่อมน้อย)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” โดยพระนาม “สิรินธร” นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ – ทูลกระหม่อมน้อย

“พ่อดุเรา” …

ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ เคยมีรับสั่งเกี่ยวกับภาพนี้อย่างมีความสุขกับนักข่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตำหนิที่พระองค์ทำตัวเหมือนเด็ก “พ่อดุเรา…บอกให้เราไปถ่ายที่อื่น ให้เราสำรวมและให้ไปบอกคนข้างหลังให้เงียบๆ ด้วย” // จาก pantip.com

พระราชประวัติ สมเด็จพระเทพฯ

1. พระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

2. เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

3. คำแปลพระนาม “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” คือ “นางแก้ว” หมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ

สำหรับสร้อยพระนาม “กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” ประกอบขึ้นจาก พระนามาภิไธยของสมเด็จพระบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่

4. มีพระนามที่ข้าราชบริพาร เรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

การศึกษา

5. ปี พ.ศ. 2501 พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษา ระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และทรงศึกษาต่อในโรงเรียนจิตรลดา จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

สมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งวัยเยาว์ สมัยเรียนจิตรลดาจากสองพระสหาย

6. ในปี พ.ศ. 2515 ก็ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ

7. ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ 4 ของประเทศ

8. ถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ

รับปริญญา

9. จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98

10. ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท พร้อมกัน 2 มหาวิทยาลัย

11. คือ ปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก (ภาษาสันสกฤตและภาษาเขมร) ณ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2522

12. และปริญญาโท สาขาภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จาก ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงทำวิทยานิพนธ์หัวข้อเรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524

* เนื่องจากมีพระราชกิจมาก จนทำให้ไม่สามารถทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทได้พร้อมกันทั้ง 2 มหาวิทยาลัย

13. ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยพระองค์ผ่านการสอบคัดเลือกอย่างยอดเยี่ยมด้วยคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด และทรงเป็นนิสิตปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ รุ่นที่ 4

พระราชพิธีสถาปนาพระราชอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

14.ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520

15. นับเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์ที่ 14 ในราชวงศ์จักรี ที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นกรมพระ (หรือสมเด็จพระ) และเป็นครั้งแรกที่สถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จึงเป็นพระเกียรติยศที่สูงยิ่ง

16. พระองค์ทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินอีกด้วย

ด้านดนตรี

17. ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด เริ่มหัดดนตรีไทยขณะศึกษาอยู่ ม.2 โรงเรียนจิตรลดา เลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก

18. แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก

19. ด้านดนตรีสากล ทรงเริ่มเรียนเปียโน ตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา แต่ได้ทรงเลิกเรียนหลังจากนั้น 2 ปี และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนสามารถทรงทรัมเปตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ต

20. พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียน มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม

พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา

21. ทรงเข้ารับราชการเป็นพระอาจารย์ประจำกองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา พระองค์จึงทรงเป็น “ทูลกระหม่อมอาจารย์” สำหรับนักเรียนนายร้อยตั้งแต่นั้น

22. นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทรงรับเชิญเป็นพระอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒนั้น พระองค์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาพัฒนาศึกษาศาสตร์ด้วย

23. ในปี พ.ศ. 2525 ทรงพระราชดำริให้ก่อตั้ง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับบุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป

24. ในปี พ.ศ. 2533 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศลาวครั้งแรก ระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ

25. จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอนให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า (หลัก 67) ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร” โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

26. พ.ศ. 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชา ในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ณ จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ

27. เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่นักเรียน เพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทย ในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตและหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอนและพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์และดนตรี

28. ในปี พ.ศ. 2549 พระองค์ทรงมีแนวความคิดจัดตั้ง โครงการพัฒนานักอักษรศาสตร์รุ่นใหม่ขึ้น โดยความร่วมมือของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างนักอักษรศาสตร์ที่มีมุมมองและแนวคิดใหม่เพื่อเป็นกำลังของชาติ

29. ทรงสนับสนุนการช่วยเหลือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ให้เป็นโรงเรียนผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ สร้าง “องค์ความรู้” ให้แก่ประเทศไทย

30. พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย ” เมื่อ พ.ศ. 2531 และ “วิศิษฏศิลปิน” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 เพื่อเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปะหลายสาขา

ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

31.  นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีซึ่งมีฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติให้ วันที่ 2 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์เป็น “วันอนุรักษ์มรดกของชาติ” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติที่พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในด้านการอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

32. พระองค์ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดงาน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีอีกด้วย

33. ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2523

34. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยเริ่มที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และได้ขยายออกไปยัง 44 จังหวัดในพื้นที่ทุรกันดาร

35.  เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2519 ทรงรับ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ และพระราชทานข้อแนะนำแก่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และบรรณารักษ์ไทยในการนำความรู้ไปพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนและห้องสมุดประชาชน รวมทั้งห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี ที่เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อขยายโอกาสให้ประชนในการพัฒนาการรู้หนังสือ

ด้านการต่างประเทศ

36. เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นครั้งแรก เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปอย่างเป็นทางการ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2503-2504 ในขณะที่มีพระชนมายุ 5 พรรษา

37. การเสด็จฯ ทรงงานในต่างประเทศของพระองค์ ทำให้หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ถวายพระราชสมัญญานาม แด่พระองค์ว่า “เจ้าฟ้านักดูงาน” หรือ “Le Princesse Stagiaire”

38. พระองค์เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่เสด็จเยือนจีนมากครั้งที่สุด รวมทั้งสิ้น 20 ครั้ง โดยเสด็จฯ เยือนมณฑลของจีนครบทุกมณฑล

39. หลายครั้งหลังเสด็จฯ เยือนจีนจะทรงถ่ายทอดประสบการณ์การเยือนเป็นสารคดี ได้แก่ ย่ำแดนมังกร ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์หลังเสด็จฯ เยือนจีนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2524 ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาได้แก่ มุ่งไกลในรอยทราย, เกล็ดหิมะในสายหมอก , ใต้เมฆที่เมฆใต้, เย็นสบายชายน้ำ, คืนถิ่นจีนใหญ่ และ เจียงหนานแสนงาม

40. นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับการยกย่องจากสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนว่าทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรี” ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547

ด้านสาธารณสุข

41. พระองค์ทรงริเริ่ม โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้เกลือไอโอดีน หรือหยดไอโอดีนในการประกอบอาหาร และอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการขาดไอโอดีน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่เสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข

42. ทั้งยังทรงจัดตั้ง หน่วยแพทย์พระราชทานและหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เพื่ออกตรวจรักษาราษฎรในถิ่นทุรกันดารที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมในแต่ละครั้ง รวมทั้งทรงรับผู้ป่วยที่ยากจนเป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ด้วย

ด้านศาสนา

43. สมเด็จพระเทพฯ ทรงริเริ่มให้มีการฟื้นฟูประเพณีฉลองวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นประเพณีที่เคยมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยได้ทรงประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนร่วมกันจุดโคมประทีป และส่งบัตรอวยพรที่มีข้อธรรมะ เพื่อเป็นการพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ทราบถึงประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา รวมทั้ง ยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

44. พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่ง คือ พระองค์ยังทรงเป็นแม่กองในการซ่อมแซมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้สำเร็จทันงานพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2525 ซึ่งงานบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากงบประมาณน้อย รวมทั้ง ขาดแคลนช่างในสาขาต่าง ๆ เป็นต้น งานในครั้งนี้พระองค์ทรงดูแลอย่างใกล้ชิด และคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ด้วยพระราชหฤทัยที่เด็ดขาด รวมทั้งแก้ได้รับเงินบริจาคจากพระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชนร่วมสมทบทุนจึงทำให้งานบูรณะในครั้งนี้จึงเสร็จทันกาล

45. นอกจากนี้ พระองค์ทรงบูรณะวัดท่าสุทธาวาส จังหวัดอ่างทอง และทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ เพื่อเป็นพระราชกุศลในโอกาสเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ และทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชอุปถัมภ์ด้วย

46. ปี 2538 ทรงริเริ่ม โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสร้างความรู้ ความบันเทิง พัฒนาทักษะ และสร้างอาชีพต่อไปในอนาคต พระองค์ทรงมีคณะทำงานที่จะศึกษาวิจัยเพื่อหาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี และวิธีการช่วยเหลือผู้พิการในแต่ละด้าน อย่างเหมาะสม ซึ่งโครงการนี้มี โรงเรียนศรีสังวาลย์เป็นหน่วยงานหลัก

47. นอกจากนี้ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำรินี้ ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ต้องขังในทัณฑสถาน ได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ ระหว่างการถูกคุมขัง เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้รับนำไปพัฒนาตนเองและนำไปประกอบอาชีพได้

48. และยังมี โครงการสำหรับเด็กป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะทำให้ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการเรียนรู้ สร้างความเพลิดเพลิน รวมทั้ง ส่งเสริมพัฒนาการแก่เด็กที่ป่วยด้วย

ข้อมูลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ_สยามบรมราชกุมารี

ภาพจาก baclonglivetheking.blogspot.com , Pinterest 1 , Pinterest 2

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง