เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ – หนังสือที่พี่เขียนให้น้อง แด่พระอนุชาผู้เป็นที่รักยิ่งทั้งสองพระองค์

ความตอนหนึ่งในงานพระนิพนธ์ เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ โดย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ .. “เมื่อเราเล็กๆ ในวันเกิดของแต่ละคน แม่มักจะพาไปถ่ายรูปที่ร้าน และนอกจากจะถ่ายรูปคนที่มีวันเกิดแล้ว บางครั้งยังจะถือโอกาสถ่ายรวมกันทั้งครอบครัว … ในวันเกิดของข้าพเจ้า วันที่ 6 พฤษภาคม แม่ก็ไปรับมาจากชอง โซเลย์ เพื่อไปร้านถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงของโลซานน์ ชื่อ ลาลองซี”

เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์

แด่พระอนุชาผู้เป็นที่รักยิ่งทั้งสองพระองค์

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเขียนคำนำไว้ว่า “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ไม่ได้เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นหนังสือที่พี่เขียนให้น้องที่จะครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 เพื่อที่จะระลึกด้วยกันถึงทุกข์สุขสมัยที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วยกัน โดยแบ่งให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย”

แม่เล่าว่า…

ในสมัยนั้นพระองค์อานันทฯ ซนมาก จึงต้องให้ใส่ที่รัดตัวมีสายสองข้างคล้ายๆ กับสายบังเหียน โดยมากเมื่ออยู่ในบ้านจะเอาสายไปผูกไว้กับขาโต๊ะ พระองค์ชายก็ยอมให้ผูกอย่างดี วันหนึ่งแหนน พี่เลี้ยงของข้าพเจ้า คงลืมผูก ท่านก็ถามขึ้นมาเองว่า… “วันนี้ ทำไมไม่ผูก”

กรุงเทพฯ 2471-2476 : แม่จากประเทศไทยไปเกือบสามปีครึ่ง ทูลหม่อมฯ ก็ไม่ได้ประทับเมืองไทยมาสองปีครึ่ง ส่วนน้องสององค์ยังไม่เคยเห็นแผ่นดินไทยเลย “เราเข้าไปอยู่ในตำหนักที่ทูลหม่อมฯทรงสร้างตั้งแต่ปี 2469 ตำหนักนี้สร้างอย่างประณีตและอยู่สะดวกสบาย ชาววังเรียกว่า…ตำหนักใหม่

ส่วนแม่ก็มีงานมากในการจัดระเบียบให้ลูก 3 คน พระองค์เล็กยังเดินไม่ได้ ตอนแรกๆ จึงถูกผูกไว้บ่อยๆ ในรถเข็นที่นำมาด้วยจากต่างประเทศ บางวันก็ปูเสื่อให้นั่งเล่นองค์เดียว หรือกับพี่ชาย พระองค์เล็กถึงแม้ว่าจะยังเดินไม่ได้ ก็มีวิธีขององค์เองในการข้ามถนนหน้าบ้าน ที่เป็นกรวดแหลมๆ ท่านจะโก้งโค้ง เอามือและเท้าแตะพื้น และเดินสี่เท้าแบบนี้ไป แทนที่จะคลานให้เจ็บเข่า

ในสมัยนั้นวังสระปทุมยังนับว่าอยู่ชานเมือง

อากาศยังบริสุทธิ์แม่จึงอยากให้ลูกๆได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ท่านจัดที่ทาง สิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งแรกที่สร้างขึ้นคือที่เล่นทราย เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมมีทรายอยู่ข้างใน แบบเดียวกับที่เห็นได้ในสวนสาธารณะในต่างประเทศ

“เราได้เลี้ยงสัตว์กันหลายชนิด สุนัขตัวแรกนั้น ข้าพเจ้าตั้งชื่อว่าเจ้าบ๊อบบี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัขไทย คงเป็นเพราะแหม่มคนหนึ่งเป็นผู้ให้ข้าพเจ้า ตัวที่สองชื่อเป็นไทยแล้วชื่อ นรินทร์ นอกจากนั้น ยังมีกระต่ายและนกซึ่งอยู่ในกรงสูงๆ ขนาดคนเข้าไปยืนได้…มีนกขุนทองตัวหนึ่งด้วย”

วันหนึ่งนกตัวนี้หลุดไปจากกรงเล็กของมัน ขึ้นไปเกาะอยู่บนต้นไม้ และพูดซ้ำๆ “แหมพระองค์เล็กคะ” เป็นเสียงแหนน และ “พระองค์ชาย… พระองค์ชาย” เป็นเสียงห้าวๆ และห้วนๆ

ธรรมมะง่ายๆ ..

เมื่อพระองค์ชาย (รัชกาลที่ 8) อยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฯ ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้พาไปนมัสการเจ้าอาวาสของวัดเทพศิรินทร์ คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อให้สมเด็จฯ อบรมธรรม ท่านได้สอนข้อธรรมะง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้ เช่น ว่าเมื่อมียุงมาเกาะ อย่าไปตบ ให้เอามือลูบไปเสีย

วันหนึ่ง แม่ลงมาดูลูกชายสองคนซึ่งกำลังเล่นละลายเทียนไขในกระทะเล็ก ที่วางบนอั้งโล่ แม่เห็นคางคกอยู่ในกระทะตัวหนึ่ง

แม่ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็เอะอะใหญ่ และถามพระองค์ชาย ว่า สมเด็จฯ (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เคยสอนเรื่องยุง ทำไมจึงมาทำอย่างนี้

พระองค์ชายทรงตอบว่า สมเด็จฯ ไม่ได้สอน เรื่องคางคก ..

เมื่อข้าพเจ้า (สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9) ไปสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อเดือนธันวาคม 2529 ได้ทูลถามว่า ..ทรงจำเรื่องคางคกนั้นได้ไหม..

พระองค์ (ในหลวง ร.9) ก็รับสั่งว่า “ทรงจำได้และคางคกนั้นไม่ได้ไปจับมา มันกระโดดลงไปในกระทะเอง โดยบังเอิญ”

เมื่อมาถึงโลซานน์ใหม่ๆ

แม่ได้เขียนถึงสมเด็จย่า หรือสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฯ ว่า “….ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดี สำหรับจะได้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติ บ้านเมืองตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆให้ได้รับความอบรม เล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน”

วันที่ 30 ตุลาคม 2477 แม่ยังเขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า “…หม่อมฉันรู้สึกว่าตัวเคราะห์ดีมากที่มีลูกฉลาด แต่เด็กฉลาดเลี้ยงยากมากกว่าเด็กโง่เพราะต้องพูดกันมาก และต้องอธิบายกันให้เห็นจริงทุกอย่างถึงจะเชื่อ”

แม่ไม่เคยชมเราว่าฉลาด…

“แม่ไม่เคยชมเราว่าฉลาดหรืองาม จะชมก็เมื่อประพฤติตนดีทำอะไรที่น่าสรรเสริญ เราจึงไม่เหลิง อาจขาดความมั่นใจในตัวเองบ้าง แต่ก็ทราบอยู่เสมอว่าเราเป็นใคร ทำให้เราเป็นผู้ที่นับถือความจริง มีสัจจะ ไม่หลอกใครและไม่หลอกตัวเอง สิ่งที่ช่วยมากในการนี้คือเราไม่ได้มีคนที่มาห้อมล้อมอยู่มากมายตลอดเวลา… มายอ…มาเอาใจ”

คนธรรมดา…

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่รู้จักเจ้าเสียจริงๆ ไม่มีใครเรียกเราว่า เจ้าชายหรือเจ้าหญิง เรียกนาย และนางสาว ภาษาฝรั่งเศสไม่มีเด็กชาย เด็กหญิง จึงทำให้เราเหมือนกับคนธรรมดา พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่างซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง

การเล่นแบบซนๆ มีบ้างเหมือนกัน เช่น วันหนึ่งแม่ได้ยินเสียงร้องเพลงเอะอะออกมาจากห้องเย็บผ้า เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็เห็นสองพระองค์เอากระโปรงที่พาดไว้ที่พนักเก้าอี้ เพื่อจะแก้เมื่อมีเวลา มาสวมเต้นระบำแบบฮาวายจนตะเข็บขาดหมด

แม่ก็ถามว่า ทำไมจึงเอากระโปรงของแม่มาเล่นเช่นนี้ ได้รับคำตอบว่ากระโปรงตกอยู่ที่พื้น นึกว่าไม่ใช้แล้ว แม่เลยปรับเสียคนละ 2 แฟรงค์

ความฉุนเฉียวก็มีบ้างเวลาเล็กๆ อยู่ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเล่าว่า เมื่อยังอยู่ที่แฟลตถนนทิสโซ่ต์ พระเชษฐากริ้วอะไรไม่ทราบ ทรงทำท่าจะบิดรางให้หักเสีย จึงรีบขออย่าให้ทรงทำเลย ประทานน้องเสียดีกว่า

แต่พระองค์เองบางครั้งพระอารมณ์เสียเหมือนกัน ในจดหมายลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2479 แม่เล่าถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า ชอบเล่นรถยนต์เล็กๆ แข่งกัน ผู้ใหญ่ก็เข้ามาเล่นด้วย “…เล็กเวลาไม่ชนะ ออกจะโกรธเสมอ ต้องพยายามอธิบายกันใหญ่โตถึงการเล่นว่าต้องมีแพ้และชนะบ้าง”

แม่บอกว่า สมเด็จพระพันวัสสาฯ พอพระทัย รับสั่งว่า “เหมือนย่า” แม่เขียนต่อไปว่า “นันทดีมาก ถ้าไม่ชนะก็ไม่ว่าอะไร นันทปีนี้รู้สึกดีขึ้นมาก ทำท่าเป็นเด็กโต”

ลอนดอน-โลซานน์-กลับเมืองไทย 2471

เมื่อถึงยุโรปแล้ว เราได้พักอยู่ที่โรงแรมหนึ่งในลอนดอน ชื่อ เคนซิงตัน พาเลซ แมนชั่น อยู่ใกล้สวนเคนซิงตัน เด็กๆ ได้ไปในสวนสาธารณะบ่อยๆ บางครั้งทูลหม่อมฯ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ก็เสด็จไปด้วย

กลับเมืองไทย 2488-2489

คราวนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตามเสด็จเพราะได้แต่งงานไปแล้ว และเพิ่งมีบุตรหญิงเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้เอง แต่ได้รับลายพระราชหัตถเลขาจำนวนหนึ่งที่รัชกาลที่ 8 พระราชทานไปที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงสามารถเชิญบางตอนมาลงได้

ลายพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายที่ทรงมีมา ลงวันที่ 27 และ 29 พฤษภาคม 2489 ทรงเล่าถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นไปตามความต้องการของพรรคพวกของนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้นมีการตั้งประธานต่างๆ ตั้งนายกรัฐมนตรี และการรับรองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์……

“…ไม่ทราบว่าทุกอย่างจะพร้อมหรือไม่ หรือว่าจะมีอุปสรรคอีกในนาทีสุดท้าย”

อุปสรรคก็มีขึ้นมาได้จริงๆ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาใกล้ 9 นาฬิกา

บทส่งท้าย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยกกวีนิพนธ์ของ อัลเฟรด เดอ วีนยี่ นักเขียนฝรั่งเศส…

“ไม่ช้ายอดเขาก็โผล่พ้นเมฆโดยไม่มีโมเสส ฝูงชนต่างซึมเซา โศกสลด โยชวาเดินสู่ดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คำมั่นว่าจะเป็นที่พำนักของชาวยิว ด้วยใบหน้าเคร่งขรึมและซีดหมอง เพราะเป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเลือกไว้แล้ว” ตามคัมภีร์คริสต์ศาสนา พระเจ้าได้ทรงสั่งให้โมเสสเป็นผู้นำชาวยิวออกจากประเทศอียิปต์ไปสู่อิสราเอล เพราะชาวอียิปต์ไม่ยินดีให้อยู่ในประเทศของเขา เวลาโมเสสจะสนทนากับพระเจ้าจะต้องขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งจะมีเมฆปกคลุม จะมีฟ้าแลบฟ้าร้องเพื่อมิให้ใครกล้ามอง

พระเจ้าได้ตรัสด้วยว่า โมเสสจะนำชาวยิวไปถึงอิสราเอล แต่จะไม่สามารถเข้าไปได้ โยชวาจึงเป็นผู้ที่ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบนำชาวยิวเข้าอิสราเอล

ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 3 ภาค ภาคที่ 1 กล่าวถึงสมัยที่ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นเจ้านายเล็ก ๆ ภาคที่ 2 กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของพระองค์พี่ที่เป็นยุวกษัตริย์ ภาคที่ 3 กล่าวถึงการเป็นยุวกษัตริย์จนถึงพระองค์น้องต้องมาเป็นยุวกษัตริย์ต่อไป อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ใน > www.dailynews.co.th

รายละเอียดหนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์

ที่มา Facebook ร่วมกันถวายความจงรักภักดีแด่พระเจ้าอยู่หัว , พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9

ภาพจาก welovethaiking.com , เครือข่ายกาญจนาภิเษก

คลิป ภาพบันทึกประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ โดย Pacific Inspiration

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง