ความเชื่อต่างๆ ตำนาน นางนพมาศ ลอยกระทง วันลอยกระทง โคมลอย

6 ตำนานความเชื่อ วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

Home / สาระความรู้ / 6 ตำนานความเชื่อ วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

วันลอยกระทง เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาวไทย ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติไทย สำหรับปี 2560 วันลอยกระทงตรงกับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งประเพณีลองกระทงของไทยนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในสมัยนั้นพิธีลอยระทงจะเป็นการลอยโคม

ตำนานความเชื่อ วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

ซึ่งในเวลาต่อมา ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (นางนพมาศ) สนมเอกของพระร่วงได้คิดค้นประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย หลังจากนั้นจึงมีการสืบต่อประเพณีการลอยกระทงจนมาถึงปัจจุบัน

โดยได้มีตำนานที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับประเพณีวันลอยกระทงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาเผือก ตำนานการบูชารอยพระพุทธบาท และตำนานการบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นต้น วันนี้ แคมปัส-สตาร์ ได้รวบรวมตำนานเหล่านี้มาบอกกันด้วย ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันได้เลย…

โคมลอย

1. ตำนานลอยกระทง จากนิทานชาวบ้าน เรื่องกาเผือก

เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปหากินแล้วหลงทางกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟอง รอด้วยความกระวนกระวายใจ จู่ๆ ก็มีพายุใหญ่พัดมาโดนรังกระจัดกระจายจนไข่ทั้ง 5 ฟองตกลงน้ำ ด้านแม่กาถูกลมพัดไปอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อย้อนกลับมาไม่เห็นฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตายไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ส่วนฟองไข่ทั้ง 5 นั้น ลอยน้ำไปคนละทิศคนละทาง

ต่อมาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์ ได้มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้งถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมด ไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาเลย โดยกุมารทั้ง 5 มีนามว่า กกุสันโธ (วงศ์ไก่), โกนาคมโน (วงศ์นาค), กัสสโป (วงศ์เต่า), โคตโม (วงศ์โค) และเมตเตยยะ (วงศ์ราชสีห์) ต่อมากุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงขอลาไปบวชเป็นฤาษี และทั้ง 5 คน ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกันจึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน

จากนั้น ทั้งหมดได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าต่อไปจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้ร้อนไปถึงมารดา และด้วยแรงอธิษฐานของทั้ง 5 ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลกจำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดาเมื่อถึงเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกาปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ เพื่อแสดงความคิดถึง ตั้งแต่นั้นมาจึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหมและเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้

  1. ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ (พระกกุสันโธ)
  2. ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน (พระโกนาคมน์)
  3. ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป (พระกัสสปะ)
  4. ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม (พระสมณโคดม)
  5. ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยยะ (พระศรีอาริยเมตไตรย)

ตามตำนานดังกล่าว ได้มีพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรก มาบังเกิดบนโลกมนุษย์แล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคต ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย

วันลอยกระทง

2. ตำนานลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก

เป็นตำนานที่เล่ากันว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ได้เสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา จากนั้นพระองค์ได้เสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำการสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามตำนานนี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ

3. ตำนานลอยกระทง เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคได้ทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์เตรียมเสด็จกลับ พญานาคจึงได้ทูลขออนุสาวรีย์ไว้สำหรับกราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้ลอยกระทงเพื่อสักการบูชา

4. ตำนานลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุต

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ อโศการาม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฏลีบุตร และยังต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิม จากนั้นจึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ สำหรับพระอุปคุต คนไทยจะเรียกได้อีกชื่อว่า พระบัวเข็ม

5. ตำนานลอยกระทง เพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์

พิธีการลอยกระทงตามคติพราหมณ์ ซึ่งกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร นิยมทำพิธีการลอยกระทงกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็น 2 ระยะ ซึ่งจะทำในกำหนดใดก็ได้

6. ตำนานลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี

ตำนานนี้เล่ากันว่า เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ ในเวลากลางดึกด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะ มหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขี่ม้ากัณฐกะ กระโจนข้ามแม่น้ำไป เมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร และทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา “สาธุ โข ปพฺพชฺชา” แล้วจึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดีย์สถานในเทวโลก ทำให้การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยเมตไตรยด้วย

ข้อมูลและภาพ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.hoteldebangkok.comhttp://oknation.nationtv.tv

บทความแนะนำ