ระยะเวลาย่อยสลาย กระทง แต่ละประเภท – ค่าบีโอดีในกระทงขนมปัง กรวยไอติม ทำให้น้ำเน่าเสีย!

วันลอยกระทง เป็นความเชื่อโบราณนานมาว่า เมื่อถึงวันลอยกระทง ประชาชนทุกคนนิยมออกมาลอยกระทงเพื่อขอขมาเจ้าแม่คงคา ในอดีตกระทงที่นำมาลอยนั้นทำจากวัสดุธรรมชาติอย่างต้นกล้วย ใบตอง ดอกไม้ เป็นต้น จากนั้นมาเริ่มมีการใช้โฟมซึ่งรณรงค์ให้เลิกใช้ไปแล้วเพราะทำลายสิ่งแวดล้อม จากนั้นเริ่มมีการใช้วัสดุอื่นๆ ขึ้นมาอีก อาทิ กระทงขนมปัง กระทงไอติม เพราะหลายๆ คนคิดว่าไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงมีผลการศึกษาออกมาว่า ทั้งขนมปังและไอติม มีสิทธิ์ที่จะทำให้น้ำเน่าเสียได้!! มาดูกันว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร และควรจะใช้กระทงแบบไหนดีที่สุด?!

ระยะเวลาย่อยสลาย กระทง แต่ละประเภท

ค่าบีโอดีใน กระทงขนมปัง กระทงกรวยไอติม ทำให้น้ำเน่าเสีย!

ข้อมูลจาก ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระทงที่ใช้ลอยประเภทต่างๆ โดยสรุปว่าไม่ว่าจะเป็นกระทงรูปแบบไหน อาทิ กระทงหยวกกล้วย กระทงใบตอง กระทงขนมปัง กระทงกรวยไอติม ก็มีผลกระทบต่อน้ำด้วยกันทั้งหมด ให้ดูสถานที่ที่ลอยว่าลอยที่ไหน และดูว่ากระทงแต่ประเภทมีระยะเวลาการย่อยสลายนานเท่าไร

ระยะเวลาย่อยสลายกระทงแต่ละประเภท

จากข้อมูลในปี 2553 จากคุณประพิมพ์ บริสุทธิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) เกี่ยวกับระยะเวลาย่อยสลายกระทงแต่ละประเภท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

– กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว (ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน)

– กระทงที่ทำจากโคนไอศกรีม หรือกรวยไอติม (ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน)

– กระทงที่ทำจากขนมปัง (ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน)

– กระทงที่ทำจากกระดาษ (ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 – 5 เดือน)

– กระทงที่ทำจากโฟม (ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 50 ปี)

– กระทงมันสำปะหลัง (ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง )

จะเห็นได้ว่าระยะเวลาในการย่อยสลาย ขนมปังมันสำปะหลังจะเร็วที่สุด ตามมาด้วยขนมปัง และกรวยไอติม แต่กระทงทีทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วยจะเก็บง่ายกว่าประเภทอื่นๆ และเมื่อเก็บขึ้นมาแล้วก็จะย่อยสลายได้ง่ายกว่ากระทงโฟม

เกี่ยวกับกระทงขนมปัง

แต่ปัจจุบันกระทงที่คนนิยมกันมากที่สุด จะเป็นกระทงขนมปัง แม้จะย่อยสลายได้ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเน่าได้ เพราะขนมปังจะเกิดการยุ่ย ทำให้น้ำมีค่าบีโอดี (Biochemical Oxygen Demand, BOD) หรือ ค่าสารอินทรีย์สูง ซึ่งสารอินทรีย์ก็คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน

โดยธรรมชาติหากสารอินทรีย์ลงไปอยู่ในแม่น้ำ จะมีจุลินทรีย์พวกแบคทีเรียมากินเป็นอาหาร หากปริมาณของสารพวกนี้ไม่มาก ก็จะไม่ถือว่าส่งผลเสีย เพราะจะเปลี่ยนแป้งไปเป็นคาร์บอนไดออกไซต์ หากใช้กระทงขนมปังลอยน้ำในปริมาณมาก ขบวนการนี้ก็จะมีดึงออกซิเจนในน้ำมาใช้ เมื่อใช้ออกซิเจนในน้ำมากไปจะกลายเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียได้

การลอยในแหล่งน้ำพื้นที่เปิดหรือปิด

อย่างไรก็ตามการใช้กระทงขนมปัง ถ้าใช้ลอยในแหล่งน้ำไม่ว่าจะเปิดหรือปิด ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นแหล่งน้ำปิดแล้วมีบ่อปลาเมื่อลอยกระทงขนมปังก็จะมีประโยชน์ เพราะปลาสามารถกินได้ แต่ถ้าเป็นแหล่งน้ำปิดที่ไม่มีบ่อปลา ขนมปังก็จะเกิดการเน่าเสียทำให้เป็นผลกระทบต่อระบบน้ำได้  นอกจากนี้การใช้กระทงกรวยไอติมก็มีผลกระทบทำให้น้ำเน่าได้เช่นกันเพราะมีค่าบีโอดีในน้ำสูง

กระทงที่ดีที่สุด คือกระทงหยวกกล้วย

โดยสรุปแล้วหากใครคิดจะลอยกระทง ควรนำกระทงหยวกกล้วยมาลอยจะดีที่สุด เพราะย่อยสลายง่าย และนำไปกำจัดได้ง่าย

แต่ทางที่ดีที่สุดคือลอย 1 ครอบครัวต่อ 1 กระทง เพราะจะเป็นการลดทรัพยากรไปด้วย / หรือจะลอยกระทงออนไลน์ผ่านเว็บก็ได้นะคะ สะดวก รถไม่ติด ลอยกี่ครั้งก็ได้น้าาา คลิก MThai.com/LoyKraThong

ข้อมูลจาก: pptvhd36, jr-rsu

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง