เดินตามรอยเท้าพ่อ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง

“ความพอเพียง” เป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้กันดีว่า ถ้าเราสามารถทำได้ก็จะช่วยทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ใช้ชีวิตได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องเบียดเบียนใคร และไม่ต้องมานั่งกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เราจะต้องหาเงินมาจ่าย อีกด้วย ซึ่งหลายๆ คน อาจจะคิดว่าคงไม่มีใครสามารถทำได้หรอก แต่สิ่งเหล่านี้เราก็สามารถเห็นตัวอย่างในความพอเพียง ได้จาก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)”

เดินตามรอยเท้าพ่อ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดำริ เกี่ยวกับ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต ให้ดำเนินไปบน “ทางสายกลาง” เพื่อสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งปรัชญานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งระดับบุคคล องค์กร และชุมชน

ภาพโดย ร้านแกะจิตรกร และกลุ่ม ฟรีไฟล์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (Facebook : วิชาการ)

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด…” พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517

สำหรับ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึด “หลักทางสายกลาง” ที่นำมาชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกคน ให้รู้จักความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และความระมัดระวัง ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ทั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อให้สามารถอยู่ได้แม้ในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการแข่งขันสูง

แผนภาพแสดงแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข (จาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

โดยที่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” มีคุณสมบบัติดังนี้ 

1. พอประมาณ คือ ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ

2. มีเหตุผล คือ การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

3. มีภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว โดยที่เราจะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์นั้นๆ ด้วย

ส่วนสำคัญที่ทำให้ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นได้นั้น จะต้องอาศัย “ความรู้และคุณธรรม” เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน ดังนี้ 

1. เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง มีแบบแผนในการใช้ชีวิตและการทำงาน

2. เงื่อนไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่างๆ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต และการเห็นถึงประโยชน์ของส่วนรวมสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตน พร้อมรู้จักการเสียสละและการแบ่งปัน เป็นต้น

ภาพโดย คุณ Tar Tarn กลุ่มฟรีไฟล์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (Facebook : วิชาการ)

จากพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า “ความพอเพียง” เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวของเราว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยที่เราจะต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสังคมในปัจจุบัน ไม่ใช้จ่ายตามกระแสนิยม ไม่ฟุ่มเฟือยซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือตามผู้อื่น เพราะนั้นจะทำให้เราใช้จ่ายเกินตัว สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เรามานั่งกังวลว่าจะต้องหาเงินมาใช้หนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่ถึงจะหมด หรือว่าจะต้องไปยืมเงินคนอื่นมาจ่ายอีก ซึ่งถือได้ว่านอกจากจะทำให้เราไม่มีความสุขแล้ว ยังเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นอีกด้วย ดังนั้น เราควรที่จะเริ่มจากคำนวณเงินที่เราได้รับในแต่ละเดือนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่ โดยที่ให้เราต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป พร้อมทั้งเริ่มการออมเงินไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราไม่ต้องมาเป็นกังวลหรือเครียด กับการต้องหาเงินมาจ่ายหนี้สินในแต่ละเดือน แถมยังไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่นอีกด้วย เพียงเท่านี้ก็ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขแล้ว

จงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี พอใจในสิ่งที่เราเป็น และรู้ใช้เท่าที่เราสามารถใช้ได้หรือหามาได้ โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่ง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้ ทั้งในวัยเรียน วัยทำงาน…

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, Facebook : วิชาการ , คุณ Popopo Psada กลุ่มฟรีไฟล์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ (Facebook : วิชาการ)

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง