รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากงานวิจัยเรื่อง “การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัก 13 ประเทศทั่วโลก
การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ และวิธีการรับมือ
งานวิจัยเรื่อง “การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น”
พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยมีประสบการณ์กลั่นแกล้งและถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ
- 34.6% เคยแกล้งผู้อื่น
- 37.8% เคยถูกกลั่นแกล้ง
- 39% เข้าไปร่วมวงในเหตุการณ์กลั่นแกล้งนั้นด้วย
ทำให้พฤติกรรม Cyberbullying ขยายวงกว้าง
พฤติกรรมใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัย ของเด็กไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ แปรผันตรงกับพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเด็กไทยใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตถึง 4.8 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย โดยใช้ Youtube มากที่สุด รองลงมาคือ Line และ Facebook โดย 47% ของผู้ตอบสอบถามระบุว่า
- เคยแชทกับคนแปลกหน้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์
- 56% เป็นเพื่อนกับคนที่ไม่รู้จักมาก่อนในสื่อสังคมออนไลน์
- 65% เคยให้เพื่อนใช้มือถือขณะที่ยังล็อกอินอยู่บยโซเชียลมีเดีย
- 28% เคยลืมล็อกเอ้าท์หลังจากใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ
- และ 6.5% เคยนัดพบกับคนแปลกหน้า
- นอกจากนี้ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังบอกว่ามีคนอื่นรู้รหัสผ่านของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นเพื่อน
รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า กลุ่มที่กลั่นแกล้งผู้อื่นยังมีพฤติกรรมเกเร สมาธิสั้น มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ นอกจากนี้ พฤติกรรมการติดสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความสัมพันธ์กับการเป็นผู้กลั่นแกล้ง ผู้ถูกหรือแม้แต่ผู้ที่ร่วมแชร์หรือกดไลค์ (Bystander)
“พฤติกรรมการรับคนที่ไม่รู้จักเป็นเพื่อน การพูดคุยกับคนแปลกหน้า การออกไปพบกับคนแปลกหน้า การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว การอัดคลิปตัวเองโพสต์ลงออนไลน์ การให้คนอื่นรู้รหัสส่วนตัว พฤติกรรมดังกล่าวล้วนเป็นวิธีการใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ปลอดภัย และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น” รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และดีแทค ร่วมกำหนดกรอบความร่วมมือ เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ พร้อมเปิดตัวห้องแชท “Stop Bullying” อย่างเป็นทางการ มุ่งสร้างอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย
ลดปัญหากลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์
สร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย by DTAC จับมือกระทรวง DE
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network เข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น โดยข้อมูลจากงาน Thailand Social Award 2017 พบว่าคนไทยมีการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook จำนวนประมาณ 47 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 15%) Line จำนวนประมาณ 41 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 41%) Instagram จำนวนประมาณ 11 ล้านคน และ Twitter จำนวนประมาณ 9 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการเติบโต 70%) และจากผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 89.8% ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือวัยรุ่น โดยกลุ่มดังกล่าวมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และเปิดเผยความเป็นตัวตนชัดเจนขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกล่อลวงทางโลกออนไลน์มากขึ้น
การแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตามยังอาจมีผลทางด้านลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงฯ
โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดงานประชุมสัมมนา “สานพลังป้องกัน Cyberbullying” เพื่อรวบรวมสถานการณ์และความคิดเห็นในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับสังคมดิจิทัล และปีนี้เป็นปีแห่งการเรียนรู้ และทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เน้นแนวทางในการปฏิบัติการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรภาคีร่วมโครงการ “Stop Bullying เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน” และเปิดตัวบริการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผ่าน Stop Bullying Chat Line จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อออนไลน์ของรัฐบาล เพื่อให้สังคมไทยมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์
DTAC ให้คำปรึกษาเบื้องต้นทางเทคนิค
ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับดีแทคในครั้งนี้ กระทรวงฯ โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประสานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในการให้คำปรึกษาเบื้องต้นทางเทคนิค สำหรับการส่งต่อกรณีที่มีการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ โดยขอความร่วมมือ ปอท. ในการให้คำปรึกษาฯ ในช่วงเวลา 16.00 – 22.00 น. พร้อมกันนี้ ยังร่วมกันให้บริการคำปรึกษา/แนะนำ Stop Bullying Chat Line ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยผ่านกิจกรรมยุวทูตในโรงเรียน
หลักสูตรการเป็นพลเมืองดิจิทัล
นอกจากนี้ กระทรวงฯ และดีแทคจะร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการเป็นพลเมืองดิจิทัล ซึ่งจะเป็นหลักสูตรสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู/อาจารย์ และเด็กและเยาวชน และประสานการดำเนินงานในการนำหลักสูตรดังกล่าวบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทางเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้ สค. ได้มีหลักสูตรการเข้าใจดิจิทัล (Digital Literacy Curriculum) ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในเบื้องต้นแล้ว
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อดิจิทัล สำหรับการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และกรณีเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นควรทำอย่างไร
กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากการดำเนินงานข้างต้น กระทรวงฯ ยังมี “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิ ส่งเสริม สนับสนุน หรือให้ความช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือบุคคลทั่วไปในการดำเนินการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขัน อันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน ดังนั้น หากมีกิจกรรม หรือ โครงการที่เป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ก็สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณกองทุนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวได้
การสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้วางตำแหน่งด้านการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน (Child-friendly Business) สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ (Responsible business) ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานของดีแทค โดยถูกกำหนดอยู่ในกลยุทธ์บริษัท และในฐานะของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ได้ตระหนักถึงบทบาทการส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย จึงได้ริเริ่มโครงการ Safe Internet ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม การสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย ต่อเด็กและเยาวชน โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก
2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ
3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น
และ 4. ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดี
ซึ่งที่ผ่านมา ดีแทค ได้เดินสายโร้ดโชว์ให้ความรู้แก่กลุ่มนักเรียนประถมปลายกว่า 50 แห่ง เพื่อจัดเวิร์กช้อปให้ความรู้และสอนวิธีการรับมือหากถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 27,000 คน
นายลาร์ส กล่าวเสริมว่า สำหรับบริการห้องแชท Child Chat Line ที่ได้เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา พบผู้ขอคำปรึกษาจำนวน 278 คนและมีผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 40,000 ครั้ง สะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประชากรอินเทอร์เน็ตไทย
“การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้นั้น จำต้องอาศัยความร่วมมืออย่างบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและเอกชน ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและดีแทคในวันนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีในการตระหนักถึงการสร้างสภาพแวดล้อมอินเทอร์เน็ตที่ดี ตลอดจนความร่วมมือในอนาคตอีกด้วย” นายลาร์ส กล่าว
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำต้องทำอย่างบูรณาการ มององค์รวมไปถึงต้นตอ อันได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ปลอดภัย (Safe Internet) ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในการร่วมแก้ปัญหา
NOTE
- ดีอี ทำหน้าที่ระบบส่งต่อ-ประสานภาครัฐ ร่วมพัฒนาหลักสูตร พร้อมให้ทุนวิจัยส่งเสริมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย
- งานวิจัยเผย 1 ใน 3 ของเด็กไทยเผชิญปัญหาการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ ชี้พฤติกรรมติดสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้มก่อให้เกิด Cyberbullying มากขึ้น