30 วันสำคัญของชาติไทย ที่เยาวชนไทยควรรู้ | วันสำคัญบางวันไม่ใช่วันหยุด

วันสำคัญของชาติไทย – ในแต่ละปี ประเทศไทยเราจะมีวันสำคัญของชาติหลายวันด้วยกัน ทั้งที่เป็นวันสำคัญเกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวันสำคัญทางประเพณี ซึ่งในจำนวนวันเหล่านี้ รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นหยุดราชการ 16 วันด้วยกัน เช่น วันขึ้นปีใหม่, วันมาฆบูชา, วันจักรี, วันสงกรานต์ และวันฉัตรมงคล เป็นต้น

30 วันสำคัญของชาติไทย

วันสำคัญ หมายถึง วันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีต และเพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของวันนั้นๆ รัฐ /ชุมชน หรือหน่วยงาน จึงได้จัดให้มีพิธีการหรือกิจกรรมต่างๆ ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชน หรือคนในสังคมได้ตระหนัก และระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันนั้น ด้วยความภาคภูมิใจ หรือเพื่อเป็นแบบอย่าง ในการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามสืบทอดต่อกันมา

วันสำคัญมีหลายระดับ

ซึ่งวันสำคัญนี้จะมีหลายระดับ เช่น

และเพื่อให้เยาวชนของเราได้รู้จักวันสำคัญของไทย กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอสรุปวันสำคัญๆ ที่ควรรู้จักในรอบปีให้ทราบดังนี้

วันสำคัญ เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ไทย

วันยุทธหัตถี

1. วันยุทธหัตถี ตรงกับวันที่ 18 มกราคม เป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2135 ยุทหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะจะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้เช่นกัน

วันศิลปินแห่งชาติ

2. วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันประกาศยกย่อง และเชิดชูเกียรติศิลปินชั้นครูของไทย ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” โดยยึดถือเอาวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 “พระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ผู้ทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญในศิลปะทุกแขนงอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง เป็น “วันศิลปินแห่งชาติ”

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

3. วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม เป็นระลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทั้งในด้านการศาสนา การศึกษาและอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง ในสมัยของพระองค์ ได้ทรงเก็บเงินบางส่วนใส่ “ถุงแดง” เอาไว้ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำมาใช้เป็นค่าปรับในกรณีพิพาท กับประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.112 ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมือง และสงครามระหว่างประเทศไปได้

4. วันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน หมายถึง วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ พระปฐมบรมราชวงศ์จักรี เสด็จกรีฑาทัพถึงพระนคร และทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศเป็นวันแรก ตลอดพระชนม์ชีพของรัชกาลที่ 1 ต้องทรงออกศึกใหญ่ เพื่อกอบกู้อิสรภาพถึง 11 ครั้งโดยทรงเป็นแม่ทัพถึง 10 ครั้ง และทรงร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี 1 ครั้ง และเมื่อทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังต้องออกศึกเพื่อปกป้องอิสรภาพของชาติไทยอีกถึง 7 ครั้ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นพระกษัตริย์ยอดนักรบที่ยิ่งใหญ่ และเก่งกล้าสามารถยิ่ง

5. วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม คือวันรำลึกถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” (ซึ่งในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เมื่อพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราชรัชกาลที่ 8 นั้น ยังไม่ได้ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อ)

6. วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง อันเป็นปรากฏการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงคำนวณทำนายไว้ก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปีอย่างแม่นยำ และได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรที่ ตำบลหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ในวันดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2411

7. วันเยาวชนแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 กันยายน ด้วยถือว่าวันนี้เป็นวันที่เป็นสิริมงคลยิ่ง เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึงสองพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทั้งสองพระองค์ นอกจากจะทรงครองราชย์สมบัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์แล้ว ยังทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง สมควรที่เยาวชนไทยจะเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาท

8. วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง ของปวงชนชาวไทย พระราชกรณียกิจของพระองค์ไม่ว่าจะเป็นการเลิกทาส การพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสาธารณูปการ การเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ฯลฯ ล้วนเป็นพื้นฐานแห่งความเจริญสืบต่อมาจนปัจจุบัน

9. วันวชิราวุธ ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” เพราะทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ที่ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก เท่าที่รวบรวมได้ในปัจจุบันมีถึง 1,236 เรื่อง นอกจากนั้น ยังทรงบัญญัติศัพท์ และทรงตั้งนามสกุลพระราชทาน ซึ่งได้รวบรวมไว้ขณะนี้ เป็นจำนวนประมาณ 6,432 นามสกุล

10. วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรงกับ วันที่ 5 ธันวาคม วันนี้ถือเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” และ “วันชาติไทย” ด้วย ตลอดระยะเวลายาวนานร่วม 70 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาของพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจ อันยังประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจที่มีอยู่มากมาย นับไม่ถ้วนนับพันโครงการ

11.วันรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เป็นฉบับแรกให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2475 ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ และมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ซึ่งนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนปี พ.ศ. 2549 ไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 16 ฉบับ

12. วันพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับการเทิดทูน และเคารพบูชาจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงเพราะพระปรีชาสามารถในการรบที่กอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความกตัญญูและเสียสละต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมือนเหมือนอีกด้วย

วันสำคัญหลักๆ ทางศาสนา

13. วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันที่พระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้จำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ปัจจุบันเราถือว่าวันนี้เป็น “วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา” ทั้งนี้ เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ขึ้น และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศหลักการ และอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

14. วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 (ปีนี้เป็นปีอธิกมาสจึงเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7) เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในการบังเกิดพระพุทธเจ้าในโลกก็คือ “ธรรมะ” ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ อันเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทรงเปรียบเสมือนบรมครูผู้มาสอน มาชี้แนะแก่มวลมนุษย์ มิฉะนั้นคนเราก็คงไม่รู้จักหนทางแห่งการปฏิบัติธรรม เพื่อล่วงพ้นความทุกข์เป็นแน่แท้ และวันวิสาขบูชา นี้องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้ เป็นวันสำคัญสากล เมื่อปี พ.ศ.2542

15. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ครบเป็นองค์รัตนตรัยครั้งแรกในโลก ซึ่งพระสงฆ์องค์แรก คือพระอัญญาโกณฑัญญะ และปฐมเทศนาที่ทรงแสดงคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตรหมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้

16. วันเข้าพรรษา เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์ จะต้องอธิษฐานจำพรรษาอยู่กับที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี (30ก.ค.-26 ต.ค.) ซึ่งการให้จำพรรษาในสมัยพุทธกาล ก็เพื่อป้องกันมิให้พระสงฆ์ไปเหยียบย่ำข้าว และพืชผลของชาวบ้านเสียหาย ต่อมาถือเป็นโอกาสดีที่พระภิกษุ จะได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อศึกษาธรรมะ ส่วนชาวบ้านก็ได้เข้าวัดถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรม และเจริญภาวนา เพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลโดยมีพระภิกษุเป็นแบบอย่าง ครั้นต่อมาจึงเกิดประเพณีนิยมบวช 3 เดือน ขณะเดียวกันก็มีพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งนิยม ถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นที่จะอธิฐานจิตลด ละ ความชั่วทั้งหลาย และทำความดีเพิ่มขึ้น สำหรับประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันนี้คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝนและการแห่/ถวายเทียนพรรษา

17. วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 เป็นวันที่พระภิกษุพ้นข้อกำหนดทางวินัยที่จะอยู่จำพรรษา นับตั้งแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นมา และสามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ ซึ่งจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้อง คือ การตักบาตรเทโวโรหนะ คือวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (27 ต.ค.50) ซึ่งพุทธศาสนิกชน มักจะตักบาตรในวันนี้ ด้วยนิยมว่าเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาอยู่ 3 เดือน และถัดจากออกพรรษา 1 เดือนถือเป็นเทศกาลกฐิน ที่จะทำบุญถวายผ้ากฐินตามวัดต่างๆ

วันสำคัญอื่นๆ ของชาติและวันสำคัญทางประเพณี 

18. วันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่ไทยเราจะมีวันปีใหม่แบบสากลเช่นปัจจุบัน เราได้มีการเปลี่ยนแปลงปีใหม่มาแล้วถึง 3 ระยะ คือ เริ่มแรกถือวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ระยะที่สอง เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 คือราวช่วงสงกรานต์ โดยใช้ปีนักษัตร และการเปลี่ยนจุลศักราชเป็นเกณฑ์ ระยะที่สาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายนอันเป็นนับวันทางสุริยคติ ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2432 ระยะที่สี่ คือในปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทย ให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม คือวันที่ 1 มกราคม โดยมีเหตุผลว่าวันดังกล่าวกำหนดขึ้น โดยการคำนวณด้วยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และเป็นที่นิยมใช้กันมากว่าสองพันปี อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา หรือการเมืองของชาติใด แต่สอดคล้องกับจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณที่ใช้ฤดูหนาวเป็นต้นปี

19. วันเด็กแห่งชาติ ทุกเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เด็ก ได้ตระะหนักถึงความสำคัญของตน และขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ประชาชน และสังคมเห็นความสำคัญของเด็กที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ และเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญที่ควรได้รับการดูแล เอาใจใส่

20. วันครู ตรงกับวันที่ 16 มกราคม จัดขึ้นเพื่อให้สังคมได้ระลึกถึงความสำคัญของ “ครู” ในฐานะผู้เสียสละและประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยเฉพาะช่วยสร้างบุคลากรที่เป็นอนาคตของชาติ

21. วันอนุรักษ์มรดกไทย ตรงกับวันที่ 2 เมษายน อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรในด้านอนุรักษ์มรดกของชาติในสาขาต่างๆ ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาเป็น “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” อันหมายถึง ผู้เป็นเลิศในทางศิลปะ ทรงเป็นเมธีทางวัฒนธรรม และทรงมีคุณูปการต่องานศิลปะวัฒนธรรม

22. วันสงกรานต์ เป็นปีใหม่แบบเดิมของไทย ที่นับวันที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันเริ่มต้นปี โดยเรียกวันที่ 13 เมษายน เป็น “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” ด้วย ส่วนวันที่ 14 เมษายน เรียก “วันเนา” และถือเป็น “วันครอบครัว” ส่วนวันที่ 15 เมษายนเรียกว่า “วันเถลิงศก”หรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่

23. วันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นอกจากจะเป็นพระราชพิธีโบราณเก่าแก่ ที่จะทำเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่การเกษตรกรรมแล้ว วันดังกล่าวยังถือเป็น “วันเกษตรกร” อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตร ได้ระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปจะได้ระลึกถึงความสำคัญของข้าว และธัญพืชที่มีคุณอเนกอนันต์ ในการหล่อเลี้ยงชีวิตให้เติบโตสมบูรณ์ทั้งกายใจ และเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อพึงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจ อันเป็นแบบอย่างทางด้านเกษตรกรรมแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจมั่นในการประกอบอาชีพ และเป็นเหตุของความตั้งมั่นความเจริญไพบูลย์ของประเทศมาโดยตลอด

24. วันสุนทรภู่ ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และมีผลงานประพันธ์มากมาย เฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี วรรณกรรมชิ้นเอกของท่าน ก็มีความยาวถึง 12,706 บท ถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก ในขณะที่บทประพันธ์เรื่องอีเลียต (Iliad)) และโอเดดซี (Odyssey)ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุด ยังมีเพียง 12,500 บทเท่านั้น เมื่อปี พ.ศ. 2529 ท่านได้รับยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก

25. วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ไปทรงร่วมอภิปรายกับผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทย ของชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับปัญหาการใช้คำไทย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ ความสนพระราชหฤทัย และความห่วงใยในภาษาไทย ของพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก

26. วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ “วันแม่แห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถผู้ทรงเปรียบประดุจ “แม่แห่งแผ่นดิน” ที่ทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรดังลูกๆของพระองค์ และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อปวงชนชาวไทยเคียงคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านศิลปาชีพ และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของไทย

27. วันพิพิธภัณฑ์ไทย ตรงกับวันที่ 19 กันยายน เป็นวันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงให้กำเนิด “พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ณ ศาลาสหทัยสมาคม หรือ “หอคองคอเดีย” ในพระบรมมหาราชวัง

28. วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ผู้ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ จนได้รับการเฉลิมพระเกียรติว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน”

29. วันลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น ลอยเคราะห์ บูชาพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันนิยมทำ เพื่อขอขมาและระลึกถึงคุณแม่พระคงคา ที่ได้อำนวยประโยชน์ต่างๆ แก่มนุษย์

30. วันกีฬาแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 16 ธันวาคม เป็นวันระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงชนะเลิศได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเรือใบประเภทโอ.เค.ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2510 และเพื่อให้ประชาชน เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของกีฬา ที่มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เรามีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ

ทั้งหมดคือ วันสำคัญ ของไทยในรอบปีหนึ่งๆ ที่แม้จะมิใช่วันหยุดราชการทั้งหมด แต่ก็เป็นวันสำคัญของชาติที่เยาวชนไทยควรได้ทราบเพื่อเป็นความรู้ต่อไป

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ภาพจาก : กระทง ทำจากอะไรได้บ้าง – ไอเดียทำกระทงแบบต่างๆ

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง