การประโคมย่ำยาม ในงานพระบรมศพคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

สำหรับใครที่ได้ติดตามการถ่ายทอดสดพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ต้องเคยได้ยินคำว่า “ประโคมย่ำยาม” ซึ่งหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าการประโคมย่ำยามดังกล่าวนั้นคืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไร?

ประโคมย่ำยาม เสียงสัญญาณศักดิ์สิทธิ์ บอกเวลาในพระราชพิธี

ความหมายของคำว่า “ประโคมย่ำยาม”

ประโคม คือการทำเสียงดังๆ ให้ครึกโครม เช่น การประโคมปี่พาทย์ แปลว่า บรรเลงดนตรีปี่พาทย์ให้ดังก้องกึกครึกโครม ซึ่งจะใช้ประกอบในงานพระราชพิธีและแสดงถึงพระราชอิสริยายศของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

ย่ำ คือ การตี เช่น ย่ำฆ้อง แปลว่า ตีฆ้อง

ยาม คือ การกำหนดเวลาแบ่งออกเป็นช่วงๆ เช่น ยามเช้า, ยามสาย, ยามบ่าย, ยามเย็น ฯลฯ ซึ่งคนแต่ละกลุ่มจะแบ่งเวลาไม่เท่ากัน แล้วเรียกชื่อยามต่างกันออกไป

** ยาม ที่เป็นคำเรียกบุคคลผู้รักษาการณ์ตามเวลาที่กำหนดว่า คนยาม (คนเฝ้ายาม), แขกยาม (แขกเฝ้ายาม) ฯลฯ ได้จากคำว่ายามที่หมายถึงช่วงเวลา มีคำคล้องจองว่า “นั่งยามตามไ” หมายถึงคนนั่งรักษาการณ์โดยก่อไฟไว้ด้วย

ดังนั้นคำว่า ประโคมย่ำยาม จึงหมายถึง การบรรเลงดนตรีเป็นสัญญาณศักดิ์สิทธิ์บอกเวลาแต่ละช่วงในพิธีกรรมยุคโบราณกาล จนกลายมาเป็นจารีตประเพณีที่สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบันนี้

การประโคมย่ำยาม แบ่งเวลาออกเป็น

คนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา กำหนดช่วงเวลาวันหนึ่งเป็น 8 ยามๆ ละ 3 ชั่วโมง แบ่งเป็นกลางคืนกับกลางวัน โดยนับตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินเทียบเวลาปัจจุบัน คือ

** แต่นิยมเรียกยามหนึ่ง, สองยาม, สามยามเท่านั้น (ไม่เรียกยามสี่หรือสี่ยาม) มีใช้ในพระนิพนธ์นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้ากุ้ง

การประโคมย่ำยาม ถ้ายามปกติจะเรียกประเพณีนี้ว่า “ตีขานยาม” หมายถึง ตีฆ้องบอกเวลาแต่ละยาม เป็นประเพณีโดยทั่วไปของสังคมที่ยังไม่มีนาฬิกาบอกเวลาเหมือนในทุกวันนี้

คนชั้นสูงตลอดจนขุนนางข้าราชการและไพร่ฟ้าประชาชนทั่วไป ไม่รู้เวลาในรายละเอียด แต่รู้กว้างๆ แค่ กลางวัน กลางคืน เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก สำหรับผู้รู้เวลาในสมัยนั้นจะเรียกว่า “โหร” และในสมัยอยุธยามีตำแหน่งหน้าที่บอกเวลาฤกษ์พานาที เป็นหน่วยราชการมี 2 กรมด้วยกัน คือ

  1. กรมโหรหน้า พระโหราธิบดี เป็นเจ้ากรม ถือศักดินา 3000
  2. กรมโหรหลัง หลวงโลกทีป เป็นเจ้ากรม ถือศักดินา 1600

ยามในโยนกล้านนา : กลุ่มไตยวน (หรือโยนก) แบ่งเวลาเป็น 16 ยาม กลางคืน 8 กลางวัน 8 แต่ละยามนาน 1.30 ชั่วโมง มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น

ยามที่ (1) ตูดเช้า (เป่าเขาควายตอนเช้า) 06.00-07.30 น.  (2) ยามกลองงาย (ตีกลองบอกเวลาข้าวเช้า) 07.30-09.00 น. ฯลฯ (5) ตูดซ้าย (เป่าเขาควายเมื่อตะวันคล้อยบ่าย) 12.00-13.30 น. ฯลฯ (13) ตูดรุ่ง 24.00-01.30 น. (14) ยามกลองรุ่ง 01.30-03.00 น. (15) ยามแตรใกล้รุ่ง 03.00-04.30 น. (16) ยามรุ่ง 04.30-06.00 น.

“ตูด” ในที่นี้น่าจะเพี้ยนจากคำว่า “หวูด” ซึ่งหมายถึง เครื่องเป่าบอกสัญญาณ เช่น เขาควาย คนในยุคสมัยก่อนนิยมนำมาใช้เป่าบอกเวลา

** (หนังสือ วันวาร กาลเวลา และนานาศักราช โดย วินัย พงศ์ศรีเพียร พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2552 หน้า 63)

นาฬิกา หมายถึง เวลาหรือเครื่องบอกเวลา มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีคำว่า “นาฬิเก” ที่แปลว่า มะพร้าวหรือกะลามะพร้าว ที่ใช้เจาะรูวางในน้ำเมื่อน้ำไหลเข้าเต็มจนกะลาจม ก็นับเป็นช่วงเวลาหนึ่ง

** รายละเอียดเรื่องเวลายังมีอีกมาก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือวันวาร กาลเวลาฯ ของ วินัย พงศ์ศรีเพียร

ความเป็นมา การประโคมย่ำยาม

การประโคมย่ำยามเป็นราชประเพณีโบราณในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลา ในการปฏิบัติหน้าที่และการประโคมย่ำยามเวลามีพระบรมศพ หรือพระศพพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่

เมื่อย้อนกลับไปในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สร้างหอนาฬิกา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหน้าพระคลังแสง ชั้นล่างแขวนระฆังหล่อเป็นโลหะสีแดง มีพนักงานตีระฆังบอกเวลา เมื่อพนักงานตีระฆังจบ พนักงานประโคมนุ่งกางเกงมัสรู่เสื้อเข้มขาบ สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดจุกเป่าแตรงอน 2 นาย แตรฝรั่ง 2 นาย ย่ำมโหระทึก 2 นาย

ต่อมาการประโคมย่ำยามในสมัยรัชกาลที่  5  ได้รื้อหอนาฬิกาและพระคลังแสง เพื่อใช้พื้นที่สร้างพระที่นั่งบรมพิมาน ได้ย้ายระฆังมาแขวนที่ซุ้มป้อมยามประตูเหล็กเพชร ประตูทางเข้าพระที่นั่งบรมพิมาน กำหนดให้ทหารรักษาวังเป็นผู้ตีระฆังและพนักงานเครื่องสูงทำหน้าที่ประโคมย่ำยามตามราชประเพณี

ครั้นพุทธศักราช 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวร ประทับรักษาพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสนาบดีวังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ระงับการตีระฆังและการประโคมย่ำยาม เพื่อมิให้เสียงดังอันจะรบกวนเบื้องพระยุคลบาท จึงเว้นการปฏิบัติแต่นั้นมา แต่ยังคงมีราชประเพณีประโคมย่ำยามในงานพระบรมศพอยู่ตามเดิม

จุดประสงค์การประโคมย่ำยาม

การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธีเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ประการหนึ่งควบคู่ไปกับการประโคมของงานเครื่องสูง

ตามโบราณราชประเพณีการประโคมย่ำยามในงานพระราชพิธีพระบรมศพหรือพระศพ มีจุดประสงค์เพื่อถวายพระเกียรติยศและเป็นสัญญาณให้ทราบกำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่ แต่เดิมการประโคมดนตรีที่ใช้ประโคมย่ำยาม มีเฉพาะวงสังข์แตรปี่ไฉนและกลองชนะเท่านั้น เจ้าพนักงานจะอยู่ประโคม โดยมีเวลาหรือยามที่ต้องเข้าประโคม ตามพระราชอิศริยศ ดังนี้

เป็น 8 ยามต่อวันหรือ 3 ชั่วโมงประโคมทีหนึ่ง ในสมัยโบราณเรียกว่า “ประโคมตลอดทั้งคืนทั้งวัน” แต่ในการพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้โปรดฯ ให้งดไว้สองเวลา คือเที่ยงคืน และตีสาม ดังนั้นจึงมีหน่วยงานเข้าร่วมประโคม 2 หน่วยงาน คือ

1. วงสังข์ แตร ปี่ไฉน และกลองชนะ ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง ชาวพนักงานประโคม มีจำนวนในริ้วประโคม ตามนี้

** ทั้งหมดแต่งกายตามโบราณราชประเพณี (ชุดสีแดง) การแต่งกายนี้เป็นการแต่งกายตามโบราณ ไม่ว่างานมงคล งานอวมงคล ก็แต่งอย่างเดียวกัน โดยถือว่าเป็นเกียรติยศ

2. วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีตฯ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนการประโคมดังนี้

เริ่มต้นด้วย เจ้าพนักงานประโคมมโหรทึก สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ด้วยเพลง “สำหรับบท” ประโคมจบ ปี่ไฉน เปิงและกลองชนะ ประโคมด้วยเพลง “พญาโศกลอยลม” จบแล้ว สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ประโคมรับด้วยเพลง “สำหรับบท” อีกรอบหนึ่ง จบแล้ว ปี่ไฉน เปิง และกลองชนะ ประโคมด้วยเพลง “พญาโศกลอยลม” อีกครั้งหนึ่ง จบแล้ว สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ประโคมด้วยเพลง “สำหรับบท”

เมื่อจบการประโคมของ มโหรทึก สังข์ แตรฝรั่ง แตรงอน ปี่ไฉน และกลองชนะแล้ว วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประโคมเพลงเรื่องนางหงส์ เป็นลำดับสุดท้าย เมื่อประโคมจบถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง

แต่เดิม โบราณมิได้ใช้ “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม ในงานพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ จะมีเฉพาะ “วงสังข์ แตร ปี่ไฉน และกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง ประโคมในงานพระบรมศพ และพระศพ เท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ให้กรมศิลปากรนำวงปี่พาทย์นางหงส์ เข้าร่วมประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง นับเป็นครั้งแรกที่วงปี่พาทย์นางหงส์ได้มาประโคมย่ำยามถวายในงานพระราชพิธีพระบรมศพ และพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ของสถาบันพระมหากษัตริย์ สืบเนื่องมา

สาเหตุที่เรียกว่าปี่พาทย์นางหงส์นั้น เรียกตามหน้าทับที่ใช้ตีประกอบเพลงชุดนี้ คือหน้าทับนางหงส์ จึงเรียกชื่อวงและเรียกชื่อเพลงเรื่องนี้ว่า “วงปี่พาทย์นางหงส์และเพลงเรื่องนางหงส์”

เพลงเรื่องนางหงส์ ประกอบด้วยชื่อเพลงที่เรียงลำดับการบรรเลงดังนี้

  1. เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน
  2. เพลงสาวสอดแหวน
  3. เพลงแสนสุดสวาท หรือเพลงกระบอกทอง
  4. เพลงแมลงปอทอง หรือเพลงคู่แมลงวันทอง
  5. เพลงแมลงวันทอง

——————————————————

ส่วนในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประจำวันตลอด 100 วันนั้น ในแต่ละวันนอกจากมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 8 ครั้งแล้ว ยังกำหนดให้มีการประโคมย่ำยาม อีก 6 ครั้ง คือ

——————————————————

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, เว็บไซต์ มติชนออนไลน์, เว็บไซต์ ข่าวสด และ thamdhamma.blogspot.com

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง