ระลึกถึง สตีเฟน ฮอว์คิง อัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ผ่านภาพยนตร์ชีวประวัติ The Theory of Everything

หลายคนอาจทราบข่าวการเสียชีวิตของ “สตีเฟน ฮอว์คิง” (อายุ 76 ปี) นักฟิสิกส์และนักจักวาลวิทยา ผู้ที่ได้ฉายาว่าเป็นอัจฉริยะแห่งยุค มีผลงานการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์มากมาย หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญคือ การแผ่รังสีของวัตถุภายในหลุมดำ เรียกว่า “รังสีฮอว์คิง”

สตีเฟน ฮอว์คิง อัจฉริยะที่น่ายกย่อง

สตีเฟน เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งและมีชื่อเสียงจากการค้นคว้ามากมาย ขณะที่เผชิญกับโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตั้งแต่อายุ 21 ปี โดยหมอวินิจฉัยว่าเขาจะอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกไม่นาน ทำให้เขาตั้งใจที่จะศึกษาด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไปพร้อมๆ กับการต่อสู้กับโรคนี้

ประวัติ สตีเฟน ฮอว์คิง

สตีเฟน เป็นลูกชายคนโตของแฟรงค์และไอโซเบล ฮอว์คิง มีน้องสาว 1 คนชื่อ แมรี่ ฮอว์คิง ในช่วงแรกเขาเข้าเรียนในโรงเรียน St. Albans สอบได้เกือบที่สุดท้ายแต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่เก่ง แต่เป็นเพราะเขาสนใจในสิ่งต่างๆ ที่นอกเหนือจากบทเรียนมากกว่า เช่น เกมกระดาน หรือการสร้างคอมพิวเตอร์จากชิ้นส่วนเหลือใช้ เพื่อแก้ปัญหาสมการทางคณิตศาสตร์พื้นฐาน เป็นต้น

เขาสนใจในด้านคณิตศาสตร์ แต่ขณะนั้นมหาวิทยาลัย Oxford ยังไม่เปิดเฉพาะทางในด้านนี้ เขาจึงเข้าเรียนในด้านฟิสิกส์แทนและสนใจในด้านจักรวาลวิทยาเป็นพิเศษ ในปี 1962 สตีเฟนจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยม สาขา natural science และได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

การต่อสู้กับโรค ALS (กล้ามเนื้อ่อนแรง)

ในช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย สตีเฟนเริ่มสังเกตถึงอาการผิดปกติของตัวเองแต่เขาก็ไม่ได้สนใจ จนกระทั่งพ่อของเขาทราบเรื่องจึงพาไปพบแพทย์ โดยระบุว่าเขาเป็นโรค ALS ในระยะเริ่มแรก อยู่ในภาวะที่เส้นประสาทส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้และมีชีวิตอยู่อยู่ได้อีกไม่นาน แต่เขาก็ยังไม่หมดหวัง ตั้งใจทำงานคนคว้าและวิจัยด้านจักรวาลวิทยาต่อไป ถึงแม้ว่าสภาพร่างกายของเขาจะค่อยๆ แย่ลงก็ตาม

ผลงานการวิจัย

เขาเริ่มต้นงานวิจัยด้วยการศึกษาเกี่ยวกับสัมพันธภาพทั่วไปและฟิสิกส์ของหลุมดำ โดยได้ร่วมเขียนรายงานสรุปเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ว่ากำหนดให้เอกภพต้องเริ่มต้นในซิงกูลาริตี้ (บิ๊กแบง) และจะสิ้นสุดลงที่การเกิดหลุมดำ ในปี 1970

แต่งานวิจัยที่ทำให้สตีเฟนกลายเป็นคนดังในวงการวิทยาศาสตร์คือ การค้นพบว่าหลุมดำไม่ได้มีลักษณะเป็นสุญญากาศ แต่มีการแผ่รังสีของสสารหนึ่งที่สามารถผ่านแรงโน้มถ่วงของหลุ่มดำออกมาได้ ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า “รังสีฮอว์คิง”

ในปี 1974 เขาได้เป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดของราชบัณฑิตยสถานของอังกฤษ และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์แรงโน้มถ่วง ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี 1977 และในปี 1979 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น “เมธีคณิตศาสตร์ลูเคเชียน” (Lucasian Chair of Mathematics) ซึ่งเป็นบุคคลที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งนี้ต่อจาก เซอร์ไอแซก นิวตัน

ความรักที่สวยงามกว่า 25 ปี

สิ่งที่เปรียบเสมือนยาช่วยเยียวยาหัวใจคือ ความรัก ซึ่งความรักของสตีเฟนเกิดขึ้นสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เขาได้พบกับ เจน ไวล์ด ในงานเลี้ยงของมหาวิทยาลัย ต่อมาทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันในปี 1965 มีลูกด้วยกัน 3 คนคือ โรเบิร์ต, ลูซี้ และทิโมธี ฮอว์คิง

ภายหลังสตีเฟ่นและเจนหย่าร้างกัน หลังจากอยู่ด้วยกันมานานกว่า 25 ปี และกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน โดยสตีเฟ่นแต่งงานใหม่กับพยาบาลส่วนตัว เอเลน เมสัน ซึ่งต่อมาก็หย่าร้างอีกเช่นกัน

ภาพยนตร์ชีวประวัติของสตีเฟน

ชีวิตของสตีเฟน ฮอว์คิง ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อว่า “The Theory of Everything” โดยบทภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากหนังสือ “Travelling to Infinity: The True Story Behind The Theory of Everything” เขียนโดย เจน ฮอว์คิง อดีตภรรยาของสตีเฟน นำแสดงโดย เอ็ดดี เรดเมย์น รับบทเป็น สตีเฟน ฮอว์คิง และ เฟลิซิตี้ โจนส์ รับบทเป็น เจน โดยเข้าฉายในปี 2015

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ในส่วนของภาพยนตร์นั้นได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ 2 สาขาคือ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ประเภทดราม่าและดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รางวัลแบฟตา 3 สาขาคือ สาขาภาพยนตร์อังกฤษยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก pantip.combbc.combluerollingdot.orgth.wikipedia.org

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง