เผยภาพ สัตว์หิมพานต์ ประกอบพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงในหลวง ร.9

ความคืบหน้าเครื่องประกอบตกแต่งบริเวณมณฑลพระเมรุมาศ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2560 เกี่ยวกับ “สัตว์หิมพานต์” .. การสร้างสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระบรมศพและพระศพ เป็นราชประเพณีสืบต่อกันมาช้านาน ด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทวราชดังกล่าว เมื่อเสด็จสวรรคตจึงจัดสร้างพระเมรุ โดยมุ่งหมายให้เขาพระสุเมรุมีเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อม ซึ่งดาษดื่นด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ … ในอดีตมีการผูกหุ่นรูปสัตว์เข้าขบวนแห่พระบรมศพและพระศพไปสู่พระเมรุ และจัดทำโรงรูปสัตว์รายรอบพระเมรุมาศและพระเมรุ เป็นต้น

เผยภาพ สัตว์หิมพานต์ ประกอบพระเมรุมาศ

สัตว์หิมพานต์ในพระเมรุมาศ ประดับไปด้วยสิงสาราสัตว์นานาพันธุ์ตั้งบนโขดหินเทียมในสระอโนดาตรอบพระเมรุมาศ

สัตว์มงคลประจำ 4 ทิศ

ตั้งอยู่บนลานอุตราวรรต บนแท่นรูปหัวสัตว์มงคลที่กำลังพ่นน้ำลงสู่สระอโนดาตเบื้องล่าง ข้างบันไดนาค 1 เศียร ทั้ง 4 ทิศ ที่ขึ้นสู่ฐานชาลาชั้นที่ 1 ของพระเมรุมาศ ทิศละ 1 คู่ เปรียบดั่งทางขึ้นเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยป่าหิมพานต์ และมีสัตว์หิมพานต์มากมาย ซึ่งอาศัยอยู่รอบสระอโนดาตทั้ง 4 ทิศ แต่ละทิศก็จะมีสัตว์หิมพานต์แต่ละประเภทอาศัยอยู่ ดังนี้

ทิศเหนือ: ช้าง อาศัยอยู่ปากแม่น้ำหัตถีมุข อันเป็นถิ่นที่ช้างอาศัยอยู่จำนวนมาก

ทิศใต้ : โค อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอุสภมุข อันเป็นถิ่นที่โคอาศัยอยู่จำนวนมาก

ทิศตะวันออก : ราชสีห์ อาศัยอยู่ปากแม่น้ำสีหมุข อันเป็นถิ่นที่ราชสีห์อาศัยอยู่จำนวนมาก

ทิศตะวันตก : ม้า อาศัยอยู่ปากแม่น้ำอัสสมุข อันเป็นถิ่นที่ม้าอาศัยอยู่จำนวนมาก

สัตว์หิมพานต์ประดับสระอโนดาต พระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิง ในหลวงรัชกาลที่ 9

“จากด้านข้างหนึ่งของรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ผ่านมุมพระเมรุมาศสู่ด้านข้างอีกหนึ่งของรูปสัตว์อีกชนิดหนึ่งจะตกแต่งเป็นสระน้ำ เขามอที่ประดับไปด้วยพันธุ์พืชสวยงาม รูปปั้นสัตว์ขนาดย่อส่วนลงสีของสัตว์สำคัญเป็นลักษณะต่างๆ เพื่อให้เข้ากับเรื่องราวความเป็นป่าหิมพานต์”

(อำพล สัมมาวุฒธิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่างศิลปกรรมฯ) สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร , องค์ความรู้ : งานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีและประกอบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 , พิพิธภัณฑ์เสวนา ครั้งที่ 5 2560)

สัตว์ในป่าหิมพานต์

ช้างเผือก

ช้าง

ป่าหิมพานต์

การจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ครั้งนี้ ดำเนินการโดยคณะช่างปั้นปูนสดอาสาสมัครจังหวัดเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร

ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560

ขอบคุณภาพจาก คุณอาร์ท

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง