รวบรวมเคล็ดลับด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากงานสัมมนา Krungsri Auto $mart Finance 2020: ตอน ‘ปล่อยหมัดซัด วิกฤตการเงิน ’ ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนชื่อดัง ย้ำชีวิตวิถีใหม่ต้องไม่ประมาทและการ์ดอย่าตก ทั้งสุขภาพร่างกาย และ ‘สุขภาพการเงิน’ พร้อมถอด 3 รหัสลับ “สติ-วินัย-ไอเดีย” ช่วยป้องกันสุขภาพการเงินและปรับตัวอย่างเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง
ถอดบทเรียน วิกฤตการเงิน
นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กรุงศรี ออโต้ เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง เราจึงได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อเสริมความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลที่เท่าทันต่อสถานการณ์ และจุดประกายความคิดทางธุรกิจแก่ลูกค้าและผู้ที่สนใจทั่วไป”
วิทยากรทั้ง 4 ท่านได้แนะนำ 3 รหัสลับ “สติ-วินัย-ไอเดีย” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์อย่างมั่นคงในระยะยาว ดังนี้
1. ตั้งสติให้ดี เจรจาประนอมหนี้อย่างมีหลักการ
นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม กูรูด้านการเงินและการลงทุน ผู้มีประสบการณ์ฝ่าวิกฤตหนี้สินกว่า 18 ล้านบาทของครอบครัวครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ให้แง่คิดว่า คนที่จะแก้หนี้ได้นั้น คือคนที่มีสติและวางแผนเป็น เมื่อมีสติแล้ว ก็ต้องดูกระแสเงินสด เพื่อประเมินสภาพคล่องทางการเงิน หากมีรายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย ก็ให้ดูว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่พอจะลดลงได้ จากนั้นให้คุยกับคนภายในครอบครัว เพื่อช่วยกันทำงบรายรับรายจ่ายโดยทำล่วงหน้าสัก 6 เดือน จะช่วยให้ทุกคนก้าวไปข้างหน้าได้
“ถ้าวันนี้คุณได้รับผลกระทบ ให้เอาเวลาไปมองหาทางออก ตอนนี้ที่สถาบันเงินการเงินยังมีความแข็งแกร่งและพร้อมให้ความช่วยเหลือ การเข้าไปเจรจากับคู่สัญญาหรือเจ้าหนี้อย่างมีสติและหลักการ โดยทำบัญชีแจกแจงรายรับรายจ่าย เอกสารงบการเงิน แผนการชำระหนี้ติดไปด้วย จะช่วยเพิ่มโอกาสในการประนีประนอม อย่าเสียเวลามานั่งตัดพ้อชีวิต หรือเทียบว่าปีไหนจะหนักหนากว่ากัน ใครที่คิดว่า ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย บอกเลยว่า ไม่รอด’ หรือหากเป็นหนี้เสียไปแล้ว โครงการคลินิกแก้หนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสสู่ทางรอดของคุณ”
2. อยากอยู่รอดและมั่นคง ต้องมีวินัยและวางแผน
นายพีรวัศ กุลนันท์วัฒน์ นักแสดงช่อง 7 ที่ใช้เวลาว่างจากงานนักแสดงและพิธีกรในช่วงล็อกดาวน์ มาขับรถรับส่งอาหาร เพื่อนำรายได้มาจัดการรายจ่ายประจำวันของครอบครัว กล่าวว่า “ผมโตมาโดยได้รับการปลูกฝังว่า อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา และจะถูกสอนเรื่องการวางแผนทางการเงินมาตั้งแต่เด็ก เวลาได้เงินมา ผมจึงแยกชัดเจนว่าส่วนไหนสำหรับไว้กินใช้ ส่วนไหนสำหรับเก็บออม ถึงแม้งานของผมตอนนี้ถือว่าโอเค ไม่ได้รับผลกระทบ แต่เราไม่มีทางรู้ว่าเศรษฐกิจแบบนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไหร่ มันมีปัจจัยมากมายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และยิ่งตอนนี้ผมเป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูกและภรรยาที่ต้องดูแล ยิ่งต้องรู้จักวางแผน และประมาทไม่ได้”
ขณะที่ นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ผู้ฝ่าวิกฤตปี 40 มาได้ด้วยใจสู้และการผันตัวมาขายแซนด์วิช ที่รู้จักกันดี ภายใต้ชื่อ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” แนะว่า
“ยุคนี้ต้องรู้กินรู้ใช้ ถ้าคุณไม่ปรับตัวตอนนี้ หรือยังใช้เงินเกินตัว ปีหน้าอาจจะไม่เหลืออะไรแล้ว และหากคิดทำธุรกิจ อย่าเพิ่งลงทุนหน้าร้าน ถ้าคุณเจ็บ คุณจะเจ็บน้อย หากคุณรอด คุณจะคืนทุนไว เพราะไม่ต้องเสียค่าสถานที่ ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มอะไร ลองดูกระแสความสนใจของคนเสียก่อน สมัยผมล้มแรกๆ ธนาคารก็ไม่มีแรงช่วย แต่ตอนนี้ทุกธนาคารเขาพร้อมคุย มีผลิตภัณฑ์และรูปแบบความช่วยเหลือที่หลากหลาย การกู้เงินหากเป็นไปเพื่อโอกาสในการประกอบอาชีพ ผมสนับสนุนให้ทำเลย แต่ทุกอย่างต้องประเมินกำลังของตัวเองและวางแผนอย่างมีหลักการ”
3. ไอเดียธุรกิจแจ้งเกิด หาอาชีพเสริมเติมรายได้
ในขณะที่ ‘รายได้หลายทาง’ กำลังจะเป็น Now Normal หรือ เรื่องใหม่ที่กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ และกลุ่มคนที่ต้องการหารายได้เสริมก็กล้าลองผิดลองถูกมากขึ้น
ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง นายชาญวิทย์ บุญชิต เจ้าของธุรกิจในจังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในผู้ร่วมบรรยายในหัวข้อ ‘ล้มแล้วลุกในยุคโควิด-19’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สามารถหาหนทางของตนเอง โดยนำรถสไตล์วินเทจมาต่อยอดไอเดียและสร้างความโดดเด่นให้ธุรกิจใหม่ หลังรายได้จากธุรกิจบาร์และร้านอาหารที่มีรายได้กว่าหลายแสนบาทต่อเดือน กลายเป็นศูนย์เพียงแค่ชั่วข้ามคืน
“ร้านของผมที่อยู่ในเมืองต้องปิดชั่วคราว ตอนนั้นปัญหาที่เจอคือช่วงล็อกดาวน์คนออกจากบ้านไม่ได้ ทุกคนระวังเรื่องสุขภาพอนามัย รวมถึงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น จึงเป็นที่มาของไอเดียร้านหมูกะทะเคลื่อนที่ เพราะหนึ่ง ผมต้องการนำความสะดวกไปให้ลูกค้า ซึ่งผมเองก็มีฐานลูกค้าจำนวนไม่น้อยอยู่นอกเมือง และสอง อาหารที่เราขายสอดคล้องกับความต้องการของพวกเขาที่ให้ความสำคัญกับอาหารสด สะอาด พร้อมปรุงและมีราคาย่อมเยา ทำให้ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับดีมาก”
อุบัติเหตุทางการเงินเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่มีใครรู้แน่ว่าความไม่แน่นอนนี้จะยังอยู่กับเราไปอีกนานเพียงใด ผู้ที่จะรอดในวิกฤตนี้ คือผู้ที่เริ่มลงมือตั้งแต่วันนี้ ผ่านการจัดการตัวเอง เรียนรู้และปรับตัวอย่างเท่าทัน เลิกรอ และกล้าที่จะออกไปตามหาโอกาสใหม่ๆ
นายจักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ โค้ชหนุ่ม
นายพีรวัศ กุลนันท์วัฒน์ นักแสดงช่อง 7
นายชาญวิทย์ บุญชิต เจ้าของธุรกิจในจังหวัดร้อยเอ็ด
นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ