พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มีพระราชปรีชาญาณในเรื่องของดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง มี 5 เพลง คือ แว่ว, ในดวงใจนิรันดร์, เตือนใจ, ไร้เดือน และ เกาะในฝัน นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองขึ้นภายหลังใส่ในคำร้องที่มีผู้ประพันธ์ไว้แล้ว คือ ความฝันอันสูงสุด, เราสู้ และ รัก เราแคมปัส-สตาร์ ดอทคอม จึงขอนุญาตรวบรวมมาให้ทุกคนได้รับฟังกันค่ะ
บทเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
แสงเทียน (Candlelight Blues)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 1 ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะบลูส์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงแก้ไขทำนองและคอร์ดบางตอน จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำออกมาบรรเลงในเวลานั้น ต่อมาได้พระราชทานให้นำออกบรรเลงครั้งแรก พ.ศ. 2490 และใน พ.ศ. 2496 นางสาวสดใส วานิชวัฒนา (รองศาสตราจารย์ สดใส พันธุมโกมล) ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษถวาย
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : แสงเทียน (เวอร์ชั่นภาษาไทย)
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ขับร้องโดย : เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : แสงเทียน (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ)
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: Assoc. Prof. Sodsai Pantoomkomol
ยามเย็น (Love at Sundown)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ ใน พ.ศ. 2489 ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย และท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ที่มีคำต้องสมบูรณ์ให้นายเอื้อ สุนทรสนาน นำออกบรรเลงในงานของสมาคมปราบวัณโรค ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่นำออกบรรเลงสู่ประชาชน เป็นเพลงที่ร่าเริงแจ่มใสเหมาะสำหรับการเต้นรำในสมัยนั้น จึงเป็นเพลงยอดนิยมของพสกนิกรไทยทันที
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ยามเย็น
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ขับร้องโดย : ศรราม เทพพิทักษ์
สายฝน (Falling Rain)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ในงานรื่นเริงของสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, นภา หวังในธรรม และสวลี ผกาพันธ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงความลับของเพลงนี้ว่า “…เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด… ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป 4 ช่วง แล้วก็ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป… เป็น 1 2 3 4 …”
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : สายฝน
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ขับร้อง : ศิริณี สมรรถนาวิน จากอัลบั้ม HM Blues
ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 4 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2489 ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ พระราชทานให้วงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลงครั้งแรก ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ (ปัจจุบันคือกรมประชาสัมพันธ์) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ใกล้รุ่ง
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร
ขับร้อง คริสตี้ กริ๋ปสัน HM Blues
ชะตาชีวิต (H.M. Blues)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงพระนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 20 พรรษา ในพ.ศ. 2490 ข้าราชการ นักเรียนและคนไทยในสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองติดต่อกันหลายวัน ในวันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490 มาตั้งวงเล่นดนตรีที่พระตำหนักวิลลาวัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีด้วย ในงานมีการทายชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ใหม่ H.M.Blues ว่า H.M. แปลว่าอะไร ผู้ที่จะทาย ต้องซื้อกระดาษสำหรับเขียนคำทายใบละครึ่งฟรังซ์ จุดประสงค์เพื่อระดมทุนสำหรับช่วยเหลือคนจน โดยวงดนตรีบรรเลงเพลงให้ผู้ร่วมงานเต้นรำโดยไม่หยุดพัก ระหว่างเลี้ยงอาหารว่างตอนดึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ H.M. Blues เนื้อเพลงมีใจความว่า “คนอื่นๆ ที่ไม่ได้เล่นดนตรี ต่างก็อิ่มหนำสำราญกัน แต่พวกเราที่กำลังเล่นดนตรีต่างก็หิวโหย และไม่มีแรงจะเล่นต่อไปอีกแล้ว” ในงานไม่มีผู้ใดทายชื่อถูกเลยสักคนเดียว เพราะทุกคนต่างคิดว่า H.M. Blues ย่อมาจาก His Majesty ‘s Blues ซึ่งแปลว่าเพลงแนวบลูส์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่แท้ที่จริงแล้ว H.M.Blues ย่อมาจาก Hungry Men’s Blues แปลว่าเพลงแนวบลูส์ของผู้ที่หิวโหยต่างหาก
คำร้องภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ประพันธ์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นคำร้องภาษาอังกฤษ ไม่ได้พระราชทานลงมา และเพราะต้นฉบับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ดร.ประเสริฐ จึงใส่คำร้องภาษาไทย ที่มีความหมายออกมาคนละแบบ ส่วนคำร้องภาษาฝรั่งเศส ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้น.ส.เปรมิกา สุจริตกุล ถ่ายทอดความหมายจากคำร้องภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. 2552 โดยใช่ชื่อเพลงว่า “Pauvre Destin”
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ชะตาชีวิต
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร
ดวงใจกับความรัก (Never Mind the Hungry Men’s Blues)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. 2490 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2490 หลังจากได้เสวยพระกระยาหาร และนักดนตรีได้รับประทานอาหารแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ และพระราชทานชื่อว่า Never Mind the H.M Blues เป็นการตอบปริศนาคำทายที่ว่า H.M. แปลว่าอะไร ของเพลง H.M. Blues และคำร้องภาษาฝรั่งเศส ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้น.ส.เปรมิกา สุจริตกุล ถ่ายทอดความหมายจากคำร้องภาษาไทยเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๒ โดยใช้ชื่อเพลงว่า “Soleil d’Amour”
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ดวงใจกับความรัก
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
มาร์ชราชวัลลภ (Royal Guards March)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 7 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ. 2491 ชื่อ “ราชวัลลภ” และพระราชทานให้เป็นเพลงประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เพื่อไว้ใช้ในพิธีสวนสนาม หลังจากนั้น ผบ.กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ได้มอบหมายให้พันตรี ศรีโพธิ์ ทศนุต แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย มีห้องเพลงยาวกว่าเดิม จึงขอพระราชทานทำนองเพิ่มเติมเพื่อให้เข้ากับคำร้อง ในการแก้ไขทำนองให้เข้ากับคำร้องนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) ช่วยตรวจทาน และได้พระราชทานนามเพลงพระราชนิพนธ์นี้ว่า “มาร์ชราชวัลลภ” (The Royal Guards March) เมื่อ พ.ศ. 2495
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : มาร์ชราชวัลลภ
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พันตรีศรีโพธิ์ ทศนุต
อาทิตย์อับแสง (Blue Day)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day พร้อมด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You หลังพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้นในวันนั้น
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : อาทิตย์อับแสง
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ขับร้องโดย : คุณศิริลักษณ์ ผ่องโชค
เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับ ณ เมืองดาโวส์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาไทย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะยังทรงเป็นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You พร้อมด้วย เพลงพระราชนิพนธ์ Blue Day หลังพระกระยาหารค่ำในงานเลี้ยง ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้นในวันนั้น
คำหวาน (Sweet Words)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 10 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
มหาจุฬาลงกรณ์ (Maha Chulalongkorn)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง โดยมีท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และ สุภร ผลชีวิน เป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ให้เป็นเพลงประจำสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยืนตรงเมื่อเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ดังขึ้น
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : มหาจุฬาลงกรณ์
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา และสุภร ผลชีวิน
แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 12 ทรงพระราชนิพนธ์ในพ.ศ. 2492 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นเพลงในจังหวะวอลท์ซ
พรปีใหม่
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 เมื่อเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่ แก่บรรดาพสกนิกรไทยด้วยเพลง จึงทรงพระราชนิพนธ์เพลง “พรปีใหม่” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือวงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทย ในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : พรปีใหม่
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
รักคืนเรือน (Love Over Again)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 14 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495
ยามค่ำ (Twilight)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 15 ทรงพระราชนิพธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย แล้วได้พระราชทานให้นำออกบรรเลง ในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 เป็นเพลงในจังหวะฟอกซ์ทร็อต
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ยามค่ำ
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ยิ้มสู้ (Smiles)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ลำดับที่ 16 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย เพื่อเป็นการปลอบขวัญและให้กำลังใจแก่คนตาบอด แล้วพระราชทานให้นำไปบรรเลง ในงานสมาคมช่วยคนตาบอด ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2495 ส่วนคำร้องภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์ในปีต่อมา
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ยิ้มสู้
ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
มาร์ชธงไชยเฉลิมพล (The Colours March)
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 17 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทย เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ
เมื่อโสมส่อง (I Never Dream)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 18 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ได้พระราชทานให้นำไปบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปี ของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2497 ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา แต่งคำร้องภาษาไทยถวาย
ลมหนาว (Love in Spring)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 19 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประพันธ์ทำนอง และสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้อง
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ลมหนาว
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag)
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 20 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2497 เพื่อเป็นเพลงประจำวงดนตรี “ลายคราม” โดยบรรเลงทุกครั้งที่ทรงดนตรีกับวงลายคราม พระราชทานออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส. ประพันธ์คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : ศุกร์สัญลักษณ์
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
Oh I say
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 21 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ สโมสรสวนสราญรมย์ เมื่อวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : Oh I say
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช
Can’t You Ever See
เป็นเพลงพระราชนิพนธ์อันดับที่ 22 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2498 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษ แล้วพระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานรื่นเริงประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ เวทีลีลาศสวนลุมพินี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เพลงพระราชนิพนธ์ นี้ไม่มีคำร้องภาษาไทย
บทเพลงพระราชนิพนธ์ : Can’t you ever see
ทำนอง : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
กระทู้ที่เกี่ยงข้อง
- พระนามแรกประสูติของในหลวง ความเป็นมาพระนามต่างๆ ของในหลวง
- 80 เรื่องของในหลวง ที่คนไทยทุกคนควรรู้!
- รวมบทเพลงสรรเสริญ เพื่อแสดงความภักดีต่อ พระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของคนไทย
- รวมบทเพลงพระราชนิพนธ์ พ่อหลวงของแผ่นดิน อัครศิลปินของปวงชนชาวไทย (2)
———————————————————————–
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี