หลังจากที่ได้รู้จักเกี่ยวกับ ประวัติความเป็นมาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กันไป 22 คนแล้ว เราก็มาอ่านต่อกันเลย…. ซึ่งที่จริงแล้วประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มีเพียง 43 คนเท่านั้น เนื่องจากโกรเวอร์ คลิฟแลนด์ เป็นประธานาธิบดี 2 สมัย คือเป็นคนที่ 22 และคนที่ 24 สำหรับประธานาธิบดีที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งด้วยสาเหตุธรรมชาติ 4 คน ลาออก 1 คน และถูกลอบสังหาร 4 คน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐคือ จอร์จ วอชิงตัน เข้ารับตำแหน่งเมื่อพ.ศ. 2332 ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดคือ วิลเลียม เอช. แฮร์ริสัน อยู่ในตำแหน่งเพียง 32 วัน ส่วนประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดคือ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ อยู่ในตำแหน่งนานถึง 12 ปี และเป็นเพียงคนเดียวที่เป็นประธานาธิบดีมากกว่า 2 สมัย เนื่องด้วยความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจึงเปรียบเสมือนบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก และล่าสุดสหรัฐฯ ก็ได้ประธานาธิบดีคนที่ 45 เป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ “โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์” โดยจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560
รายนามประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (2)
คนที่ 23 เบนจามิน แฮร์ริสัน (Benjamin Harrison)
เบนจามิน แฮร์ริสัน เกิดวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1833 เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 23 โดยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1889 – ค.ศ. 1893 แฮริสันถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1901 โดยร่างของเขาถูกฝังที่อินดีแอนาโปลิส ในยุคของแฮริสัน สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญแก่นโยบายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาตินอเมริกาและแปซิฟิก แฮริสันเป็นประธานาธิบดีที่ทำงานหนัก ซื่อสัตย์และมีเกียรติ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมนัก เพราะว่าในพรรครีพับลิกัน เขาไม่มีเสียงสนับสนุนมากพอ เขาพยายามที่จะดำเนินทางสายกลางเกี่ยวกับนโยบายทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพื่อให้อเมริกาเป็นประเทศอุตสาหกรรม
คนที่ 24 (สมัยที่ 2) สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Stephen Grover Cleveland)
สตีเฟน โกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 22 และ 24 เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งใน 2 วาระไม่ติดต่อกัน (ค.ศ. 1885–1889 และ 1893–1897) เขาชนะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีรวม 2 ครั้ง คือในปี ค.ศ. 1884 และ 1892 แต่พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1888 (แต่ชนะ Popular Vote) ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในยุคที่รีพับลิกันครอบครองการเมืองอย่างยาวนานระหว่างปี 1860 ถึง 1912
คนที่ 25 วิลเลียม แมกคินลีย์ (William McKinley)
วิลเลียม แมกคินลีย์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 1897 – ค.ศ. 1901 การปฏิบัติหน้าที่วาระแรกของแม็คคินลีย์เป็นวาระที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ ประเทศกำลังเจริญรุดหน้าและมีความสนใจหลากหลายกันเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์สำคัญที่สุดในการบริหารของแม็คคินลีย์เป็นผลจากวิกฤติการณ์ในคิวบา เกิดกบฏต่อต้านสเปนโดยพวกรักชาติชาวคิวบา และชาวคิวบาร้องขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เดือนเมษายน ค.ศ. 1898 มีการประกาศสงครามกับสเปน สงครามสเปน-อเมริกาดำเนินไปเป็นเวลา 4 เดือน สหรัฐฯ เข้าควบคุมดินแดนที่สเปนเคยเป็นเจ้าของที่เปอโตริโก กวม และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ส่วนคิวบาได้รับเอกราชของบ่ายวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1901 ในงานเลี้ยงรับรองของรัฐบาลในบัฟฟาโล นิวยอร์ก ขณะที่แม็คคินลีย์กำลังสัมผัสมืออย่างมีความสุขกับผู้ที่ชื่นชอบเขา ทันใดนั้นมีชายผู้หนึ่งเดินตรงมายังเขาโดยถือผ้าเช็ดหน้าคลุมปืนรีวอลเวอร์อยู่ในมือ กระสุนดังขึ้นสองนัดถูกแม็คคินลีย์ 8 วันต่อมาเขาเสียชีวิต คนร้ายผู้ยิงเขาเป็นพวกหัวรุนแรงชื่อ ลีออน คอนโกรสซ์
คนที่ 26 ธีโอดอร์ โรสเวลต์ (Theodore Roosevelt)
ธีโอดอร์ โรสเวลต์ เกิดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2401 ที่รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การบริหารของโรสเวลต์ก็เพื่อจะสร้างความเสมอภาคในเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เขาเชื่อว่าเขาควรเป็นตัวแทนประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ผู้ใช้แรงงาน คนงาน และนักธุรกิจ โรสเวลต์เรียกชื่อโปรแกรมนี้ว่า ‘การจัดการที่เสมอภาค’ ปี ค.ศ. 1902 เขาชักชวนประเทศเยอรมันให้ตัดสินการโต้แย้งระหว่างอเมริกาและเวเนซูเอลา และในปี ค.ศ. 1903 เขาได้คลองปานามา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914 ตอนแรกโรสเวลต์ปฏิเสธที่จะเข้าข้างฝ่ายใดผ่ายหนึ่ง แต่หลังจากสองสามเดือนผ่านไป เขาก็ตัดสินใจว่าผลประโยชน์ของอเมริกาและโลกต้องได้รับชัยชนะเหนือเยอรมันเป็นดีที่สุด สุดท้ายโรสเวลต์ได้ทำการผลักดันการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเขายึดทฤษฎีที่ว่า
- ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนทุกคน
- การป่าไม้ที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จะให้ปริมาณไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ
- หมู่บ้านริมแม่น้ำควรได้รับการพัฒนา
ปี ค.ศ. 1905 เขาเสนอความช่วยเหลือเพื่อยุติสงครามระหว่างรัสเซีย-ญี่ปุ่น การเป็นกลางของเขาประสบผลสำเร็จและทำให้เขาได้รับรางวัลสันติภาพโนเบล แต่ในทางตรงกันข้าม เขายังคงส่งกองทหารอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกในปี ค.ศ. 1907
คนที่ 27 วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft)
วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 27 ของสหรัฐอเมริกา เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1857 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากธีโอดอร์ โรสเวลต์จากพรรคริพับลิกัน แทฟต์เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1909 จนครบวาระในปี ค.ศ. 1913 แทฟต์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1930 ด้วยวัย 72 ปี
แทฟต์ดำเนินการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ที่สำคัญหลายอย่าง เขารับผิดชอบเกี่ยวกับการสร้างระบบเงินฝากทางไปรษณีย์ ซึ่งสร้างความปลอดภัยแก่เงินของผู้ฝาก เมื่อพ้นวาระการเป็นประธานาธิบดีในปี 1913 แทฟต์ได้เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในปี ค.ศ. 1921 ประธานาธิบดีวอเร็น ฮาร์ดิ้ง ตั้งให้แทฟต์เป็น Chief of Justice ของสหรัฐฯ
คนที่ 28 โทมัส วูดโรว์ วิลสัน (Thomas Woodrow Wilson)
โทมัส วูดโรว์ วิลสัน เป็นนักการเมืองและนักวิชาการอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 2 สมัย ระหว่าง ค.ศ. 1913 ถึง ค.ศ. 1921 เกิดในทอนตัน รัฐเวอร์จิเนีย ก่อนหน้านั้นเคยเป็นผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นนักกฎหมาย เป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยพรินซตัน เคยเป็นประธานสภามหาวิทยาลัยพรินซตันระหว่าง ค.ศ. 1902 ถึง ค.ศ. 1910 และนอกจากนี้ วิลสัน ยังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ. 1919
วิลสัน จบปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสังกัดพรรคเดโมแครต โดยเอาชนะวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ และธีโอดอร์ รูสเวลต์ จากพรรครีพับลิกัน ที่พ่ายแพ้เพราะคะแนนเสียงของพรรคแบ่งออกเป็นสองฝ่าย หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 ในปี ค.ศ. 1916 ได้ไม่นาน ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 เขาได้นำสหรัฐอเมริกาซึ่งประกาศตัวเป็นกลางมาตลอดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 หลังจากพบว่ารัฐบาลเยอรมนีได้เสนอตัวเป็นพันธมิตรทางการทหารกับเม็กซิโกเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ และเริ่มใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือสินค้าของสหรัฐฯ
คนที่ 29 วาร์เรน การ์มาเลียล ฮาร์ดิง (Warren Gamaliel Harding)
วาร์เรน การ์มาเลียล ฮาร์ดิง เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 29 ดำรงตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ. 1921 เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี ค.ศ. 1923 เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐโอไฮโอ เขาเป็นเจ้าของบริษัทหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพล และเป็นสมาชิกสภารัฐโอไฮโอ ต่อมาได้เป็นรองผู้ว่าการรัฐโอไฮโอคนที่ 28 และสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐโอไฮโอ
คนที่ 30 จอห์น แคลวิน คูลิดจ์ (John Calvin Coolidge)
จอห์น แคลวิน คูลิดจ์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 30 ของประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2472 – พ.ศ. 2476) มักจะมีคนเรียกเขาว่า “คาลผู้เงียบขรึม” คูลิดจ์เป็นนักกฎหมายจากรัฐเวอร์มอนต์ ไต่เต้าสู่วงการเมืองด้วยการลงเล่นการเมืองในรัฐแมสซาชูเซตส์จนได้เป็นผู้ว่าการรัฐ และจากฝีมือในการจัดการกับกรณีตำรวจบอสตันสไตค์เมื่อ พ.ศ. 2462 ทำให้คูลิดจ์เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2463 คูลิดจ์ได้รับการเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิดีคนที่ 29 และได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทนประธานาธิบดีวาร์เรน การ์มาเลียล ฮาร์ดิง ซึ่งถึงอสัญกรรมในขณะที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ คูลิดจ์ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2467 และได้รับการกล่าวว่าเป็นรัฐบาลอนุรักษนิยมขนาดเล็ก
มีหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสไตล์การบริหารประเทศของคูลิดจ์ย้อนกลับไปสู่ยุคประธาธิบดีเฉื่อยของสหรัฐฯ ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2344-2403) แต่คูลิดจ์ก็ได้กู้ความเชื่อมั่นของทำเนียบขาว จากเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีฮาร์ดิง และหมดวาระประธานาธิบดีด้วยความนิยมค่อนข้างสูง ดังที่นักเขียนได้อธิบายชีวประวัติของคูลิดจ์ไว้ว่า “คูลิดจ์ได้หลอมจิตวิญญาณและความหวังของคนชั้นกลาง สามารถแปลและเข้าใจถึงสิ่งที่คนกลุ่มนี้ใฝ่หาและแสดงออกมา เป็นตัวแทนของความอัจฉริยะของคนในระดับเฉลี่ยนั่นเองที่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นพลังของคูลิดจ์”
คนที่ 31 เฮอร์เบิร์ต คลาร์ก ฮูเวอร์ (Herbert Clark Hoover)
เฮอร์เบิร์ต คลาร์ก ฮูเวอร์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 31 นอกจากนี้ยังเป็นนักวิศวกรเหมืองแร่และนักประพันธ์ แต่ไม่ถึง 1 ปี หลังจากที่ฮูเวอร์เข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1929 ตลาดหุ้นก็ตก ซึ่งเริ่มนำสหรัฐไปสู่ความตกต่ำที่เลวร้ายที่สุด ในประวัติศาสตร์ ฮูเวอร์ต้องเผชิญกับงานซึ่งทำให้งานอื่นๆ ทั้งหมดที่เขาเคยทำมา กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย การที่ตลาดหุ้นตกได้ทำให้นักลงทุนหลายขายหุ้นออกไป เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ล้มละลายและธนาคารก็ล้ม ประชาชนก็สูญเสียงานและเงินออม ต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1932 สภาคองเกรสได้จัดตั้งบริษัทการเงิน เพื่อการอุตสาหกรรมและกสิกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดหาเงินกู้ของรัฐบาลกลางสำหรับธนาคารและธุรกิจ และกองทุนในรัฐต่างๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ในท้องถิ่นนั้นๆ และก็ได้มีโครงการงานสาธารณะใหญ่ๆ เกิดขึ้นเพื่อเป็นการจัดหางานให้แก่คนว่างงาน
คนที่ 32 แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt)
แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ เกิดวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2425 (ค.ศ. 1882) เสียชีวิตวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด (พ.ศ. 2476 – พ.ศ. 2488) และเป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวของสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับเลือกถึง 4 สมัย ก่อนการประกาศญัตติข้อที่ 22 ในปี พ.ศ. 2494 (22nd Amendment) ซึ่งจำกัดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้แค่ 2 สมัยเท่านั้น
โรสเวลต์ เป็นผู้นำของประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแนวคิดของเขายังก่อให้เกิดองค์กรระหว่างประเทศ คือ สหประชาชาติ ถึงแม้ว่าเขาจะประสบปัญหาด้านสุขภาพในช่วงวิกฤตของประเทศก็ตาม โรสเวลต์ถึงแก่อสัญกรรมขณะยังดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยไม่ได้เห็นชัยชนะของสหรัฐฯ และฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 (อายุรวม 62 ปี)
คนที่ 33 แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)
แฮร์รี เอส. ทรูแมน เกิดวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1884 เสียชีวิตวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1972 เป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 34 (ค.ศ. 1945) และประธานาธิบดีคนที่ 33 ของสหรัฐอเมริกา โดยรับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ ที่เสียชีวิตขณะยังดำรงตำแหน่งอยู่
ในช่วงการดำรงตำแหน่งของทรูแมนเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญมากมาย เขารับตำแหน่งในขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเริ่มได้เปรียบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเป็นคนอนุมัติให้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ประเทศญี่ปุ่น เริ่มแผนมาร์แชลล์ในการฟื้นฟูทวีปยุโรป การก่อตั้งสหประชาชาติและสงครามเกาหลี
คนที่ 34 ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower)
ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เป็นทหารและนักการเมืองชาวอเมริกัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1953-ค.ศ. 1961) และเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 มียศเป็นนายพล 5 ดาว (เทียบได้กับยศจอมพลในบางประเทศ)
ไอเซนฮาวร์ พยายามนำประเทศไปให้ได้ดีที่สุด โดยการร่วมมืออย่างสันติกับชาติเสรีทุกชาติและต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง ไอเซนฮาวร์มิได้ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีความสำเร็จที่โดดเด่นอยู่คือ สามารถยุติสงครามเกาหลี เมื่อ ค.ศ.1953 ได้ และแผนการปรมาณูเพื่อสันติของเขาช่วยให้ชาติอื่นๆ พัฒนาพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเชียอาคเนย์ ป้องกันการถูกรุกรานของคอมมิวนิสต์
คนที่ 35 จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี (John Fitzgerald Kennedy)
เรือเอก จอห์น ฟิตซ์เจอรัลด์ เคนเนดี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เจเอฟเค (JFK ย่อจากชื่อภาษาอังกฤษ) เกิดเมื่อ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 ที่เมืองบรู๊คลาย รัฐแมสซาชูเซตส์ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของวาทะเปี่ยมไปด้วยจิตสำนึกหน้าที่ความรับผิดชอบของพลเมือง “จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวท่านเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ”
เมื่อลงสนามการเมืองได้เป็นวุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์ จากนั้นเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ค.ศ. 1960 ได้ประธานาธิบดีที่หนุ่มที่สุดซึ่งมีอายุเพียง 43 ปีเท่านั้น และเป็นคนศาสนาคริสต์คนแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เคนเนดีเป็นผู้จัดตั้งองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกาหรือยูเสด เพื่อให้การสนับสนุนประเทศประชาธิปไตยในการป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1961 เขาแถลงต่อสภาคองเกรสว่า อเมริกากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา ให้สภาอนุมัติงบประมาณเพื่อจุดมุ่งหมายของชาติคือ การส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์และเดินทางกลับอย่างปลอดภัย
ส่วนด้านการต่างประเทศ เคนเนดียุติวิกฤตการณ์ต่างๆ ทางการเมืองด้วยการยื่นคำขาด ให้สหภาพโซเวียตถอนฐานยิงขีปนาวุธในประเทศคิวบา ความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ สนธิสัญญาระหว่างประเทศในการห้ามทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ แต่อย่างไรก็ตามเขาก็มีนโยบายที่ผิดพลาดเช่นกันคือ การให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เวียดนามใต้ เป็นจุดเริ่มต้นสงครามเวียดนามที่โหดร้ายรุนแรง โดยที่ว่าเขาคิดว่าสหรัฐฯ จะสามารถชนะกองกำลังคอมมิวนิสต์ในเวียดนามได้ไม่ยาก เพราะแสนยานุภาพทางทหารเหนือกว่า เฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังทางอากาศที่ใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นหลัก แต่นั่นไม่จริง สงครามเวียดนามยืดเยื้อ ทหารอเมริกันเข้าสมรภูมิเป็นจำนวนมหาศาล ความสูญเสียเกินบรรยาย ช่วงเวลาที่จะหมดวาระ เตรียมชิงเก้าอี้ผู้นำสมัยที่ 2 เขาตัดสินใจใช้การเจรจาทางการทูตยุติสงคราม
แต่จากนั้นไม่นานเคนเนดีก็ถูกยิงเสียชีวิตที่เมืองดัลลัส รัฐเทกซัส ในเหตุการณ์การลอบสังหารฯ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 ประวัติศาสตร์บันทึกถึงประธานาธิบดีผู้มีอายุน้อยที่สุดของสหรัฐอเมริกา ผู้มีผลงานโดดเด่นมากมายท่ามกลางวิกฤตการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รอยต่อของยุคก้าวสู่สงครามเย็น เพื่อเป็นการให้เกียรติท่าน รัฐบาลจึงนำชื่อของท่านมาตั้งเป็น ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดีในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
คนที่ 36 ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน (Lyndon Baines Johnson)
ลินดอน เบนส์ จอห์นสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 36 (ระหว่างปี ค.ศ. 1963 – ค.ศ. 1969) และเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 37 (ปี ค.ศ. 1961 – ค.ศ. 1963) ได้กระทำพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อบ่ายวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963 บนเครื่องบินที่นำศพของประธานาธิบดีเคนเนดีที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกลอบสังหาร ในเมืองดัลลัส รัฐเทกซัส และตุลาการที่ทำพิธีให้เขาเป็นสตรีวัย 67 ปี คือ ตุลาการ ซารา ที.ฮิวจ์
จอห์นสัน เกิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) ในเมืองจอห์นสันซิตี้ ในเทกซัส และได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฏรในปี ค.ศ. 1937 และอีก 4 ปีต่อมา ค.ศ. 1941 จอห์นสันได้สมัครเข้ารับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก แต่ได้รับเลือกเป็นที่ 2 เขาพยายามอีกครั้งในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1948 ปรากฏว่าเขาได้รับชัยชนะในครั้งนี้
ประธานาธิบดีจอห์นสัน เป็นวุฒิสมาชิกที่คุมเสียงข้างมากในสภาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 – ค.ศ. 1961 และได้รับการยกย่องจากประชาชนในความสามารถทั้งในงานของวุฒิสภาและสภาคองเกรส จนได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารและควบคุมนโยบายของพรรคเดโมเครต เป็นประธานกรรมการควบคุมองค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ ในปี ค.ศ. 1953 จอห์นสันได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับงานทางด้านอวกาศและการพัฒนาเกี่ยวกับอาวุธจรวด อันเป็นผลทำให้งานด้านนี้ของสหรัฐอเมริกาก้าวไกลมาจนถึงในปัจจุบันนี้
ด้านการเมืองภายในประเทศ จอห์นสัน มีเจตนารมณ์อันเคร่งครัดในสิทธิของพลเมืองชาวอเมริกันในการรณรงค์หาเสียง ในสมัยเลือกตั้งจอห์นสันจะตระเวนขึ้นพูดในทุกแห่งด้วยคำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าขอบอกให้ท่านทั้งหลายทราบว่า เราจะป้องกันสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนอเมริกันทุกคน โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา และหลักแหล่งที่อยู่”
คนที่ 37 ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน (Richard Milhous Nixon)
ริชาร์ด มิลเฮาส์ นิกสัน เป็นประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2512- พ.ศ. 2517 และเคยเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 36 ระหว่างปี พ.ศ. 2496 – พ.ศ. 2504 นิกสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวที่ลาออกจากตำแหน่ง สาเหตุที่ลาออกนั้นเกิดจากคดีวอเตอร์เกต ในสมัยของนิกสันนั้นประสบความสำเร็จในด้านการทูต โดยเฉพาะการผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตและประเทศจีน รวมไปถึงการถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามอีกด้วย
คนที่ 38 เจอรัลด์ รูดอล์ฟ ฟอร์ด (Gerald Rudolph Ford)
เจอรัลด์ รูดอล์ฟ ฟอร์ด จูเนียร์ (Gerald Rudolph Ford) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 38 ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 จนถึงวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1977 และเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 40 ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1973 จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 เป็นรองประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้ง ในช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 25 และขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่ลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ฟอร์ดเป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่มาจากการแต่งตั้ง โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี ฟอร์ดเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุยืนที่สุดถึง 93 ปี
ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ฟอร์ดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐมิชิแกนเขตที่ 5 และยังได้เป็นถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ฟอร์ดลงนามในประกาศเฮลซิงกิ เป็นพระราชบัญญัติโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดความตึงเครียดจากสงครามเย็น หากจะเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีคนก่อน นโยบายของฟอร์ดมุ่งเป้าไปยังความสัมพันธ์กับประเทศเวียดนามน้อยกว่าเรื่องภายในประเทศ ฟอร์ดได้จัดการกับปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ไปจนถึงภาวะเงินเฟ้อและการถดถอยในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ ได้มีการโต้เถียงกันอย่างมากในการตัดสินใจของฟอร์ด ที่จะนิรโทษกรรมให้กับประธานาธิบดีนิกสันในคดีวอเตอร์เกต หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ฟอร์ดยังคงทำงานอยู่ในพรรครีพับลิกัน
คนที่ 39 จิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter)
จิมมี คาร์เตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 39 ของสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี พ.ศ. 2520 – 2524 และยังได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ (Nobel Peace Prize) ในปี พ.ศ. 2545
มีผลงานสำคัญคือ การจัดการประชุมสันติภาพระหว่างอาหรับกับอิสราเอลที่แคมป์เดวิดใน ค.ศ. 1979 อียิปต์และอิสราเอลได้ทำสัญญาสันติภาพยุติสงครามยาวนานระหว่างกันถึง 30 ปี ในสมัยของคาร์เตอร์นี้เป็นสมัยที่สหรัฐฯ ตกลงคืนคลองปานามาให้แก่ชาวปานามา พยายามแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำมัน ค.ศ. 1979 และเกิดเรื่องโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน ค.ศ. 1979 สหรัฐฯ ตัดสินใจงดส่งข้าวและเทคโนโลยี และสั่งถอนนักกีฬาออกจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่มอสโก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์จับเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันในอิหร่าน ใน ค.ศ. 1979 ปัญหาตะวันออกกลางไม่สามารถยุติเด็ดขาด และความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ เองอีกด้วย
คนที่ 40 โรนัลด์ วิลสัน เรแกน (Ronald Wilson Reagan)
โรนัลด์ วิลสัน เรแกน เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 40 (ค.ศ. 1981–1989) สังกัดพรรครีพับลิกัน นอกจากนี้เรแกนยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย คนที่ 33 (ค.ศ. 1967-ค.ศ. 1975) ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นผู้ประกาศข่าวและนักแสดงมาก่อน
ในการดำรงตำแหน่งสมัยแรก เรแกน ถูกยิงในวอชิงตัน ดีซี โดย จอห์น ดับบลิว ฮินคลี่ย์ จูเนียร์ แต่ไม่ถึงแก่ชีวิต ต่อมาในสมัยที่ 2 เขาพบปะผู้นำโซเวียต มิกฮาอิล กอร์บาชอฟ 2 ครั้งในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ปี ค.ศ. 1985 และในเรคจาวิค ไอซ์แลนด์ ปี ค.ศ. 1986 การประชุมที่เรคจาวิคสิ้นสุดลงทันทีเมื่อเรแกนปฏิเสธความต้องการของโซเวียตที่จะให้ทิ้งการพัฒนาการเริ่มป้องกันทางยุทธศาสตร์หรือแผน ‘สงครามสตาร์วอร์’ ประธานาธิบดีสั่งให้ทิ้งระเบิดเป้าหมายต่างๆ ในลิเบียในปี ค.ศ. 1986 เป็นการตอบโต้ที่ลิเบียเข้าไปเกี่ยวข้องในการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ความโต้แย้งเกิดขึ้นปลายปี ค.ศ. 1986 เมื่อเรแกนยอมรับว่าอาวุธของสหรัฐฯ ถูกขายให้อิหร่านอย่างลับๆ ความโต้แย้งหนักขึ้นเมื่อหลักฐานชี้ว่าเงินจากการขายอาวุธถูกใช้เพื่อช่วยกองโจรคอนทร้า ในนิคารากัว
คนที่ 41 จอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์กเกอร์ บุช (George Herbert Walker Bush)
จอร์จ เฮอร์เบิร์ต วอล์กเกอร์ บุช จบจากมหาวิทยาลัยเยล เคยเป็นนักบินในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ และยังเคยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ซีไอเอ เป็นประธานาธิบดีคนที่ 41 ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1989-ค.ศ. 1993) และเป็นบิดาของประธานาธิบดีคนที่ 43 จอร์จ ดับเบิลยู. บุช
จอร์จ บุช เป็นรองประธานาธิบดีให้กับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน จากพรรครีพับลิกัน และลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังจากหมดสมัยของเรแกน เหตุการณ์สำคัญในสมัยของเขาคือ ‘สงครามอ่าวเปอร์เซีย’ เขาได้สั่งให้ทหารเริ่มเคลื่อนไหวในปานามาและอ่าวเปอร์เซีย และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ก็ทำให้เศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ลง และทำให้ต้องยกเลิกคำพูดที่ให้ไว้ว่าจะไม่มีภาษีใหม่ และก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาแพ้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1992
แต่เขาก็ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพให้แห่ประเทศคือ การสร้างมิตรภาพกับรัสเซียและจีน การเลิกสงครามเย็นและการสลายสนธิสัญญาวอร์ซอ การเปลี่ยนบทบาทของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต การลดกำลังอาวุธทั้งจรวดและอาวุธนิวเคลียร์ และการทำสงครามกับยาเสพติด แม้ว่าประธานาธิบดีบุชจะสนับสนุนสันติภาพและเสรีภาพ เมื่ออิรักกรีฑาทัพเข้ายึดคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1990 สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติอื่นๆ รวม 20 ประเทศ ร่วมมือกันปลดปล่อยคูเวตตามมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสามารถปลดปล่อยคูเวตให้เป็นอิสระได้ภายในเวลา 6 เดือน อิรักได้รับความเสียหายย่อยยับ แต่ซัดดัม ฮุสเซน ยังครองอำนาจในอิรักไว้ได้
คนที่ 42 วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน (William Jefferson Clinton)
วิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน หรือรู้จักในชื่อ บิล คลินตัน (Bill Clinton) เกิดวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1946 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างค.ศ. 1993 – ค.ศ. 2001 ก่อนหน้านั้นเขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ
การดำรงตำแหน่งวาระแรก : คลินตันเลือกสมาชิกวุฒิสมาชิกอัล กอร์ ร่วมทีมรองประธานาธิบดี เอาชนะการเลือกตั้งต่อประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เมื่อ ค.ศ. 1992 โดยอาศัยจุดขายด้านเศรษฐกิจในประเทศที่ตกต่ำหลังจากประธานาธิบดีบุช ไปเน้นกิจการต่างประเทศอย่างเช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย ในการเลือกตั้งทั่วไประหว่างสมัยของคลินตันใน ค.ศ. 1994 พรรคเดโมแครตได้เสียงที่นั่งข้างมากในรัฐสภาเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ทำให้เกิดสภาวะที่ประธานาธิบดีกับเสียงข้างมากของสภามาจากคนละพรรคกัน นอกจากนีัคลินตันยังมีสัมพันธ์อันดีกับนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ แห่งสหราชอาณาจักร เขามีบทบาทในกิจการต่างประเทศที่สำคัญ เช่น การส่งทหารเข้าไปในประเทศโซมาเลีย การโจมตีกรุงโคโซโวของอดีตประเทศยูโกสลาเวียเดิม สันติภาพในไอร์แลนด์เหนือ และกรณีของประเทศอิสราเอลกับปาเลสไตน์
การดำรงตำแหน่งวาระที่สอง : คลินตันได้ชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1996 ต่อสมาชิกวุฒิสภาบ็อบ โดล จากพรรครีพับลิกัน เหตุการณ์สำคัญในการดำรงตำแหน่งวาระที่ 2 คือ คลินตันถูกอิมพีชเมนต์ ในฐานะประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1998 โดยวุฒิสภา (House of Senate) ในหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางเพศกับ โมนิก้า ลูวินสกี้ นักศึกษาฝึกงานในทำเนียบขาว เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ถูกอิมพีชเมนต์ต่อจากประธานาธิบดี แอนดรูว์ จอห์นสัน ผู้นำในการสืบสวนคืออัยการอิสระ นายเคนเนธ สตาร์ (Kenneth Starr) การไต่สวนของวุฒิสภาดำเนินไปใน ค.ศ. 1999 ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ในการถอดถอนประธานาธิบดี ซึ่งเสียงโหวตของวุฒิสภาไม่ถึงที่กำหนด ก่อนจะหมดวาระประธานาธิบดีสมัยที่ 2 คลินตันได้ตกลงกับศาลในการยุติการสืบสวน ซึ่งแลกกับการถอนใบอนุญาตทางกฎหมายเป็นเวลา 5 ปี
คนที่ 43 จอร์จ วอล์กเกอร์ บุช (George Walker Bush)
จอร์จ วอล์กเกอร์ บุช เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 43 บุชสังกัดพรรครีพับลิกัน และเกิดในตระกูลบุชซึ่งเป็นตระกูลนักการเมืองตระกูลใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยพ่อของเขาคือ จอร์จ บุช ประธานาธิบดีคนที่ 41 และน้องชายเขา เจบ บุช เป็นอดีตผู้ว่าการมลรัฐฟลอริดา
ก่อนเริ่มเล่นการเมือง จอร์จ ดับเบิลยู บุชเป็นนักธุรกิจบ่อน้ำมันและเป็นเจ้าของทีมเบสบอล เทกซัส เรนเจอร์ (Texas Rangers) เขาเริ่มเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นโดยเป็นผู้ว่าการรัฐเทกซัสคนที่ 46 ชนะการเสนอชื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน และชนะการเลือกตั้งต่อรองประธานาธิบดี อัล กอร์ใน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) และได้รับการเลือกตั้งสมัยที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) โดยเอาชนะวุฒิสมาชิก จอห์น เคร์รี ของ พรรคเดโมแครต
ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบุชนั้น เป็นช่วงที่มีการปกป้องสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูงอยู่มาก นักวิจารณ์หลายคนได้อ้างว่า บุชได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูง นโยบายต่างประเทศของบุชได้รณรงค์สนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับกลุ่มประเทศในแถบลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็กซิโกและลดการเข้าแทรกแซง “การสร้างชาติ” และการแทรกแซงทางการทหารเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
คนที่ 44 บารัก ฮุสเซน โอบามา ที่ 2 (อังกฤษ: Barack Hussein Obama II)
บารัก ฮุสเซน โอบามา ที่ 2 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ก่อนหน้านี้โอบามาเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอยส์ ใน ค.ศ. 2005 จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 กระทั่งลาออกจากตำแหน่งหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2008
โอบามาเกิดในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ที่ซึ่งเขาได้เป็นประธานวารสาร Harvard Law Review เขาเคยเป็นผู้จัดการชุมชนในชิคาโกก่อนสำเร็จปริญญาด้านกฎหมาย เขาทำงานเป็นอัยการสิทธิมนุษยชนในชิคาโกและสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยชิคาโกตั้งแต่ ค.ศ. 1992 ถึง 2004 เป็นผู้แทนเขต 13 สามสมัยในรัฐสภาอิลลินอยส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 ถึง 2004
ผลงานที่โดดเด่น : เขาสั่งให้เปลี่ยนวิธีการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลเสียใหม่ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร และเตรียมการที่จะให้กองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากอิรักและการรวบรวมความลับต่างๆ ที่ถูกส่งไปยังเอกสารของประธานาธิบดี ในระหว่างการทำหน้าที่ในสภาคองเกรสที่ 109 นั้น โอบามาได้เรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้อาวุธ และเรียกร้องให้มีการแถลงการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ให้สาธารณชนได้ทราบด้วย นอกจากนั้นเขายังเคยไปเยือนยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกาอย่างเป็นทางการด้วย ในสภาครองเกรสที่ 110 หรือสภาปัจจุบันนั้น เขาก็ได้เรียกร้องให้มีการดูแลอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงหรือโลกร้อน การก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และให้การดูแลทหารผ่านศึกสหรัฐฯ
คนที่ 45 โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ (Donald John Trump)
โดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน และได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุด โดยจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 45 ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) อ่านประวัติโดนัลด์ จอห์น ทรัมป์ >> คลิกเลย
—————————————————————–
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง >> เปิดประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา (รายชื่อ+ประวัติ+ผลงาน) 1
ข้อมูลและภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี