พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (พระนามเดิม: หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ ; ประสูติ: 28 ตุลาคม พ.ศ. 2435 — สิ้นพระชนม์ : 7 เมษายน พ.ศ. 2494 รวม 58 ปี) เป็นที่รู้จักในฐานะเป็นอดีตพระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) และได้รับการสถาปนาเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี … แต่ภายหลังก็ถูกถดถอนหมั้นลง โดยให้เหตุผลว่า “พระราชอัธยาศัยมิได้ต้องกัน” และถูกจำสนมในพระบรมมหาราชวังตลอดรัชกาล เป็น “นางห้าม ร.6” ตราบสิ้นพระชนม์
พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระนางผู้ถูกจำสนมในวังตลอดรัชกาล
เมื่อแรกเริ่มได้พบกันกับ ร.6
หม่อมเจ้าวรรณวิมล (หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี) ได้พบกับ ร.6 เป็นครั้งแรก โรงละครวังพญาไท ในการพบกันครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ถูกพระราชหฤทัยในรูปโฉมและคุณสมบัติเฉพาะของหม่อมเจ้าวรรณวิมล มีรสนิยมในงานศิลปะประเภทวรรณกรรมและการแสดง ทั้งยังทรงมีไหวพริบ คารมคมคาย และความคิดอ่าน ทำให้การสนทนามีรสชาติเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ให้ ดังนี้ หม่อมเจ้าวรรณวิมล เป็น หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี , หม่อมเจ้าวรรณพิมล เป็น หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ (อ่านรายละเอียดที่นี่)
สถาปนา และหมั้นหมาย
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงสถาปนา หม่อมเจ้าวัลลภาเทวี (พระชันษา 28 ชันษา) ขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในฐานะพระคู่หมั้น (การสถาปนานี้ก็เพื่อจะได้สมพระเกียรติยศ สำหรับจะได้กระทำพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสในภายหน้า) … แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าก็ทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผย ทั้ง ๆ ที่อยู่ระหว่างที่ทรงหมั้นอยู่ (ร.6 ในตอนนั้นมีพระชนมายุ 40 พรรษา)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ขณะเสด็จขึ้นนมัสการพระปฐมเจดีย์
อาจจะเป็นสาเหตุการถอดถอนหมั้น
ด้วยความที่พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงมีความคิดที่ล้ำสมัยสตรีไทยในยุคนั้น และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระองค์ที่กล่าวขานเชิงนินทา ในเรื่องเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระวรกัญญาปทานอย่างหนึ่ง คือการปฏิบัติพระองค์ต่อข้าราชบริพาร ซึ่งเคยรับใช้สนองพระเดชพระคุณใกล้ชิดก่อนจะทรงหมั้น
เล่ากันว่า… ครั้งหนึ่งเมื่อพระวรกัญญาปทานเสด็จมาถึงพระราชวังพญาไท มหาดเล็กเดิมคนหนึ่งได้เข้าไปเพื่อจะรับพระหัตถ์ตามธรรมเนียมตะวันตก แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม ครั้นเมื่อเรื่องไปถึงพระกรรณ (หู) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็กลายเป็นว่าทรงสะบัดมือ และแสดงพระกิริยาดูถูกมหาดเล็กเดิมคนนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการถอดถอนหมั้น ซึ่งในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบายความทุกข์ในพระทัย ด้วยรูปแบบพระราชหัตถเลขาถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ วรวรรณ (พระน้องนางเธอของพระวรกัญญาปทาน)
ครั้นแล้วจึงมีพระบรมราชโองการให้ถอนหมั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี “เพราะเหตุที่พระราชอัธยาศัยมิได้ต้องกัน”
นำโซ่ตรวนทองคำไปจับกุม
และแล้ว ร.6 ก็มีพระบรมราชโองการให้นางเฒ่าแก่ท้าวนางจ่าโขลนนำโซ่ตรวนทองคำไปจับกุม พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมายังพระบรมมหาราชวัง( เรียกว่าจำสนม คือ การลงโทษแก่ฝ่ายในที่ทำผิด) หรือ ” ขังหลวง “ แต่ด้วยทรงพระทิฐิมานะ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีจึงไม่ทรงทูลขอพระราชทานอภัย ด้วยเหตุนี้ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี จึงทรงถูกจำขังลงโซ่ตรวนทองคำอยู่ในพระบรมมหาราชวังนับแต่นั้นจนตลอดทั้งรัชกาล
แต่บางหลักฐานที่อ่านพบ บ้างก็ว่า “ขังวังหลวง” จึงเป็นคำเปรียบเปรยที่พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงประชดประชันล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มากกว่าจะเป็นเรื่องจำขังกันจริง ๆ
** ธรรมเนียมการถวายตัว ตกเป็นมรดกหลวง “นางห้าม”
ธรรมเนียมการถวายตัวของราชสำนักในอดีตนั้น สตรีใดๆ เมื่อเข้าถวายตัวแบบถวายขาดแล้ว จะถือว่าสตรีผู้นั้นตกเป็นคนของเจ้านายพระองค์นั้น หรือจะเรียกอีกอย่างก็คือ “นางห้าม” ซึ่งถือว่าชีวิตทั้งหมดแทบจะอุทิศให้กับวังหลวง และอาจถูกโยกย้ายที่อยู่ หรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งงานได้ตลอดเวลา ซึ่งสุดแต่พระวินิจฉัย รวมไปถึงเรื่องของชีวิตคู่ก็เช่นเดียวกัน ที่สตรีเหล่านี้อาจจะต้องถูกจองจำอิสรภาพรักไปตลอดชีวิต..
จำสนม ตอนพระชนมายุ 28 พรรษา ปลดปล่อยตอน 33 พรรษา
ร.7 พระบรมราชโองการให้ปลดปล่อย
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ สวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) กษัตริย์องค์ต่อมา จึงมีพระบรมราชโองการให้ปลดปล่อยพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานวังที่ประทับนาม “พระกรุณานิวาสน์” ขณะมีพระชนมายุได้ 33 พรรษา ทรงครองพระองค์เป็นโสดอย่างสมพระเกียรติในฐานะ “นางห้าม ร.6” ตราบสิ้นพระชนม์
ทั้งนี้ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีนั้นพระองค์เป็นเสือป่าหญิงคนแรกของประเทศไทย และเป็นผู้ริเริ่มการสวมเครื่องประดับที่คาดศีรษะ จนเป็นที่นิยมของสตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6)
ในบั้นปลายชีวิต
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ได้เข้าประทับรักษาพระองค์ในโรงพยาบาลศิริราชด้วยโรคพระวักกะพิการ เป็นเวลา 60 วัน โดยพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ ในเวลา 06.07 นาฬิกา ของวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2494 สิริพระชนมายุได้ 58 พรรษา
ข้อมูลเพิ่มเติม วังลักษมีวิลาศ , พระสุจริตสุดา : เปรื่อง สุจริตกุล พระสนมเอกใน ร.6 , พระมเหสีและพระสนมเอก , ภาพจาก ฉายานิทรรศน์
บทความแนะนำ
- พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสี ร.6 | พระนางเธอผู้ถูกลอบปลงพระชมน์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ผู้มีความคิดที่ล้ำสมัยสตรีไทย ยุครัชกาลที่ 6
- คำราชาศัพท์ หมวดเครือญาติ | พระบรมวงศานุวงศ์ พระยศเจ้านายไทย
- อ่านเรื่องราว “พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี” สตรีที่ถูกจองจำในวังตลอดรัชกาล
- การแต่งกายของสตรีในสมัยรัชกาลที่ 6 Pantip.com
- รวมภาพสุนัขทรงเลี้ยงในประวัติศาสตร์
- เจริญรอยพระยุคลบาทรัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสเมืองตรัง