19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย | ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

ถือได้ว่า วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันของประเทศไทย นั่นก็คือ “วันเทคโนโลยีของไทย” โดยวันนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” หลังทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้เริ่มจัดงานดังกล่าวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา

19 ตุลาคม วันเทคโนโลยีของไทย

สำหรับ สาเหตุที่ทำให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี ถูกกำนหดให้เป็น วันเทคโนโลยีของไทย สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ได้ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลกด้วยพระองค์เอง ณ เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และทรงพระปรีชาสามารถบังคับให้ฝนตกลงตรงเป้าหมาย ท่ามกลางสายตาของคณะผู้แทนของรัฐบาลจากต่างประเทศ ข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ที่เข้าชมการสาธิตต่างพากันชื่นชมยินดีในพระปรีชา

ทำให้ การสาธิตฝนเทียมในครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีฝนหลวง ที่ถูกพัฒนามาเป็นการทำฝนเทียมในปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ดังนั้น ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 คณะรัฐบาล จึงมีมติให้เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด

ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์ และพัฒนาโดยคนไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนเกิดความเชื่อมั่น และเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทยให้มีความทันสมัยใหม่ เท่าเทียมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ฝนหลวง สิ่งประดิษฐ์เพื่อปวงชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่า ประเทศไทยประสบปัญหาความแห้งแล้งมาเป็นเวลานาน จึงทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริ ฝนหลวงหรือฝนเทียมขึ้น โดยใช้กรรมวิธีการสร้างฝนจริงๆ อาศัยไอน้ำที่อยู่ในบรรยากาศ คือ ก้อนเมฆซึ่งในหน้าแล้งมักจะลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป โดยไม่กลายเป็นน้ำฝน และใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการบิน เป็นเครื่องมือในการก่อกวนหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ทำให้ก้อนเมฆโตขึ้นหรือเลี้ยงให้อ้วน และสร้างสถานการณ์โจมตีที่ทำให้เกิดแรงลมช่วยลดระดับของก้อนเมฆที่โตขึ้น จนกลั่นตัวเป็นหยดน้ำฝนตกลงในพื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ

สำหรับ โครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลน้ำ ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ซึ่งเกิดมาจากภาวะภัยแล้ง โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลตามธรรมชาติ ดังนั้น ฝนหลวงหรืแฝนเทียม จึงเปรียบเสมือนน้ำพระราชหฤทัยที่พระราชทานจากฟ้ามาช่วยประชาชนทุกคนที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

คลิป : ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเกี่ยวกับฝนหลวง แก่นักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล 

พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9

นอกจาก “โครงการฝนหลวง” แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ ที่ได้ทรงประดิษฐ์ คิดค้น วิจัย และนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไปพร้อมๆ กัน ดังจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริต่างๆ เช่น

1. กังหันน้ำชัยพัฒนา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันชัยพัฒนา” ทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เพื่อเป็นการลดมลภาวะทางน้ำ เพราะถ้ามีออกซิเจนอยู่มาก จุลินทรีย์ก็สามารถบำบัดน้ำได้ดี และบำบัดน้ำเสียได้มากขึ้น ซึ่งเครื่องดังกล่าวสามารถลอยขึ้นลงได้เองตามระดับน้ำ

2. การออกแบบสายอากาศ (Antenna)

สำหรับ การออกแบบสายอากาศ (Antenna) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้คิดค้นออกแบบขึ้นมา เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วิทยุสื่อสาร ให้มีความชัดเจนและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

3. ทฤษฎีใหม่

สำหรับ “ทฤษฎีใหม่” เป็นการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกร ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร ให้มีสภาพการใช้งานที่สร้างความยั่งยืนมากกว่า การทำการเกษตรที่ไม่มีการแบ่งส่วนของที่ดิน เช่น การแบ่งที่ดินเป็นแหล่งน้ำ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหรือเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก เป็นต้น

4. โครงการแกล้งดิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพบว่า ดินพรุเป็นดินเปรี้ยวจัดหรือดินเป็นกรด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีพระราชดำริว่า ควรแกล้งทำให้ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุด แล้วทำ “วิศวกรรมย้อนรอย” หาทางปรับปรุงดินที่เปรี้ยวนั้น เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น และหลังจากนั้นจึงค่อยทำการปรับปรุงดินเปรี้ยว โดยการขังน้ำไว้ในพื้นที่ จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

คลิป : ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล เกี่ยวกับ แกล้งดิน.. ที่เขาเต่า 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลและภาพ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://web.ku.ac.thwww.lib.ru.ac.thwww.thaihealth.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง