10 คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ปี 2019

ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาเพื่อน ๆ มาอัปเดตเทรนด์ข่าวรอบโลกกันสักหน่อยดีกว่า กับ 10 คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ประจำปี 2019 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย เดอะการ์เดียน (The Guardian) สื่อยักษ์ใหญ่จากประเทศอังกฤษ ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

รู้ไว้จะได้ไม่ตกเทรนด์นะจ๊ะ 10 คำภาษาอังกฤษทรงอิทธิพล ปี 2019

ซึ่งทั้ง 10 คำที่ได้คัดเลือกมาให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันนั้น ล้วนแต่เป็นคำที่ใช้กันมานานแล้ว แต่ในปีนี้คำเหล่านี้ได้เกิดความหมายใหม่ หรือความหมายแฝงที่เพิ่มขึ้นมา จะมีคำไหนบ้าง… มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้เลยค่ะ

1. People : ประชาชน

หากเราสังเกตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ดูเหมือนเป็นคำธรรมดาแต่จริง ๆ แล้วมันกลับแฝงไปด้วยอารมณ์เยาะเย้ยเสียดสี ตัวอย่างเช่นผู้ที่สนับสนุนเบร็กซิตอ้างเรื่อง “เจตจำนง” (will) ของประชาชนอยู่ตลอด ในขณะที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้มีการ “ลงมติของประชาชน” (people’s vote) ส่วนทางฝั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ก็พูดถึงกระบวนการถอดถอนตนเองว่า ไม่ใช่กระบวนการถอดถอน แต่เป็นการก่อรัฐประหารที่จงใจเอา “อำนาจของประชาชน” ไป

2. Prorogue : ระงับประชุมสภา

สำหรับคำว่า Prorogue (ระงับประชุมสภา) กลายมาเป็นคำสำคัญของปีนี้เมื่อรัฐบาลของบอริส จอห์นสันอ้างว่า รัฐสภาจำเป็นต้องยุติการประชุมจึงขอให้สมเด็จพระราชินีอลิซาเบธระงับการประชุมสภาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ต่อมาศาลฎีกาตัดสินว่า การกระทำของจอห์นสันผิดกฎหมาย ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 กันยายน 2562

3. Femtech : เทคโนโลยีสำหรับสุขภาพผู้หญิง

เมื่อผู้หญิงเริ่มหันมาดูแลตัวเองกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นทำให้ผู้หญิงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของนักลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีบริษัทสตาร์ทอัปได้ทำการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับสุขภาพ ที่จะเข้ามาช่วยทำให้ผู้หญิงมีความสะดวกสบายในการดูแลตนเองง่ายยิ่งขึ้น เช่น บลูทูธสำหรับฝึกฐานเชิงกราน หรือแอปพลิเคชันบอกวันไข่ตก เป็นต้น ซึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้ มีเงินลงทุน 241 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในตลาด Femtech และคาดการณ์ว่าในปีนี้น่าจะทำรายได้ถึงพันล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย

4. Sadfishing : การโพสต์ปัญหาทางอารมณ์

สำหรับคำว่า Sadfishing (การโพสต์ปัญหาทางอารมณ์) เริ่มมาจากเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นักเขียนจากหนังสือพิมพ์ Metro ได้มีการอธิบายเกี่ยวกับคำนี้ว่า เป็นพฤติกรรมของคนที่ใช้ปัญหาทางอารมณ์ของตนเอง เพื่อเรียกร้องความเห็นใจบนโลกอินเทอร์เน็ต และต่อมาในเดือนกันยายนก็มีรายงานโดยคณะกรรมการครูใหญ่จากหลายโรงเรียนระบุว่า การใช้คำนี้กับเด็กที่ชอบโพสต์ปัญหาของตัวเองบนโซเชียลมีเดียเป็นการบูลลี่นักเรียน

5. Opioid : ยาแก้ปวดฤทธิ์แรง

หากเพื่อน ๆ ได้ติดตามข่าวต่างประเทศในช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการรายงานข่าวเกี่ยวกับยาแก้ปวดที่มีสารโอปิออยด์ ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 100 เท่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 130 คนต่อวัน ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาเจอวิกฤตด้านสาธารณสุขอย่างหนัก

6. Pronoun : คำสรรพนาม

คำนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อเริ่มมีการถกเถียงกันในเรื่องการใช้สรรพนามที่แทน เพศชาย/หญิง อย่าง he/him หรือ she/her นักร้องชื่อดังอย่าง แซม สมิธ ประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า คำสรรพนามของผมคือ they/them ซึ่งเป็นสรรพนามที่ไม่ระบุเพศ ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวสำหรับการใช้คำไวยากรณ์ หลังจากที่เราเคยใช้แต่คำว่า they (โดยใช้กับคำนามพหูพจน์) มาตลอด

7. Woke : ตาสว่างแล้ว

คำว่า “ตื่นแล้ว” หรืออาจจะแปลได้อีกอย่างว่า “ตาสว่างแล้ว” เป็นคำภาษาอังกฤษที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1962 แต่ทั้งนี้พจนานุกรมอ็อกซฟอร์ดได้บรรจุคำนี้ลงไปเมื่อปี 2017 ซึ่งได้มีการให้ความหมายว่า เป็นการตื่นตัวต่อการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สีผิว และความไม่เป็นธรรมทางสังคม

ส่วนสาเหตุที่ทำให้คำว่า Woke กลายมาเป็นอีกหนึ่งคำภาษาอังกฤษที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ประจำปี 2019 ก็เพราะว่า ในช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา แซม แซนเดอร์ส ผู้ประกาศเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันขอร้องให้ทำลายคำนี้ เนื่องจากคำนี้ถูกคนผิวขาวนำมาใช้มากเกินไปจนผิดความหมายของมัน

8. Nanoinfluencer : นาโนอินฟลูเอนเซอร์

เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า Nanoinfluencer (นาโนอินฟลูเอนเซอร์) กันสักเท่าไหร่ โดยคำนี้มีความหมายว่า บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามหลักพัน ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ ที่มีแบรนด์ต่าง ๆ จ้างให้โฆษณาสินค้าในราคาที่ไม่แพง

9. Cancelled : ถูกเท

คำว่า Cancelled เป็นอีกหนึ่งคำที่หลาย ๆ คนไม่อยากได้ยิน เนื่องจากมีความหมายว่า การถูกเท (จากผู้ติดตาม) ตัวอย่างเช่น เจมส์ ชาร์ลส์ บิวตี้ยูทูบเบอร์ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก แต่เขากลับถูกต่อต้านด้วยเหตุผลที่ว่า เขาทำตัวแปลก ยากเกินกว่าจะเข้าใจ หรือแม้แต่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาที่เคยทาหน้าสีดำ ซึ่งทำให้เขาถูกมองว่าเหยียดสีผิว จนคะแนนนิยมเริ่มน้อยลง เป็นต้น

10. Crisis : วิกฤตการณ์

เรียกได้ว่าในยุคสมัยนี้ เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อม การเมือง ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ ทุกอย่างล้วนแต่ทำให้เราเครียด และต้องเตรียมตัวพร้อมรับมืออยู่เสมอ โดยในปีนี้สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา มีข่าวเกี่ยวกับกับวิกฤติรัฐธรรมนูญหลายครั้ง และยังรวมถึงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ วิกฤติภูมิอากาศก็รุนแรงมากขึ้น ดังนั้นทำให้มีการเปลี่ยนจากการที่ใช้คำว่า สภาวะภูมิอากาศ ไปเป็นคำว่า วิกฤติภูมิอากาศ แทน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงและความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา

อ้างอิงข้อมูลจาก FB : The Momentum, www.theguardian.com, www.admissionpremium.com

บทความที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง