หลายๆ คนคงเคยดูหนังอวกาศ ในหนังจะมีสิ่งที่เรียกว่าหลุมดำ ที่คอยดูดกลืนทุกอย่างในจักรวาลให้หายไป แต่ไม่เคยมีใครเคยเห็นหลุมดำจริงๆ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ก็มีการเผยภาพถ่ายหลุมดำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ – ‘หลุมดำ’ อำนาจลึกลับในจักรวาล มีหน้าตาเป็นยังไง?
ทำความรู้จักกับ ‘หลุมดำ’ อำนาจลึกลับในจักรวาล
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 คณะนักวิทยาศาสตร์จากโครงการกล้องโทรทรรศน์ EHT (Event Horizon Telescope) ได้เผยภาพถ่ายหลุมดำระยะไกล ซึ่งอยู่ใจกลางกาแล็กซี่ M87 (Messier 87) โดยกาแล็กซี่นี้อยู่ใกล้ๆ กับกาแล็กซีทางช้างเผือก และห่างจากโลกประมาณ 55 ล้านปีแสง
หลุมดำคืออะไร?
หลุมดำคือ สถานที่ในอวกาศ ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงสูงมาก แม้แต่แสงยังไม่สามารถออกไป ทำให้ไม่สามารถมองเห็นหลุมดำได้โดยตรง ดังนั้นการบันทึกภาพหลุมดำครั้งแรกของ EHT ได้สำเร็จ จึงทำให้วงการดาราศาสตร์ทั่วโลกตื่นตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งหลุมดำในอวกาศก็เกิดจากเกิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์มวลมหาศาล ที่มีความหนาแน่นสูงมากจนเป็นอนันต์
ภาพแสดงการกำเนิดหลุมดำ
หลุมดำมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 6,500 ล้านเท่า
จากการศึกษา และค้นพบหลุมดำในอวกาศที่ปล่อยภาพออกมาพบว่า หลุมดำนี้มีมวลขนาดใหญ่มาก มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 6,500 ล้านเท่า ลักษณะของภาพหลุมดำที่บันทึกได้ เป็นเงาของหลุมดำที่ห่อหุ้มหลุมดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40,000 ล้านกิโลเมตร เงาของหลุมดำนี้ใหญ่กว่าขนาดจริงของหลุมดำประมาณ 2.5 เท่า นับเป็นหลุมดำที่มีขนาดใหญ่ และใกล้โลกที่สุดเท่าที่เคยศึกษามา
ภาพถ่ายหลุมดำที่กล้องโทรทรรศน์ EHT บันทึกได้
ความพิเศษของกล้องโทรทรรศน์ EHT
การถ่ายภาพหลุมดำเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่กล้องโทรทรรศน์ของอีเวนต์ฮอไรซัน (Event Horizon Telescope: EHT) ก็ทำได้สำเร็จ เรามาดูกันดีกว่าว่า กล้องตัวนี้มีลักษณะพิเศษอย่างไร? ถึงสามารถบันทึกภาพหลุมดำได้
1. เป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ที่ทำงานร่วมกับหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ 8 แห่งทั่วโลก ได้แก่
- หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแอริโซนา สหรัฐอเมริกา
- กล้องโทรทรรศน์เอเพ็กซ์ ประเทศชิลี
- กล้องโทรทรรศน์วิทยุ IRAM ประเทศสเปน
- กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เคลิร์ก แม็กซ์เวลล์ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา
- The Large Millimeter Telescope Alfonso Serrano (LMT) ประเทศเม็กซิโก
- The Submillimeter Array (SMA) รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา
- กล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา ประเทศชิลี
- กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ณ ขั้วโลกใต้ ทวีปแอนตาร์กติกา
2. เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่สูง ช่วง 230-450 GHz
3. เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ เทคนิคการแทรกสอดระยะไกล (Very Long Baseline Interferometer : VLBI)
เผยภาพหลุมดำครั้งแรกของโลก
ที่มา : news.mthai , กรุงเทพธุรกิจ , สวทช.
ภาพ : Nuncius , fb Event Horizon Telescope , PhysicsWorld