อาร์เธอร์ อิกเนเชียส โคนัน ดอยล์ (Arthur Ignatius Conan Doyle) เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 ในเมืองเอดินบะระ แคว้นสกอตแลนด์ แห่งสหราชอาณาจักร ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1930 เป็นนักเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย ประวัติศาสตร์ และแพทย์คนสำคัญของสกอตแลนด์ แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุด คือนิยายรหัสคดีชุด “เชอร์ล็อก โฮมส์”
ความเป็นมาเกี่ยวกับนักเขียน เรื่อง เชอร์ล็อก โฮม – Sherlock Holmes
1. ตัวละคร เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นนักสืบชาวลอนดอนผู้ปราดเปรื่อง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านทักษะการประมวลเหตุและผล ทักษะด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยหลักฐานและการสังเกตอันคาดไม่ถึงเพื่อคลี่คลายคดี
2. โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ ไว้ทั้งสิ้นเป็น เรื่องยาว 4 เรื่อง และเรื่องสั้น 56 เรื่อง
3. เกือบทุกเรื่องเป็นการบรรยายโดยเพื่อนคู่หูของโฮมส์ คือ นายแพทย์จอห์น เอช. วัตสัน หรือ หมอวัตสัน
4. ในจำนวนนี้ มี 2 เรื่องที่โฮมส์เป็นผู้เล่าเรื่องเอง และอีก 2 เรื่องเล่าโดยบุคคลอื่น
5. เรื่องสั้นสองเรื่องแรกตีพิมพ์ใน Beeton’s Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 และ Lippincott’s Monthly Magazine ในปี ค.ศ. 1890 แต่หลังจากที่ชุดเรื่องสั้นลงพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำใน นิตยสารสแตรนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1891 นิยายเรื่องนี้ก็โด่งดังเป็นพลุ เหตุการณ์ในนิยายอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1878 ถึง ค.ศ. 1903 และคดีสุดท้ายเกิดในปี ค.ศ. 1914
6. ความโด่งดังของเชอร์ล็อก โฮมส์ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเขามีตัวตนจริง และพากันเขียนจดหมายไปหา มีพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งขึ้นในตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านในนวนิยายของเขาในกรุงลอนดอน
7. พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้น สำหรับตัวละครในนิยาย
8. เรื่องราวของเชอร์ล็อก โฮมส์ มีการนำไปดัดแปลงและแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกโดยนักเขียนคนอื่น ทั้งที่เขียนร่วมกับทายาทของโคนัน ดอยล์ และเขียนขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ
9. บทประพันธ์ของโคนัน ดอยล์ และนวนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และสื่ออื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน
10. กระทั่งบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ระบุว่า เชอร์ล็อก โฮมส์เป็น “ตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด”
11. ภาพลักษณ์ของโฮมส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ และส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมและการแสดงในประเภทรหัสคดีจำนวนมาก
12. ตัวนักเขียน “โคนัน ดอยล์” ยังถือว่าเป็นหนี้ความรู้ของเอ็ดก้าร์ แอลลแลน โป (Edgar Allan Poe) บิดาแห่งรหัสคดี แต่การสร้างสรรค์เรื่องของโคนัน ดอยล์ทำให้นวนิยายชุดเชอร์ล็อก โฮมส์มีความแตกต่างจากนิยายสืบสวนทั่วไป และกลายเป็นนิยายรหัสคดียิ่งใหญ่ในชั่วเวลาไม่นาน
13. เขาให้เขียนให้โฮมส์เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1893 เพื่อจบนิยายชุดนี้ แต่ต้องแต่งเรื่องให้โฮมส์กลับมาอีกครั้ง ตามคำเรียกร้องของบรรดานักอ่านของเขา
14. เรื่องยาวของโคนัน ดอยล์ได้แก่เรื่องเล่าสมัยกลาง เกี่ยวกับทหารในคริสต์ศตวรรษที่ 14 การปฏิวัติรัฐประหารในประเทศต่าง ๆ แต่ดูเหมือนเรื่องสั้นของเขาจะเป็นที่รู้จักและนิยมกันมากกว่า งานของเขายังมีเรื่องราวการผจญภัยกึ่งนิยายวิทยาศาสตร์ อย่างเรื่องสั้นชุด “Professor Challenger” เป็นต้น
15. โคนัน ดอยล์นั้นได้ทำหน้าที่เป็นแพทย์เรื่อยมาตั้งแต่จบการศึกษา และเลิกอาชีพนี้ไปทำงานด้านวรรณกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1891 จากนั้นย้ายไปอยู่ที่ลอนดอน และต่อมาได้ย้ายไปที่เมืองซัสเซ็กซ์ และเอสเซ็กซ์
16. เมื่อ ปี ค.ศ. 1902 โคนัน ดอยล์ได้รับพระราชทานยศอัศวิน อันเนื่องมาจากการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะในสงครามแอฟริกา
17. หลังจากบุตรชายของเขาเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 (ซึ่งเขาได้เขียนประวัติเหตุการณ์ต่าง ๆ เอาไว้) เขาเริ่มสนใจเรื่องธรรมะ ซึ่งมีผลต่อเรื่องสยองขวัญของเขาด้วย โคนัน ดอยล์เสียชีวิตเมื่อปี 1930 อายุได้ 71 ปี ผ่านการสมรส 2 ครั้ง และมีบุตร 5 คน
แรงบันดาลใจในการสร้าง เชอร์ล็อก โฮมส์
18. เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นนวนิยายสืบสวนหรือรหัสคดี ประพันธ์โดยเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
19. โคนัน ดอยล์ ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้าง เชอร์ล็อก โฮมส์ มาจากนายแพทย์ผู้หนึ่ง คือ นายแพทย์โจเซฟ เบลล์ ระหว่างที่เขาเป็นแพทย์ฝึกงานที่ โรงพยาบาลเอดินบะระรอยัล
20. นายแพทย์อาวุโสผู้นี้ สามารถระบุอาการและโรคของคนไข้ได้ทันที เพียงจากการสังเกตสภาพภายนอก หรือสามารถอธิบายเรื่องราวได้มากมายจากข้อสังเกตเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้โคนัน ดอยล์ ทึ่งมาก นายแพทย์เบลล์ยังเคยช่วยเหลือการสืบสวนคดีของตำรวจบางคดีอีกด้วย
21. เมื่อโคนัน ดอยล์ เรียนจบและออกไปประกอบอาชีพ เขาเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกเพื่อสร้างรายได้เสริม โดยเขียนเรื่องสั้นส่งให้กับนิตยสาร เนื่องจากการงานอาชีพแพทย์ไม่ค่อยสร้างรายได้ดีนัก
22. เขาใช้เวลาว่างระหว่างรอคนไข้เริ่มเขียนนวนิยาย โดยใช้นายแพทย์เบลล์ อาจารย์ของเขาเองเป็นต้นแบบในการสร้างตัวละครเอก คือ เชอร์ล็อก โฮมส์ แล้วสร้างตัวละครรองเป็นนายแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกันกับวิชาชีพของเขา
23. และเรื่องแรกที่โคนัน ดอยล์ เขียนคือ แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Beeton’s Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 หลังจากที่ถูกปฏิเสธอยู่หลายครั้งหลายหน หลังจากนั้น โคนัน ดอยล์ จึงทยอยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับนักสืบโฮมส์และเพื่อนนายแพทย์ของเขา ผลตอบรับจากการเขียนนวนิยายนักสืบชุดนี้ดีจนคาดไม่ถึง และโคนัน ดอยล์ ต้องแต่งเรื่องส่งให้สำนักพิมพ์อยู่เรื่อย ๆ จนเป็นที่ยอมรับ
ที่มา วิกิพีเดีย เชอร์ล็อก โฮมส์ , อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์