ประวัติความเป็นมาของ พระโกศไทย ที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

พระโกศ คือที่ใส่พระบรมศพและพระศพ ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ กับโกศที่พระราชทานสำหรับศพข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์สูง ตามคตินิยมของพราหมณ์ที่เชื่อว่า ต้องตั้งพระศพในท่ายืน, นั่ง, คุกเข่า หรือกอดเข่าประสานมือ เพื่อส่งพระศพและพระวิญญาณเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ ดังนั้นคำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” จึงมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยที่สวรรคตไปแล้วนั่นเอง

ประวัติความเป็นมาของ พระโกศไทย

มื่อวันที่ 16 ต.ค. 59 กองข่าว สำนักพระราชวัง แจ้งให้ทราบเรื่องการออกพระนาม พระนาม “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ดังนี้

1. ใช้พระนามเต็ม : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร
หรือ  2. ใช้แบบย่อ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ภาพพระบรมโกศในพระมหาพิชัยราชรถ ในริ้วกระบวนแห่พระบรมศพ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2493

จริงๆ แล้วที่มาของคำนี้มาจากการประดิษฐาน พระบรมศพของพระมหากษัตริย์ไว้ในพระบรมโกศตามราชประเพณี เพื่อเป็นการแยกให้แตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสวยราชสมบัติอยู่ในปัจจุบัน ใกล้เคียงกับคำว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” ซึ่งนิยมใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตไปแล้ว และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายถึงพระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีว่า “ขุนหลวงบรมโกศ” ซึ่งเป็นพระนามที่เอาไว้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่พึ่งสวรรคตไปแล้วทุกพระองค์ ไม่เพียงแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

แต่ในสมัยโบราณก็พบว่า บุตรหลานของเจ้าขุนมูลนายที่บิดาได้รับพระราชทานโกศสวมศพ ก็เรียกท่านผู้นั้นว่า “เจ้าคุณในโกศ”

สันนิษฐานได้ว่า ในยุคสมัยแรกใช้เรียกหลังจากมีการประดิษฐานพระบรมศพในพระบรมโกศ และเรียกไปจนกระทั่งถวายพระเพลิงเสร็จ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะในยุคสมัยต่อๆ มาได้กลายเป็นคำที่สามารถใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตได้ทันที โดยยังไม่จำเป็นต้องประดิษฐานพระบรมศพในพระบรมโกศ

ตัวอย่างของการเรียกขานพระนาม

ถึงแม้ว่าจะถวายพระเพลิงไปแล้วก็ตามคือ กรณีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระนามนี้ไม่ใช่พระนามจริงๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้สันนิษฐานได้เพราะว่า พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์สุดท้าย ที่ได้ประดิษฐานพระบรมศพไว้ในพระบรมโกศตามราชประเพณีนั่นเอง

บางพระองค์ไม่ได้รับการเรียกขาน …

ส่วนสาเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์ถัดมา ไม่ได้รับการเรียกขานว่า “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ก็เพราะว่าพระเจ้าแผ่นดินลำดับถัดมา คือ “พระเจ้าอุทุมพร” ซึ่งครองราชย์ในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็สละราชสมบัติให้แก่ “พระเจ้าเอกทัศน์” หลังจากนั้นไม่นานก็เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับอังวะ พระเจ้าอุทุมพรทรงถูกกวาดต้อนไปประทับที่พม่าพร้อมกับเชลยไทย ส่วนพระเจ้าเอกทัศน์ก็สวรรคตระหว่างเสียกรุง โดยไม่ได้จัดงานพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ ไม่ได้ประดิษฐานพระบรมศพในพระบรมโกศตามราชประเพณี  ด้วยเหตุนี้ผู้ที่อยู่ร่วมสมัยจึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาพระองค์นั้นว่า “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” สืบต่อกันมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังที่พบในพระราชกำหนดกฎหมายที่ตราสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เรียกขานพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ว่า “สมเด็จพระเจ้าพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พระเจ้าบรมโกศ”, “พระบรมโกศ” มาจนถึงยุคสมัยหลังๆ เมื่อเวลาผ่านไปจวบจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันที่ไม่ทราบความหมายก็มักจะเข้าใจกันว่าเป็นพระนามจริงของพระองค์

ภาพวาดตามคำบรรยายพระราชพิธีสุกำศพหรือมัดตราสังเจ้านาย

เรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในหนังสือกรัณยานุสร ว่า…

…ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นพระราชบิดาพระเจ้าแผ่นดินในประจุบันนั้น เรียกว่าพระบรมโกศดังเช่นว่ามาแล้วในข้างต้น เพราะพระบรมโกศนี้สวรรคตแล้ว พระราชโอรสได้เปนพระเจ้าแผ่นดินถึงสองพระองค์ก็จริงอยู่ แต่องค์หนึ่งได้เป็น 10 วัน องค์หนึ่งได้เปน 9 ปีก็เสียกรุงแก่พม่า บ้านเมืองยับเยินไปแล้ว ข้าราชการเก่าๆ จึงได้ประชุมกันตั้งบ้านเมืองขึ้น ก็คนทั้งปวงเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นข้าราชการอยู่ในพระบรมโกศแลพระราชโอรสในพระบรมโกศทั้งนั้น เมื่อเวลาบ้านเมืองยังตั้งอยู่แต่ก่อนเคยเรียกว่าในพระบรมโกศ คำที่เรียกนั้นก็ติดปากเจนใจ จนถึงมามีเจ้าใหม่ ก็ยังเรียกพระบรมโกศตามเดิม ให้ผู้อ่านพึงเข้าใจว่า คำที่เรียกว่าพระบรมโกศนี้ ใช่จะได้เป็นแต่ท่านพระองค์นี้ก็หาไม่ บรรดาเจ้าแผ่นดินคงได้เปนคราวหนึ่งทุกองค์ เหมือนอย่างลูกเจ้านาย เขาเคยเรียกพ่อเขาว่าในพระโกศก็มี ลูกขุนนางที่มียศได้พระราชทานโกศเขาก็เรียกปู่เรียกพ่อว่าเจ้าคุณในโกศก็มี นี่ท่านเป็นเจ้าแผ่นดิน ก็เป็นพระบรมโกศเท่านั้นเอง

กรณีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นกรณีพิเศษที่ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้เรียกขานแทนพระนามไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการยกเลิก ในขณะเดียวกันก็ยังคงเรียกพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์จักรีพระองค์ก่อนหน้าที่สวรรคตไปแล้วตามธรรมเนียมปกติ

เริ่มต้นสมัยไหน ไม่แน่ชัด..

คำว่า “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” นี้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยไหนนั้นยังไม่แน่ชัด แต่พบเพียงหลักฐานว่า มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างในพระราชกำหนดที่ออกในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเอง ก็ยังเรียกสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ” และยังคงพบการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเกล้าอยู่หัว ได้มีการบัญญัติพระนามของพระองค์ว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ส่วนหนึ่งเพราะไม่โปรดให้เรียกพระองค์หลังสวรรคตไปว่า “บรมโกศ” แต่ก็ไม่เป็นผลดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

ในแผ่นดินปัจจุบัน คือแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้านั้น ให้เรียกว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจะให้คนเคยปาก อย่าให้ยักย้ายเรียกอะไรๆ ตามชอบใจไปได้ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริป้องกันถึงขั้นนั้นแล้วก็ตาม แต่ครั้นเวลาเสด็จสวรรคตลง คนทั้งปวงก็ยังไม่ฟัง ขืนเรียกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าในพระบรมโกศ ในพระโกศ พระบาทสมเด็จในพระบรมโกศ สมเด็จพระบรมโกศ เพ้อเจ้อไปไม่ใคร่จะรู้แล้ว

และในเวลาต่อมา ก็ไม่ปรากฏการเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ต่อเนื่องทั้งรัชกาลถัดมาอย่างกรณีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว จะเรียกเฉพาะในช่วงถวายพระเพลิง หรือผ่านช่วงถวายพระเพลิงไปเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นถึงกลับมาเรียกขานด้วยพระปรมาภิไธย หรือเรียกตามลำดับรัชกาลโดยปกติ หรืออาจพบพระนามที่เรียกอย่างพิเศษอย่างที่นิยมเรียกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” เป็นต้น

ประเภทของพระโกศ

เป็นภาชนะเครื่องสูงมีรูปทรงเป็นกรวยมียอดแหลม อาจแยกตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็น 2 ประเภทคือ พระโกศสำหรับทรงพระบรมศพหรือพระศพ และพระโกศพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ ซึ่งพระโกศพระบรมศพมี 2 ชั้น คือชั้นนอกเรียกว่า “ลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทอง ประดับกระจกอัญมณีและชั้นใน เรียก “โกศ” ทำด้วยเหล็ก ทองแดงหรือเงิน ปิดทอง ลองชั้นนอกใช้ประกอบปิดโครงชั้นในสำหรับลองหรือพระลอง ที่ประดับอยู่ภายนอกของโกศ ต่อมานิยมเรียกพระลองเป็นพระโกศแทน จนเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน เช่น เรียกพระลองทองใหญ่ ว่าพระโกศทองใหญ่ เป็นต้น พระโกศแบ่งตามลำดับยศมีอยู่ 14 ชนิด ดังนี้

  1. พระโกศทองใหญ่ ใช้กับ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระยุพราช พระราชกุมารี และผู้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ
  2. พระโกศทองรองทรง (นับเสมอพระโกศทองใหญ่) ใช้กับ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระยุพราช พระราชกุมารี และผู้ทรงโปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษ
  3. พระโกศทองเล็ก ใช้กับ สมเด็จเจ้าฟ้า (ชั้นเอก)
  4. พระโกศทองน้อย ใช้กับ สมเด็จเจ้าฟ้า พระวรราชเทวี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และสมเด็จพระนางเจ้า พระวรราชชายา
  5. พระโกศกุดั่นใหญ่ ใช้กับ สมเด็จพระสังฆราช
  6. พระโกศกุดั่นน้อย ใช้กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เจ้าจอม เจ้านายทรงกรม ผู้สำเร็จราชการ และผู้ได้รับตรานพรัตนราชวราภรณ์
  7. พระโกศมณฑปใหญ่ ใช้กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ทรงกรม และเสนาบดีที่เป็นราชสกุล
  8. พระโกศมณฑปน้อย ใช้กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ และพระองค์เจ้า
  9. พระโกศไม้สิบสอง ใช้กับ พระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวร เจ้าพระยา รัฐมนตรี (ขณะดำรงตำแหน่ง) และสมเด็จพระราชาคณะ
  10. พระโกศพระองค์เจ้า เดิมเรียกว่า “โกศลังกา” ใช้กับ พระวรวงศ์เธอ และพระองค์เจ้า
  11. โกศราชนิกุล ใช้กับ ข้าราชการผู้เป็นราชสกุล และราชนิกุล
  12. โกศเกราะ ใช้กับ ผู้มีรูปร่างใหญ่ ที่มิสามารถลงลองสามัญได้
  13. โกศแปดเหลี่ยม ใช้กับ ข้าราชการสัญญาบัตร ผู้ได้รับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า และผู้ได้รับพระราชทานตราปถมาภรณ์ช้างเผือก
  14. โกศโถ ใช้กับ  ท้าวนาง ท่านผู้หญิง ผู้ได้รับพระราชทานตรามงกุฎไทย และผู้ประกอบคุณความดี

ภาพตัวอย่างของพระโกศประเภทต่างๆ

สถานที่ที่ตั้งโกศ

เมื่อบรรจุพระศพลงพระโกศตามลำดันชั้นของโกศแล้ว จึงจะเชิญพระโกศทรงพระศพ ขึ้นประดิษฐานบนสถานที่ต่างๆ ตามพระอิสริยยศและเกียรติยศของโกศนั้นๆ เป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็นการประดิษฐานพระศพภายในพระบรมมหาราชวัง และการประดิษฐานพระศพนอกพระบรมมหาราชวัง โดยการประดิษฐานในพระราชวังแต่เดิมจะประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หอธรรมสังเวช หอนิเพธพิทยา หออุเทศทักษิณา

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อหอทั้งสามลงแล้วไปปลูกใหม่บริเวณริมกำแพงแก้ว โดยในปัจจุบัน การประดิษฐานพระศพจะประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ศาลาสหทัยสมาคม (สำหรับพระศพ/ศพพิเศษ) โดยไม่ได้ประดิษฐานพระศพบนหอต่างๆ อีก แต่จะเชิญออกไปประดิษฐานยังพระที่นั่งหรือศาลาอื่นแทน อาทิ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลามรุพงษ์ ศาลาบัณรศภาคย์ ฯลฯ โดยพระศพที่ประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทจะประดิษฐานเฉพาะพระบรมศพของสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราช และพระศพเจ้านายฝ่ายในเท่านั้น เว้นแต่ พระบรมศพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

ส่วนการประดิษฐานพระศพนอกพระราชวังนั้น จะเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าเสียส่วนใหญ่และจะเป็นเจ้านายที่ออกวังไปแล้วหากเจ้านายฝ่ายในบางพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ยังวังของเจ้าพี่-เจ้าน้องก็อาจจะพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประดิษฐานพระศพยังวังนั้นๆ ได้เช่นกัน แต่ละสถานที่จะมีลำดับเกียรติต่างกัน ดังนี้

1. พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใช้กับ พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี สมเด็จพระยุพราช และพระบรมวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

2. พระตำหนักในพระราชวัง ใช้กับ พระมเหสี และสมเด็จเจ้าฟ้า

3. พระที่นั่งทรงธรรม ใช้กับ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า และผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

4. หอธรรมสังเวช หอนิเพธพิทยา หออุเทศทักษิณา และวังต่างๆ ใช้กับ พระองค์เจ้าชั้นเอก จ้านายฝ่ายหน้าที่ออกวังไปแล้ว และฝ่ายในที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นพิเศษ

5. ศาลาสหทัยสมาคม ศาลามรุพงษ์  ใช้กับ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า ทรงกรม พระราชวงศ์ใกล้ชิด เสนาบดีที่เป็นราชสกุล และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

6. ศาลาภาณุรังษี ศาลาบัณณรศภาค ใช้กับ พระองค์เจ้า และเจ้าจอม

ตัวอย่างของการใช้พระโกศ

พระโกศทองใหญ่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระโกศทองน้อย พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6

พระโกศกุดั่นใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระโกศมณฑปใหญ่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์  วัดชนะสงคราม

พระโกศไม้สิบสอง สมเด็จพระพุฒาจารย์  วัดสระเกศ

อ้างอิงจาก :

บทความแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง