เมื่อไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานที่สนามหลวง เราจึงทำได้เพียงนั่งดูการถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวยพระเพลิง พระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ฟังการบรรยายต่างๆ ในภาพรวมทั้งหมดของงาน หนึ่งในหน้าที่สำคัญ ในถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ คือ ทีมผู้บรรยาย โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกสถานี รับหน้าที่ถ่ายทอดสดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำภาพพระราชพิธีตามโบราณราชประเพณีที่สมพระเกียรติสูงสุดสู่สายตาประชาชนชาวไทยและทั่วโลก
รายชื่อทีมผู้บรรยาย การถ่ายทอดสด
พระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ ในหลวง ร.9
ผู้บรรยายทั้ง 12 คน ได้แก่
- สายสวรรค์ ขยันยิ่ง (ช่อง 3)
- รัตน์มณี กังวาลไกล (ช่อง 5)
- อุรัสยาน์ เพ็ชรสดศิลป์ (ช่อง 5)
- ณิศารัช อมะรักษ์ (ช่อง 5)
- นิลาวัลย์ พาณิชย์รุ่งเรือง (ช่อง 7)
- เกียรติยา ธรรมวิภัชน์ (ช่อง 9)
- ธีรวัฒน์ พึ่งทอง (ช่อง 9)
- พรอัปสร นิลจินดา (ช่อง NBT)
- สุพัชรินทร์ โพธิ์ทองนาค (ช่อง NBT)
- ริเสาวภา ฤกษนันทน์ (ช่อง NBT)
ผู้บรรยาย ภาษาอังกฤษ
- ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ
- ดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย
เบื้องหลังผู้บรรยาย ทรท. ถวายงานรัชกาลที่ 9 ครั้งสุดท้าย
ทีมผู้บรรยายการถ่ายทอดสด ตลอดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
ภาพจาก www.tnamcot.com
โดยทีมผู้บรรยายทีมแรก
คือ คุณสายสวรรค์ คุณเกียรติยา และคุณธีรวัฒน์ ซึ่่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2560
ทีมผู้บรรยายทีมที่สอง
ได้แก่ คุณมณี คุณอุรัสยาน์ และคุณณิศารัช ในช่วงสองที่เป็นช่วงของริ้วขบวน เป็นริ้วที่จะนำพระบรมโกศ หรือพระโกศทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานที่พระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งถือเป็นพระเอกของงาน เพราะเป็นการเชิญพระบรมโกศขึ้นพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง
ทีมผู้บรรยายที่สาม
ได้แก่ คุณพรอัปสร คุณสุพัชรินทร์ คุณสิริเสาวภา และคุณนิลาวัลย์ จะบรรยายในช่วงตรงราชรถปืนใหญ่ โดยจะเริ่มตั้งแต่เข้าริ้ว 3 เป็นต้นไป จนถึงช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงช่วงเย็น ก็จะมีการบรรยายตามภาพที่เห็น ตัดสลับกับภาพบรรยากาศจากต่างจังหวัดและต่างประเทศด้วย
การคัดเลือกผู้ที่จะมาบรรยาย
การคัดเลือกผู้ที่จะมาบรรยาย หรือผู้ที่มาให้ข้อมูลในการถ่ายทอดสด พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทางโทรทัศน์มีการหารือคณะกรรมการ ของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ที่มีผู้บริหารหลักคือช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ในส่วนของ NBT จะไม่ได้อยู่ในส่วนของ ทรท. แต่เป็นสื่อของรัฐที่เข้าไปทำงานร่วมกันในงานพระราชพิธีสำคัญๆ
“ในครั้งนี้ทีมผู้บรรยายก็มาจากช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง NBT และ มีผู้บรรยายภาษาอังกฤษทั้งสองคน อย่างภาคภาษาอังกฤษ คุณหมอยงยุทธ เป็นผู้ทำงานร่วมกับช่อง 5 และเป็นผู้เชี่ยวชาญใช้ภาษาอังกฤษจนชำนาญ เพราะการรายงานสดจะต้องใช้ทักษะไวพริบ ที่สอดคล้องกันกับภาคภาษาไทย หรืออย่าง ดร.รุ่งทิพย์ ภายใต้สังกัดช่อง 3 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่มาต่อจากหมอยงยุทธก็มาช่วย
โดยทั้ง 12 คนเคยผ่านพระราชพิธีก่อนหน้านี้มาแล้ว อย่างตัวเรากับหมอยงยุทธ เริ่มมาพร้อมกันตั้งแต่งานสมเด็จย่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ส่วนน้องๆ คนอื่นมาเริ่มทำงานด้วยกันตอนงานสมเด็จพระพี่นางฯ พ.ศ.2551 ซึ่งในปี 2551 ทีมผู้บรรยายชุดนี้ได้รับรางวัลด้วย ส่วนของการคัดเลือกนั้น ก็จะคัดมาจากประสบการณ์การผ่านงานด้านนี้มา สองคือจะต้องมีความแม่นยำในเรื่องคำราชาศัพท์ หรือการเรียกขานพระนาม หรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ หรือคำพระ ภาษาบาลีสันสกฤต เราต้องเอาใจใส่และต้องมีความรู้ในสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะบางคำเป็นคำโบราณราชประเพณีที่ตกทอดมานาน” คุณพรอัปสร นิลจินดา (ผู้อำนวยการส่วนผลิตรายการ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT ตำแหน่งทางราชการคือ นักสื่อสารมวลชนชำนาญการพิเศษ) กล่าว
ที่มาจาก คมชัดลึก จากใจ ทีมงานผู้บรรยาย การถวายงานครั้งสุดท้าย แด่ ในหลวงรัชกาลที่ 9
เรียบเรียงโดย www.campus-star.com
* โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.)
โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ชื่อย่อ: ทรท., ทีวีพูล; อังกฤษ: The Television Pool of Thailand – TPT., T.V.Pool) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 โดยสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย 4 ช่องคือ ไทยทีวีสีช่อง 3, ไทยทีวีช่อง 4 (ปัจจุบันคือ ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี), ททบ.7 (ปัจจุบันคือ ททบ.5) และช่อง 7 สี
ที่มา โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) National Broadcasting Services of Thailand (NBT) Facebook : https://www.facebook.com/NBT.PRD/