วิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน – พระนามที่เรียกในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเรื่อง “พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา” ถึง วิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ถึง 5 อย่าง ต่างกันคือ

พระนามพระเจ้าแผ่นดิน

  1. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ
  2. พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
  3. พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
  4. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลไปแล้ว
  5. พระนามที่เรียกในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

ในที่นี้ขอคัดวิธีการเรียกพระนามตั้งแต่ ข้อที่ 3 ถึงข้อที่ 5 (โดยจัดย่อหน้าใหม่ และเฉพาะข้อที่ 5 คัดมาบางส่วน)

พระนามที่เรียกตอนที่มีพระชนม์อยู่

“… 3. พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกในเวลาเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือ ผู้ที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมา ก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่าขุนหลวง หรือพระเป็นเจ้า .. หรืออย่างเราเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์

ถ้าชาวเมืองอื่นเรียกก็มักจะเรียกตามนานเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เป็นต้น บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ เช่นเรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้ พระนามที่เรียกว่าตามนามเมืองหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ ล้วนเป็นคำของพวกเมืองอื่นเรียก

พระนามที่ปากตลาดเรียก เมื่อล่วงรัชกาลแล้ว

4. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่น ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัด และพระที่นั่งสุริยามรินทร์

เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้วพระองค์ใด เรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน ดังเช่นเรียกว่า

การเรียก พระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศ ใช้เมื่อ?

พระนามที่เรียกว่า ขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่า ในพระโกศนี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลังในกรุงเก่าที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือในพระโกศมาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้า ก็สละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัด มาแต่ครั้งกรุงเก่า

ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้นกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่า ขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะประทับอยู่ที่พระที่นั่งนั้น

ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่า ขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า

ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ วึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวร ถูกไปกักเอาไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกพาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอาว์ ดังนี้ก็มี.

พระนามที่เรียกในราชการ เมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

5.พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว เกิดแต่ความจำเป็นที่จะต้องเรียก พระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลก่อนๆ ให้ปรากฏพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมาก จึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกเฉพาะพระองค์ เรือนมีความลำบากเป็นอุทาหรณ์

แม้ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือเมื่อรัชกาลที่ 2 เรียกรัชกาลที่ 1 ว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง ก็เป็นอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอดรัชกาลที่ 2 ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเป็น 2 รัชกาลขึ้น เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้นแผ่นดินกลาง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย รับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ 1 เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ 2 เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ 3 ก็จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย เป็นอัปมงคล

จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ตามพระนามพระพุทธรูป ซึ่งทรงสร้างเป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 2 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

มาถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า เรื่องนามแผ่นดินควรจะกำหนดไว้ให้เป็นยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ 3 ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เอง ให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้…”

(คัดจาก พระราชงพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์พระอธิบายประกอบ.โอเดียนสโตร์.2505)

ที่มา www.silpa-mag.com

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง