วิกฤต ขยะพลาสติก หลังโควิด-19 ทางออกและโอกาส สู่การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

ขยะพลาสติก เป็นปัญหาสะสมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน จากปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มขึ้นจนล้นเมือง กลายเป็นปัญหาระดับประเทศและเป็นโจทย์ใหญ่ของโลก ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่าง ๆ มากมาย แม้ว่าที่ผ่านมากระแสการรณรงค์ “ลด-ละ-เลิก” การใช้พลาสติก จะเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ที่ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป เช่น การทำงานที่บ้าน (Work From Home) และใช้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ อ่านบทความ ” วิกฤต ขยะพลาสติก หลังโควิด-19 ทางออกและโอกาสสู่การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ”

วิกฤต ขยะพลาสติก หลังโควิด-19

ทางออกและโอกาสสู่การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management : PPP Plastics) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกและวันทะเลโลก ภายใต้งานเสวนาในหัวข้อ “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” (หาทางออก เพิ่มโอกาส สร้างรูปแบบที่สมดุล มุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน) ผ่านระบบออนไลน์ *

ร่วมนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมิติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและขยะพลาสติก ร่วมหาทางออกการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อสร้างรูปแบบที่สมดุลอันมุ่งไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

· PPP Plastics ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจร

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ประธาน PPP Plastics กล่าวว่า ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก หากไม่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ มีการคาดการณ์ได้ว่าทั่วโลกภายในอีก 20 ปีข้างหน้านี้ จะส่งผลทำให้มีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมมากถึง 700 ล้านตัน

โดยวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมบูรณาการความร่วมมือกันในการลดการใช้งานพลาสติกที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการลด ละ เลิก การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Used Plastic) และการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามวาระแห่งชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นระบบและครบวงจรก็จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถสร้างมูลค่าของของเสียเพิ่มขึ้นควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน PPP Plastics มีภาคีเครือข่าย 39 องค์กรที่มีบทบาททำงานร่วมกับภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อร่วมกันดำเนินการตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 โดยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยไม่ต่ำกว่า 50% ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อน 6 เสาหลักกิจกรรม ประกอบด้วย

1) พัฒนาโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เพื่อจัดการขยะของชุมชนเมืองและต่างจังหวัด เช่น โมเดลคลองเตย โมเดลระยอง และมือวิเศษ คูณ วน 2) พัฒนานโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ร่วมกับภาครัฐ 3) การจัดทำและพัฒนาฐานข้อมูลขยะพลาสติก 4) สื่อสารประชาสัมพันธ์และการศึกษาเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยกขยะและสร้างวัฒนธรรมการแยกขยะให้กับคนรุ่นใหม่ 5) พัฒนานวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม เช่น ถนนพลาสติก และ 6) การจัดหาเงินทุนและงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการ

· โควิด-19 ดันดีมานด์พลาสติกเพิ่มรับ New Normal

ด้านนายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายระลอก และมีการแพร่ระบาดไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วจนก่อให้เกิดเป็นภาวะวิกฤต ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมุม จนต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ความต้องการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยมีเพิ่มสูงขึ้น

และพลาสติกก็จัดเป็นวัสดุชนิดหนึ่ง ที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวในด้านของบรรจุภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารและเพื่อการขนส่ง รวมกระทั่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ จึงมีการอุปโภคกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อให้การใช้พลาสติกเกิดประโยชน์สูงสุด และมีการบริหารจัดการขยะที่ถูกต้องเหมาะสม การทำความเข้าใจในตัวพลาสติกและคุณค่าที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญ

· กทม. เร่งเครื่องลดปริมาณขยะสู่เป้าหมาย Zero Waste

ดร.ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปริมาณขยะของกรุงเทพมหานครในภาพรวมลดลงจากปริมาณขยะสูงสุดในรอบ 30 ปี 10,700 ตันต่อวัน เมื่อปี 2561 เหลือ 10,500 ตันต่อวัน ในปี 2562 ลดเหลือ 9,500 ตันต่อวัน ในปี 2563 และในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2564 เหลือ 8,800 ตันต่อวัน โดยสัดส่วนของขยะพลาสติกในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ

โดยสัดส่วนขยะพลาสติกเดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2564 ร้อยละ 7.61 แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี มีวิสัยทัศน์ กรุงเทพมหานครจัดการขยะด้วยแนวคิดเหลือศูนย์ (Zero Waste) โดยส่งเสริมทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดให้เหลือน้อยที่สุด

และกำจัดขยะที่เหลือด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป้าหมายลดปริมาณขยะร้อยละ 20 และเพิ่มการนำขยะไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 50 จากปีฐาน 2556 ในปี 2575 การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการลดและคัดแยกขยะเพื่อใช้ประโยชน์ที่แหล่งกำเนิด โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ทั้ง Recyclable Waste และ Organic Waste และการลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง และการใช้ซ้ำบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มากที่สุด

ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสถานศึกษา ภาครัฐ เอกชน และบริษัทมหาชนหลายแห่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการลด คัดแยก และใช้ประโยชน์ขยะที่แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดปริมาณขยะที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บไปกำจัด โดยจัดรถเก็บมูลฝอยมากกว่า 1,500 คัน บริการจัดเก็บมูลฝอยทั่วไปซึ่งเหลือจากการคัดแยกที่ต้นทาง แล้วนำไปกำจัดด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการเผาผลิตไฟฟ้า (Incinerator) เทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ (MBT) และเทคโนโลยีการหมัก (Composting) แทนการฝังกลบไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากปัจจุบัน ร้อยละ 29 ภายในปี 2570

· กรมควบคุมมลพิษพร้อมบูรณาการ ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก จึงได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีกรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

โดยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 (2563-2565) ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวบรวมพลาสติกนำกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

และในระยะต่อไปหากสถานการณ์โควิด-19 เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว กรมฯ จะได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง ให้เกิดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

· ภาคเอกชนกับบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า อีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ คือ การออกมาตรการทางกฎหมายและมาตราทางการสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติกตลอดทั้งระบบจากภาครัฐ เริ่มตั้งแต่การจัดการจากต้นทาง เช่น การสร้างแนวปฏิบัติ Eco-design การจัดถังขยะให้ประชาชนแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้านระบบจัดเก็บและขนส่ง เช่น ส่งเสริมจุดรับเศษพลาสติกเป้าหมาย สร้างมาตรฐานร้านรับซื้อของเก่า และสุดท้าย คือ การสร้างตลาดให้กับพลาสติกรีไซเคิล

เช่น การส่งเสริม Green Procurement ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล สร้างมาตรฐานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล พัฒนาผู้ประกอบการทั้ง Mechanical Recycle และ Chemical Recycle ที่มีมาตรฐาน รวมถึงสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่ได้มาตรฐาน เป็นต้น สำหรับภาคธุรกิจ เรามีเทคโนโลยีพร้อมสำหรับการนำพลาสติกมาใช้ประโยชน์ หากภาครัฐส่งเสริมมาตราการหล่านี้แล้ว ผมเชื่อว่าเราจะผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกได้อย่างสมบูรณ์

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President-Polyolefins and Vinyl, Chemicals Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และในปัจจุบันวิกฤต COVID-19 ก็เป็นอีกความท้าทาย ที่ทำให้เกิดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพิ่มมากขึ้น เอสซีจีจึงมุ่งหาทางออก ด้วยการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ควบคู่กับนวัตกรรม เทคโนโลยีพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ นำระบบดิจิตอล เข้ามาช่วยบริหารจัดการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การบริหารจัดการของเสีย “Bang Sue Model” การขยายผลสู่ชุมชน “ชุมชน Like (ไร้) ขยะ” การขยายผลสู่เยาวชน “ถุงนมกู้โลก” การพัฒนา “Recycled Plastic Road” และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “SCG Green Polymer”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืน และภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการพลาสติกใช้แล้ว และปัญหาสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันและมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต เราจึงมุ่งหาทางออกที่เหมาะสมผ่านการดำเนินงานภายใต้ GC Circular Living Framework

ซึ่งประกอบด้วย 3 ตัวขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ การดำเนินการผลิตที่ใส่ใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลดของเสียจากกระบวนการผลิตและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภค และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้านการบริหารจัดการพลาสติกที่ใช้แล้วอย่างครบวงจร

เพื่อเพิ่มช่องทางและประสิทธิภาพ ในการส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง เป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เสริมสร้างความตระหนักรู้สู่ผู้บริโภค และต่อยอดสู่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ ที่ช่วยลดผลกระทบทั้งทางด้านปริมาณขยะจากพลาสติกใช้แล้วและปัญหาสภาวะโลกร้อนควบคู่กันอย่างบูรณาการ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนี้ GC ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น กลุ่ม PPP Plastics เพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ทั้งด้านกฎหมาย มาตรการส่งเสริมการดำเนินงานด้านเศรษฐศาสตร์ และมาตรการทางสังคม ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาชน ซึ่งในท้ายที่สุดทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า รูปแบบการดำรงชีวิตและการบริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างมากหลังจากที่มีวิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น ทำให้บรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use) ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ด้านสุขอนามัยของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในการนำบรรจุภัณฑ์กลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอีกครั้ง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่และลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัด ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ได้เริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์

ซึ่งนอกจากจะสามารถปกป้องและคงคุณภาพของสินค้า จนถึงมือผู้บริโภคแล้ว ยังจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ลดผลกระทบและภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ การมุ่งไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น ไม่สามารถทำเพียงโดยองค์กรหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ หากแต่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต ผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ ภาควิชาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ ในการสร้างบรรยากาศการดำเนินการที่คล่องตัว และมีประสิทธิภาพ รวมถึงกำหนดกรอบหลักเกณฑ์เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำงานร่วมกัน

“ขยะพลาสติก” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเริ่มได้ที่ตัวเรา ร่วมด้วยช่วยกันสร้างจิตสำนึกและใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ของพลาสติกที่เป็นรูปธรรม เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน.

รายชื่อผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ

** โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประธานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastics) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก, ดร.ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย, นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President-Polyolefins and Vinyl, Chemicals Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี, ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ นายนภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

ภาพประกอบ https://unsplash.com

บทความแนะนำ :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง