ประวัติ ตุ๊กตารัสเซีย แม่ลูกดก – มาตรีออชคา (Matryoshka)

แม่สาวที่มีลูกเล็กๆ ซ้อนซ่อนอยู่เป็นพรวน อันเป็นที่มาของชื่อ “แม่ลูกดก” เธอมีนามตามภาษารัสเซียอันเป็นบ้านเกิดว่า “มาตรีออชคา (Matryoshka )” ซึ่งแผลงมาจากชื่อสตรีภาษารัสเซีย “มาตรีโอนา” โดยที่การใส่ตุ๊กตาตัวเล็กซ้อนลงไปหลายๆ ตัวนั้น สำหรับรัสเซีย เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์และความมีชีวิตยืนยาว นับเป็นเครื่องหมายอันเป็นมงคล

ตุ๊กตารัสเซีย ตุ๊กตาแม่ลูกดก

ตุ๊กตาแม่ลูกดกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยตุ๊กตาไม้หลายตัวเรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน แต่ละตัวประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนบนและส่วนล่าง นำมาประกบกันได้สนิทตามร่องที่เซาะเอาไว้ ทุกตัวมีโพรงข้างใน เพื่อให้อีกตัวและอีกตัวที่เล็กกว่าซ้อนไปเรื่อยๆ เว้นแต่ตัวสุดท้าย ซึ่งมีขนาดเล็กสุด จะเป็นตุ๊กตาเต็มตัวและตันเพียงชิ้นเดียว

แม่ลูกดกชุดหนึ่งมีตุ๊กตาซ้อนข้างในกี่ตัวก็ได้

ถ้ามีจำนวนมาก ตุ๊กตาตัวใหญ่สุดที่อยู่นอกสุด จะต้องมีขนาดใหญ่มากด้วย และทุกตัวจะมีรูปร่างเหมือนกันหมด คือ คล้ายกระบอก โป่งตรงกลาง ด้านบนโค้งมน ส่วนฐานเรียบ ไม่มีมือหรือส่วนใดยื่นออกมา ใช้สีวาดเป็นหน้าเป็นตาเป็นตัวทั้งหมด แต่ละตัวในชุดมีใบหน้าและเสื้อผ้าเหมือนกัน ทั้งเคลือบเงาสวยงาม

กำเนิดของแม่ลูกดก

เชื่อว่าเมื่อราว พ.ศ.2430 พระชาวรัสเซีย (บ้างว่าเขาเป็นนายช่าง) นำวิชาทำตุ๊กตาไม้ไปจากเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น และเมื่อมาถึงรัสเซียก็ผสมผสานรูปแบบศิลปะท้องถิ่นเข้าไป คือแนวคิดในการซ้อนตุ๊กตาที่คุ้นเคยกันดีในรัสเซีย ประยุกต์เข้ากับงานประดิษฐ์แอปเปิ้ลไม้และไข่อีสเตอร์ จากนั้นตั้งชื่อรัสเซียนไปเนียนๆ ว่า มาตรีออชคา

ร่างแบบตุ๊กตาแม่ลูกดกขึ้นเป็นครั้งแรก

พ.ศ.2434 ศิลปินคนสำคัญ เซอร์เกย์ มาลุยติน ได้ร่างแบบตุ๊กตาแม่ลูกดกขึ้นเป็นครั้งแรก และหลังจากแก้ไขหลายครั้ง สุดท้ายได้รูปแบบที่ตกลงกันคือ วาดเป็นเด็กหญิงหน้ากลมแป้น ตาใสแจ๋ว สวมชุดพื้นเมืองที่เรียกว่า ซาราฟัน (ชุดยาวถึงพื้นมีสายรั้งสองข้าง) และคลุมศีรษะด้วยผ้าสีสดใส แล้วยังมีตุ๊กตาที่เหมือนกันแต่ตัวเล็กกว่าใส่ไว้ข้างในด้วย แต่ตุ๊กตาข้างในแต่งตัวไม่เหมือนกัน กล่าวคือสวมโคโซโวรอตคัส (กระโปรงแบบรัสเซีย) และเสื้อเชิ้ตปอดดิออฟคัส (เสื้อคลุมยาวถึงเอวของผู้ชาย) และผูกผ้ากันเปื้อน จากนั้นจึงให้ช่างแกะสลักชื่อ วาสิลี่ ซเวิสด๊าชกิน ผลิตขึ้น

จัดแสดงในงานสินค้าที่กรุงปารีส

กระทั่ง พ.ศ.2443 มารียา มามอนโตวา ภรรยาเจ้าของโรงงานที่มาลุยตินและซเวิสด๊าชกินทำงานให้ นำตุ๊กตานั้นไปจัดแสดงในงานสินค้าที่กรุงปารีส และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และไม่ช้าจากนั้นก็มีการผลิตตุ๊กตาแม่ลูกดกในรัสเซีย อย่างแพร่หลาย เริ่มจากกรุงมอสโก ไปสู่หลายท้องที่ และก่อเกิดหลากหลายรูปแบบตามมา

ยุคพัฒนาครั้งใหญ่

จวบจนยุคการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ของรัสเซียครั้งใหญ่ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เกิดความสนใจที่จะรักษาธรรมเนียมพื้นบ้านมากขึ้น ทั้งฟื้นฟูวัฒนธรรม และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญศิลปะพื้นบ้านต่างๆ และเพื่ออนุรักษ์ความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับท้องถิ่นรัสเซีย จึงมีการสร้างห้องทำงานช่างศิลปะขึ้นใกล้กับกรุงมอสโก ศิลปะพื้นบ้านต่างๆ จำพวกของเล่นและตุ๊กตา รวมถึงแม่ลูกดก ถูกรวบรวมมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาและผลิตสืบไป

แต่เดิมหน้าตาของตุ๊กตาแม่ลูกดก เป็นหญิงชาวนา

เมื่อแรกเริ่มเดิมมี หน้าตาของตุ๊กตาแม่ลูกดกทำเป็นหญิงชาวนา แต่งกายแบบดั้งเดิม มีผ้าคลุมศีรษะ เหมือนที่คุ้นตาในภาพวาดเก่าแก่ แต่ในภายหลังการรังสรรค์แตกแขนง มาตรีออชคามีทั้งแบบที่เป็นเทพธิดา นางฟ้า ตัวการ์ตูน ดอกไม้ อื่นๆ มากมาย รวมทั้งที่หน้าตาล้อเลียนคนดัง รวมถึงกลายพันธุ์เป็นพ่อลูกดก คือเขียนเป็นผู้ชายก็มี และปัจจุบัน นอกจากในรัสเซีย ตุ๊กตาแม่ลูกดกยังเป็นของที่ระลึกจากประเทศอื่นๆ ที่แยกจากโซเวียตเดิม เช่น อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน ซึ่งผลิตมาตรีออชคาแพร่หลายเช่นกัน

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง