โลหะปราสาทสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เป็น โลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก สร้างอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดาราม และอยู่ในบริเวณ ลานพลับพลามหาเจษฏาบดินทร ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
โลหะปราสาท สร้างไว้ทำไม?
สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ ให้โลหะปราสาทเป็นที่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ใช้จำพรรษาหรือปฏิบัติธรรม … ให้สร้างขึ้นแทนเจดีย์ประจำวัด ทรงมีพระราชศรัทธาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง และเพื่อพระราชทานแด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งแล้วเสร็จเพียงปราสาทโกลนเท่านั้นก็สิ้นรัชกาล…
โลหะปราสาท ขณะกำลังบูรณะในปี พ.ศ. 2546 สังเกตมณฑปชั้นล่างยังเป็นสีขาว
โลหะปราสาท คือ อาคารหลายชั้น
ตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า โลหะปราสาทคืออาคารหลายชั้น มีหลังคาทำด้วยโลหะ โดยมีอีกสองแห่งที่เคยปรากฏในโลกคือ ที่กรุงสาวัตถีประเทศอินเดีย และที่กรงอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้งสองแห่งนั้น ชำรุดสูญสลายลงไปนานนับพันปี โดย โลหะปราสาทหลังแรก สร้างโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล นางวิสามหาเป็นบุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เป็นปราสาท 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ ที่ชื่อว่า “มิคารมาตุปราสาท”
โลหะปราสาทหลังที่ 2 สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระลังกา ในราวปีพุทธศักราช 382 เป็นปราสาท 9 ชั้น 1,000 ห้อง มีความกว้างและความสูงแต่ละด้าน 100 ศอก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง
และที่ประเทศไทยคือ โลหะปราสาทหลังที่ 3 โดย กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 เนื่องด้วยโลหะปราสาทยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในโลก
โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุด จึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก , นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา , นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
โลหะปราสาทปี พ.ศ. 2551 มณฑปบูรณะเป็นทองแดงรมดำทั้งหมด
โลหะปราสาทปี พ.ศ. 2558 ปิดทองมณฑปชั้น 2 และ 3
ประวัติการก่อสร้างโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
- พุทธศักราช 2389 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชนัดดาราม โดยมีโลหะปราสาทเป็นอาคารประธานของวัด
- พุทธศักราช 2394 รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต การสร้างโลหะปราสาทชะงัก สำเร็จเพียงในส่วนที่เป็นโครงอิฐสลับศิลาแลง
พุทธศักราช 2494-2452 โลหะปราสาทได้รับการบูรณะเพิ่มเติมโดยพระยาเพชรปาณี มรรคนายก และพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทัตโต) เจ้าอาวาส - พุทธศักราช 2506-2520 กรมโยธาเทศบาล ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท โดยเสริมความแข็งแรงโครงสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำระบบระบายน้ำฝน ปรับปรุงบันไดเวียน ประตูหน้าต่าง และตกแต่งผิวอาคาร
- 27 กุมภาพันธ์ 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บุษบกโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
- พุทธศักราช 2541 กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการสำรวจและขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนการบูรณะ
- พุทธศักราช 2542 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะแรก บูรณะส่วนมณฑปยอดกลาง และปรับภูมิทัศน์โดยรอบโลหะปราสาท
- พุทธศักราช 2543 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะที่ 2 บูรณะส่วนยอดมณฑปชั้นกลาง จำนวน 12 ยอด
- พุทธศักราช 2545 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะที่ 3 บูรณะส่วนยอดมณฑปชั้นล่าง จำนวน 24 ยอด
- พุทธศักราช 2550 โครงการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท แล้วเสร็จ
โลหะปราสาทในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ปิดทองมณฑปชั้น 2 และ 3
จากหนังสือจดหมายเหตุ การอนุรักษ์รัตนโกสินทร์ ฉลองกรุง 200 ปี หน้า 286 และพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 กล่าวว่า ในวันศุกร์ แรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 4 ธันวามคม พุทธศักราช 2389 ได้ชักลากพระพุทธรูปจากพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ การชักลากพระครั้งนี้ ได้เกิดอุบัติเหตุ สำคัญน่าสลดใจคือ เจ้าพระยายมราช ถูกตะเฆ่ ทับถึงแก่อนิจกรรม เพราะเกิดจากการเข้าใจผิดในการชักลาก / โดย คนช่างเล่า
การเดินทางไป โลหะปราสาท
ที่ตั้ง อยู่ภายในวัดราชนัดดารามวรวิหาร บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศ ด้านหลังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยสามารถชมโลหะปราสาทได้ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น.
การเดินทาง : รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 5, 12, 15, 35, 39, 503, 511, 512 หรือจะนั่งเรือโดยสาร (คลองแสนแสบ) มาลงท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ และเดินมาได้ไม่ไกลมากนัก
เรียบเรียงโดย Campus-Star.com
ดูภาพสวยๆ และข้อมูลเพิ่มเติม “โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม” Pantip.com , โลหะปราสาท ยามค่ำคืน , ‘โลหะปราสาท’ สร้าง ร.๓ เสร็จ ร.๙ วันนี้เป็นสีทอง , วิกิพีเดีย