นักวิชาการ เรียกร้องสื่อ มีจริยธรรม อย่าทำข่าว ‘ถ้ำหลวง’ ที่ละเมิดสิทธิบุคคล

จากกรณีของข่าวถ้ำหลวง เป็นเวลากว่าครึ่งเดือนที่เราได้เห็นสื่อมวลชนของไทยทำข่าวกันอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นข่าวปลอมที่แพร่กระจายในโซเชียล รวมถึงการทำข่าวในพื้นที่ ที่ขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน ทำให้หลายคนเป็นห่วงว่าหลังจากที่ออกมาจากถ้ำได้แล้ว ทั้ง 13 ชีวิตจะต้องเผชิญกับกองทัพนักข่าวที่กระหายข่าว จนอาจจะลืมนึกถึงจรรยาบรรณ และจริยธรรมที่สื่อพึงจะมี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา “กลุ่มประชาชนเรียกร้องจริยธรรมสื่อ” ได้ออกมาขอเรียกร้องให้สื่อมวลชน สื่อออนไลน์ รวมทั้งผู้ใช้สื่อทุกคน ให้ยึดจริยธรรมในการทำข่าวกรณีถ้ำหลวง หลังจากที่ทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำแล้ว โดยมีใจความดังนี้

เรียกร้องสื่อ ‘ถ้ำหลวง’ อย่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

“สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” – กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 35

1. ขอเรียกร้องต่อสื่อ รวมถึงนักข่าวสังกัดองค์กรสื่อ นักข่าวอิสระ และนักข่าวออนไลน์

–  ไม่กีดขวางต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาล และส่งกลับบ้าน จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายฯ (ศอร.)

– เมื่อได้รับอนุญาต ขอให้ทำข่าวด้วยความระมัดระวัง ไม่กระทำการใดที่อาจเป็นการหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิ หรือเพิ่มความเครียดต่อเด็ก ๆ และโค้ช เช่น การใช้คำถามที่กดดัน คำถามเชิงลบ คำถามที่อาจทำให้ผู้ตอบรู้สึกผิด คำถามเชิงจับผิด คำถามที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง คำถามที่เน้นความสะเทือนใจ คำถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว คำถามที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คำถามเชิงอิทธิฤทธิ์หรืออาถรรพ์ แต่ควรใช้คำถามเชิงบวก คำพูดเชิงให้กำลังใจ และไม่ควรใช้เวลานานมากเกินไปจนเป็นการรบกวน

– ขณะที่อยู่ที่โรงพยาบาล นักข่าวจะต้องไม่ทำข่าวโดยและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วยคนอื่น ๆ เช่นการกีดขวาง หรือใช้เสียง แสงสว่างทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล

– ในการติดตามรายงานข่าวหลังจากที่เด็ก ๆ และโค้ชกลับสู่บ้าน นักข่าวจะต้องไม่ทำข่าวที่เป็นการรบกวนต่อการดำเนินชีวิตของทีมหมูป่า เช่น จอดรถรอถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอหน้าบ้าน หน้าโรงเรียนเป็นระยะเวลานานเกินสมควร

– ในการติดตามสัมภาษณ์เด็ก ๆ หลังจากกลับบ้าน นักข่าวจะต้องไม่ละเมิดสิทธิเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ขององค์การสหประชาชาติ และไม่ติดตามทำข่าวนี้ต่อเนื่องยาวนานจนเกินพอดี จนกระทบต่อการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ และโค้ช

2. ขอเรียกร้องต่อ “บรรณาธิการ” และ “ผู้บริหาร” องค์กรสื่อต่าง ๆ

ให้สั่งการให้นักข่าวปฏิบัติตามแนวทางที่กล่าวมา และหากมีการกระทำใดที่ผิดจริยธรรมในข้อดังกล่าวข้างต้น องค์กรสื่อจะมีการพิจารณาโทษทางวินัย และองค์กรสื่อจะรับผิดชอบหากเกิดความผิดพลาดขึ้น

3. ขอเรียกร้องให้องค์กรต่าง ๆ

แสดงเจตนารมณ์และจุดยืนที่ต้องการที่จะเห็นการทำข่าวกรณีถ้ำหลวงอย่างเหมาะสมตามจริยธรรมสื่อตามแนวทางข้างต้น รวมทั้งบริษัทเอกชน แบรนด์ต่าง ๆ ที่จะไม่สนับสนุนสื่อที่กระทำการละเมิดจริยธรรม

4. ขอเรียกร้องให้ผู้ใช้สื่อทุกคน

แสดงจุดยืนที่จะไม่สนับสนุนสื่อที่กระทำการละเมิดจริยธรรมสื่อ ด้วยการไม่กดไลค์ ไม่แชร์โพสต์ของสื่อนั้น เลิกติดตาม และไม่สนับสนุนสินค้าที่ลงโฆษณากับสื่อที่ละเมิดจริยธรรมสื่อ รวมทั้งขอเรียกร้องให้ผู้ใช้สื่อมีความระมัดระวังข้อมูลในโลกออนไลน์ ไม่แชร์ข่าวที่ไม่ยังไม่ได้รับการยืนยัน เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และไม่แชร์ข่าวที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเด็ก ๆ และโค้ชด้วย

ใครอยากเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้อง สามารถลงชื่อได้ที่:  ข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชน กรณีถ้ำหลวง จาก กลุ่มประชาชนเรียกร้องจริยธรรมสื่อ

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก:

เฟซบุ๊ก ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต, งานวิจัยเรื่อง สื่อมวลชนกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดย บุญยศิษย์ บุญโพธิ์, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, springnews

บทความที่เกี่ยวข้อง

Written by: Typrn

ข่าวที่เกี่ยวข้อง