สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมความหมาย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 มี.ค. 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานแถลงข่าวแบบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานตราสัญลักษณ์พร้อมความหมาย  และมีพระราชอนุญาตให้รัฐบาลทำขึ้นเป็นต้นแบบอย่าง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประดับในห้วงเวลาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2562 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 4 พ.ค. 2563

ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยตราสัญลักษณ์นี้จะปรากฏใน 6 แห่ง คือ

1. เครื่องใช้ในพระราชพิธีคนโทน้ำ จาก 108 แห่งทั่วประเทศ
2. การทำซุ้ม
3. ธงสัญลักษณ์
4. เสื้อหรือหมวก
5. เข็มตราสัญลักษณ์
6. การนำสัญลักษณ์ไปใช้ ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประดับในแก้วน้ำ ขวดแก้ว จาน ชาม ช้อน แจกัน เหยือกน้ำ กำไล จี้ กล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เว้นแต่สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยการนำไปเผยแพร่ในรูปของแผ่นพับหรือสติกเกอร์จะต้องใช้สีที่ถูกต้องตามต้นแบบ

ตราสัญลักษณ์และความหมาย

ตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 ประกอบด้วยอักษรพระปรมาภิไธย วปร อยู่ตรงกลาง พื้นอักษรสีขาวขอบเดินทอง อันเป็นสีของวันจันทร์ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ ภายในอักษรประดับเพชร ตามความหมายแห่งพระนามมหาวชิราลงกรณ อักษร วปร อยู่บนพื้นสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม)​ อันเป็นสีของขัตติยกษัตริย์ ภายในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์สีทองสอดสีเขียว อันเป็นสีซึ่งเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ กรอบทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อัญเชิญมาจากกรอบที่ประดิษฐานพระมหาอุณาโลม อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

แวดล้อมด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมอุณาโลมประกอบเลขมหามงคลประจำรัชกาล อยู่เบื้องบน พระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ทอดไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ทอดไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอน อยู่เบื้องล่าง

เบื้องหลังพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานพระมหาเศวตฉัตรอันมีระบายขลิบทอง จงกลยอดฉัตรประกอบรูปพรหมพักตร์อันวิเศษสุด ระบายชั้นล่างสุด ห้อยอุบะจําปาทอง แสดงถึงพระบารมีและพระบรมเดชานุภาพที่ปกแผ่ไปทั่วทิศานุทิศ เบื้องล่างกรอบอักษรพระปรมาภิไธยมีแถบแพรพื้นสีเขียวถนิมทอง ขอบขลิบทอง มีอักษรสีทองความว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562”

ปลายแถบแพรเบื้องขวามีรูปคชสีห์กายม่วงอ่อนประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึง ข้าราชการฝ่ายทหาร เบื้องซ้ายมีรูปราชสีห์กายขาว ประคองฉัตร 7 ชั้น หมายถึงข้าราชการฝ่ายพลเรือน ผู้ปฏิบัติราชการสนองงานแผ่นดินอยู่ด้วยกัน ข้างคันฉัตรด้านในทั้งสองข้างมีดอกลอยกนกนาค แสดงถึงปีมะโรงนักษัตริย์อันเป็นปีพระบรมราชสมภพ สีทองหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองยิ่งของประเทศชาติและประชาชน

รัฐบาลขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเครื่องสักการะ และขอเชิญชวนประดับตราสัญลักษณ์ ตามอาคารสถานที่ และบ้านเรือนเพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยพร้อมเพรียงกัน และขอเชิญชวนประชาชนร่วมแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลืองพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศในวันที่ 6 พ.ค.นี้

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก thairath.co.thopm.go.th,

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง